วิริยะประกันภัย ลั่นกลองรบปี 65 ยืนหยัดแชมป์ ลุยปั๊มเบี้ยรวมโต 5% ชูกลยุทธ์ “Data-Driven Innovation" ดูแลลูกค้าทุกความเสี่ยงภัย ปักธงเบี้ยรถโต 6% ตามด้วยเบี้ยนอนมอเตอร์โต 3% หลังเลิกขายประกันโควิด จับตาปีนี้คลอดแบบประกันภัยเพียบ จ่อออกประกันรถยนต์เจาะรายภูมิภาค เสิร์ปประกันสุขภาพลงลึกคุ้มครองเฉพาะตัว พร้อมโชว์ ปี 64 เบี้ยรวม 38,800 ล้านบาท โต 1.56% ลั่นเงินกองทุนแกร่ง 41,400 ล้านบาท มั่นใจเพียงรอจ่ายเคลมประกันโควิดทุกฉบับ
นายอมร ทองธิว กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบต่างเจอโจทย์ที่ยากที่สุด “โรคโควิด-19” ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งบริษัทก็สามารถบริหารจัดการปัญหาการเคลมสินไหมโควิดเจอจ่ายจบ และก้าวผ่านโจทย์ที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างมั่นคง และได้รับความไว้วางใจจากผู้เอาประกันภัย ส่งผลให้ผลดำเนินงานปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้นประมาณ 38,800 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 1.56% แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) 33,400 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) 5,400 ล้านบาท และยังคงมีกำไรสุทธิประมาณ 500 ล้านบาท
ปักธงเป้าปี 65 เบี้ยรวมโต 5%
ทิศทางการดำเนินงานในปี 2565 นายอมร กล่าวมั่นใจว่า ปีนี้ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่วิริยะประกันภัยได้มีการประเมินความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และจากประมาณการในสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ วิริยะประกันภัยก็มีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินกองทุน เพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทุกฉบับ ที่บริษัทฯ ได้ให้ความคุ้มครองไว้ โดยสิ้นปี 2564 วิริยะประกันภัยมีสินทรัพย์รวม 77,500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 600.51% มีเงินกองทุนประมาณ 41,400 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย อยู่ในระดับสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงานคปภ. กำหนดไว้ถึง 170%
สำหรับการเติบโตของผลดำเนินงานในปีนี้ บริษัทฯได้ประเมินเบี้ยรวม ปีนี้เติบโตกว่า 5% มาจากธุรกิจ Non Motor โต 3% อยู่ที่ราว 5,562 ล้านบาท อาจจะโตไม่สูงมาก เพราะเบี้ยประกันโควิดจะหายไป ส่วนธุรกิจ motor คาดโตได้ 6% ภายใต้แผนดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “Data-Driven Innovation : เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย” ซึ่งเป็นการนำข้อมูลของลูกค้า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากเหตุการณ์วิกฤตโควิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะหดตัว กำลังซื้ดลดลง บริษัทจึงมีแผนเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆออกมาให้ตอบสนองผู้เอาประกันภัยให้ทันต่อสถานการณ์
“วิริยะประกันภัย เป็นบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ เป็นอันดับ 1 ของตลาด ก่อตั้งมากว่า 75 ปี มีลูกค้าประมาณ 8 ล้านกรมธรรม์ เราจึงสามารถนำข้อมูลมากมายที่เก็บสะสมมาตลอด เพื่อคำนวณและประมาณการหาความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัยกลุ่มต่าง ๆ ได้เสมอ ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม พร้อมให้ความคุ้มครองด้วยความเป็นธรรมตลอดอายุกรมธรรม์ แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของเราครอบคลุมความคุ้มครองทั้งชีวอนามัยของคน ทรัพย์สิน และความรับผิด รวมถึงผู้บริโภคสามารถนำมาใช้บริหารความเสี่ยงมากกว่า 60 ผลิตภัณฑ์ จนกล่าวได้ว่า วิริยะประกันภัยเคียงข้างคุณได้ทุกความเสี่ยงภัย” นายอมรกล่าว
คลอดประกันรถแบบใหม่ๆให้เลือกจุใจ
โดยด้านประกันภัยรถยนต์ บริษัทฯ ได้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลากหลายผลิตภัณฑ์ด้วยกัน อาทิ ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 (2+, 3+) ระยะสั้น ซึ่งสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองแบบไม่เต็มปีได้, ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 รวมความคุ้มครองความเสียหายต่อรถ กรณีรถชนรถฝ่ายถูก สำหรับผู้ที่ต้องการทำประกันภัย ป.3 เป็นหลัก แต่ไม่ต้องการมีปัญหาในการจัดซ่อมรถ และติดตามเรียกร้องจากคู่กรณีหากถูกชน โดยบริษัทฯ จะเป็นคนดูแลการจัดซ่อมรถให้ลูกค้า และสวมสิทธิ์ไปเรียกร้องจากคู่กรณีเอง
รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 (2+) ซ่อมห้าง เพื่อตอบสนองลูกค้าในช่วงโควิด ที่ยังเป็นรถใหม่ อายุไม่เกิน 5 ปี แต่ต้องการประหยัดค่าเบี้ยประกันจากประกันภัยประเภท 1 ทำประกันแบบ 2+ แทน และผลิตภัณฑ์เพื่อสนองรับความต้องการผู้คนในแต่ละภูมิภาคได้เป็นการเฉพาะ แตกต่างทั้งเงื่อนไขความคุ้มครอง และเบี้ยประกันภัย นอกจากนี้ภายในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ประกันรถยนต์ ซึ่งคิดราคาเบี้ยตามพฤติกรรมการขับขี่หรือตามลักษณะการใช้รถ เพิ่มมาอีก 1-2 ผลิตภัณฑ์
ส่วนทางด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพนั้น ในปี 2565 นี้ บริษัทฯ จะออกผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการรายบุคคลหรือ Personalization ผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองเฉพาะตัวและตรงข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล
ผุดศูนย์เคลมพรึ่บ-ลุยตลาดประกันรถ EV - ปั้นตัวแทนและนายหน้าแกร่ง
นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. วิริยะประกันภัย เปิดเผยถึงการให้บริการสินไหมทดแทนว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายศูนย์บริการสินไหมทดแทนจำนวนมากทั้งในศูนย์การค้า ปั๊มน้ำมัน อาคารพาณิชย์ตามย่านชุมชน และย่านการจราจรหนาแน่นที่มักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ตลอดไปถึงการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้อย่างเช่น การบริการเคลมออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือของลูกค้าเพียงเครื่องเดียว ด้วยระบบ VDO CALL ( VClaim on VCall) อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่สุดของบริการสินไหม คือ พนักงานสำรวจอุบัติเหตุ หรือพนักงานเคลม ซึ่งให้บริการณ จุดเกิดเหตุบนท้องถนน โดยมีการพัฒนาพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ การฝึกฝนอบรมหลักสูตร ทั้งหลักสูตร พ.ร.บ.จราจร ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ วิริยะประกันภัย เดินหน้ารับประกันภัยที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันวิริยะประกันภัยรับประกันรถยนต์ EV มาร่วม 4 ปี แล้ว ทำให้ปัจจุบันวิริยะประกันภัยรับประกันไว้ประมาณ 700 คัน คิดเป็นสัดส่วน 13% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง มีจำนวน 5,400 คัน (ข้อมูลรถยนต์ EV จดทะเบียนเดือน ก.พ. 65 ) ดังนั้น จากแนวโน้มความนิยมรถ EV ของผู้ใช้คนไทยเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้บริษัทร่วมมือกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายชั้นนำ ในการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ EV อย่างครบวงจร ด้วยการวางแผนจัดโครงสร้างเบี้ยประกัน จัดระบบสินไหมการซ่อม การจัดบริการอะไหล่ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามั่นใจในการขับขี่
สำหรับแนวทางการพัฒนาช่องทางการขายของวิริยะประกันภัยนั้น นายดลเดช สัจจวีระกุล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. วิริยะประกันภัย กล่าวว่าตัวแทนและนายหน้าประกันภัยที่มีอยู่ประมาณเกือบ 10,000 คน ยังเป็นช่องทางขายที่สำคัญของบริษัทฯ เพราะเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาทั้งหมดกว่า 50% ปัจจุบันบริษัทฯ ได้สร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุบการทำงานและเชื่อมการทำงานร่วมกับตัวแทนและนายหน้าอย่างมากมาย โดยเฉพาะการนำสื่อสังคมออนไลน์ผ่านทาง Facebook , Line เป็นต้น เข้ามาใช้สนับสนุนงานขาย การประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ลูกค้า และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีช่องทางการขายทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์อื่น ๆ
กลยุทธ Non-Motor ปั๊มเบี้ยประกันสุขภาพคนและรถ
ส่วนด้านการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ Non-Motor นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. วิริยะประกันภัย เปิดเผยว่า ถึงแม้บริษัทจะเจอภาวะวิกฤตโควิดที่หนักหน่วงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ผลดำเนินงานของ Non- Motor ในปี 2564 ยังคงเติบโตได้ถึง 12.17% ด้วยเบี้ยประกันภัย 5,400 ล้านบาท และบริษัทฯยังคงสามารถขยายอัตราส่วนประกันภัย Non-Motor เพิ่มเป็น 13.98% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
"เฉพาะประกันภัยสุขภาพในปี 2564 เราได้เติบโตขึ้น 102% ในส่วนของเบี้ยประกันภัย 851 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ Market Share เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.7% ซึ่งเติบโตจากปี 2563 ที่มี 3.3% ส่วนปีนี้ เป้าหมายหลักของ Non-Motor ก็จะยังคงเพิ่มสัดส่วนประกันภัย Non-Motor เพื่อให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยมุ่งเน้น พัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงรายบุคคล รวมถึงทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากการดูแลทางด้านผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและการบริการลูกค้าด้านต่าง ๆ แล้ว บริษัทฯ ยังได้ขยายการดูแลต่อไปยังสุขภาพของรถยนต์ด้วย โดยเมื่อต้นปีนี้ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ประกันภัยการขยายเวลารับประกันสำหรับอะไหล่รถยนต์" นางฐวิกาญจน์ กล่าว
ทั้งนี้ ประกันภัยการขยายเวลารับประกันสำหรับอะไหล่รถยนต์ หรือ Extended Warranty แผนประกันนี้ออกแบบให้คุ้มครองต่อเนื่องได้ทันทีเมื่อระยะการรับประกันจากผู้ผลิตสิ้นสุดลง ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุด 14 กลุ่มอะไหล่หลักและชิ้นส่วน
ส่วนทางด้านการพัฒนาบริการ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Core System เพื่อรองรับการเติบโตของประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาระบบ CRM และ การใช้ Data-Driven เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงไปถึงมีการเปิดตัวแคมเปญ Get Healthy เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าได้ให้ความสำคัญของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นปี ลูกค้าได้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และยังมีโครงการ Healthy Life ได้วางแผนต่อยอดในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพหรือประเด็นโรคที่น่าสนใจในหัวข้อต่าง ๆ ผ่าน Doctor’s Talk ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมะเร็ง PM 2.5 โอไมครอน และอีกหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจที่จะตามมา เช่น ออฟฟิศซินโครม Long Covid หรือ Mental Health Issues ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้