Insurance

คปภ. คาดธุรกิจประกันภัยปี 2566 เบี้ยประกันภัยรับ 8.9 แสนล้านบาท
6 พ.ย 2565

คปภ. คาดธุรกิจประกันภัยปี 2566 เบี้ยแตะ 8.9 แสนล้านบาท พุ่งเกือบ 2%  แย้มทิศทางเบี้ยกรมธรรม์ประกันรถยนต์ EV มีแนวโน้มเติบโตสูง


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) แถลงข่าวถึงทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 โดยคาดว่าปี2565​ จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 886,211 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ +0.10% ถึง +2.10% แบ่งเป็น

เบี้ยประกันชีวิตอยู่ประมาณ 614,917 ล้านบาท 1.18% สอดคล้องทางสมาคมประกันชีวิตไทยที่เคยประมาณการณ์ไว้สูงกว่าทางสำนักงาน คปภ.เล็กน้อย 

ส่วนเบี้ยประกันวินาศภัยอยู่ประมาณ 271,293 ล้านบาท เติบโตไม่เกิน 4.25% ซึ่งมีตัวเลขต่ำกว่าทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่เคยประกาศไว้อยู่ที่ประมาณ 4.50%


สำหรับประมาณการเบี้ยประกันภัยเต็มปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 894,600 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตประมาณ -0.05% ถึง +1.95%


โดยผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมของประกันชีวิต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แบบสะสมทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เป็นแบบสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ส่วนประกันวินาศภัยที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งยังคงรักษาแชมป์ประกันภัยที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาลส่งผลให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ซึ่งจะทำให้ประกันภัยการเดินทางเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย


นายสุทธิพล กล่าวด้วยว่า ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าจะมีบทบาทที่สำคัญเข้ามาวงการยานยนต์ของประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 20,000 คัน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาของรถยนต์ไฟฟ้าหลักๆ จะเป็นแบตเตอร์รี่ที่มีราคาแพง ทำให้บริษัทประกันภัยขายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าเบี้ยรถยนต์ทั่วไป ซึ่งทางสำนักงาน คปภ.ได้พยายามแก้ปัญหาให้เบี้ยที่มีราคาถูกลง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าของประชาชนให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล


สำหรับทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในปี 2566 สำนักงาน คปภ. จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน คือ การเสริมเกราะป้องกัน หรือ Resilience ให้กับภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน 9 มาตรการหลัก ดังนี้

มาตรการที่ 1 เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจประกันภัยให้มีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

มาตรการที่ 2  ปรับปรุงกฎกติกาหรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เน้นให้เป็น Principle-based มากขึ้น เพิ่มเติมมาตรการและแนวทางให้บริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว

มาตรการที่ 3 ยกระดับกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการถอดบทเรียนจากประกันโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ

มาตรการที่ 4 กระตุ้นให้ธุรกิจประกันภัยมีการประยุกต์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

มาตรการที่ 5 ผลักดันให้ประกันภัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

มาตรการที่ 6 ขับเคลื่อนการปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย

มาตรการที่ 7 ส่งเสริมงานวิจัยด้านการประกันภัย เผยแพร่องค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประกันภัยในยุค New Normal

มาตรการที่ 8  การบูรณาการความร่วมมือด้านการสื่อสาร เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

มาตรการที่ 9  การพัฒนาสำนักงาน คปภ. เพื่อมุ่งสู่การเป็น SMART OIC 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com