บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA เผยผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกจำนวน 2,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นผลจากผลิตภัณฑ์ในช่องทางธนาคารที่ได้รับผลตอบรับที่ดีทำให้บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวน 10,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาส 3 ปีของก่อนหน้า
นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในไตรมาส 3 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 942 ล้านบาท ทางด้านความมั่นคงของฐานะทางการเงิน บริษัทมีระดับความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio – CAR ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ระดับร้อยละ363 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 364
ทั้งนี้ บริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 จำนวน 344,517 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่ร้อยละ 0.8 จากการลดลงของมูลค่าตลาดของสินทรัพย์ลงทุน โดยสินทรัพย์ลงทุนมีสัดส่วนสูงที่สุดคือร้อยละ 94
"ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 บริษัทเริ่มแคมเปญสื่อสารโฆษณา “ประกันสุขภาพที่ใส่ใจคุณ” เพื่อสร้างการรับรู้ถึงการให้บริการที่เป็นเลิศสำหรับผู้เอาประกันทุกคน ด้วยความใส่ใจทุ่มเทของบุคคลากรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นทำประกัน จนสิ้นสุดกระบวนการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยต่างๆ ในช่องทางธนาคาร บริษัททำการตลาดผ่านแบบประกันสะสมทรัพย์ เกนเฟิสต์ ซิมเพิล (Gain1st Simple) และ เกนเฟิสต์ เกนเฟิสต์ 424 (มีเงินปันผล) และในส่วนของช่องตัวแทน บริษัทผลักดันการสร้างและพัฒนาตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน ผ่านโครงการรับรองรายได้ผู้บริหารตัวแทนมืออาชีพ (Smart Leader) เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพทีมงานขายอย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินพัฒนาช่องทางการขายผ่านพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง"
บริษัทยังคงดำเนินการตามทิศทางการดำเนินธุรกิจที่กำหนดไว้ใน 3 ปี คือ ปี 2565-2567 ในการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่าน 5 มิติหลัก ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ ที่เน้นการให้บริการด้านสุขภาพที่เป็นเลิศ มิติด้านความมั่งคั่ง ที่เน้นตอบความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะแบบประกันประเภทสะสมทรัพย์และประกันควบการลงทุน มิติด้านดิจิทัลที่รองรับการก้าวสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต ด้านช่องทางการขาย ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของช่องทางและเน้นการขยายช่องทางเพื่อให้ครอบคลุมโอกาสทางการตลาดและมิติด้านความรับผิดต่อสังคมสิ่งแวดล้อม