รมว.คลัง เล็งเพิ่มเงินสมทบ กอช. หนุนคนสูงวัยหลัง 60 ปี มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ ลุ้นชงครม. ทันปลายปี 65 นี้ พร้อมให้โจทย์การบ้าน 4 ข้อ คปภ.และผู้บริหารประกัน ยกระดับประกันตอบโจทย์ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะประกันสุขภาพด้วยเบี้ยให้คนเข้าถึงมากขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันด้านสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน ชี้ตลาดประกันมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ด้าน คปภ. ศึกษาการทำประกันสุขภาพ Top Up ในต่างประเทศ หวังต่อยอดให้คนไทยเข้าถึงในเบี้ยที่ถูกลง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายขับเคลื่อนระบบประกันสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ และความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย" ในงานพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ ๒ ว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะดูแลประชาชนทุกกลุ่มเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพหลังอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้ว เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติอยู่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอหลังจากที่เกษียณอายุ ซึ่งสมาชิกใน กอช. เป็นกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นการอมแบบสมัครใจ โดยแนวทางที่กำลังพิจารณาจะเป็นการเพิ่มเงินสมทบจากภาครัฐให้แก่สมาชิก กอช. เนื่องจากปัจจุบัน เงินสมทบจากภาครัฐยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การสมทบเงินเพิ่มเติมยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วน่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันได้ภายในปี 2565 นี้
"กอช. เป็นแบบสมัครใจ สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ จนอายุถึง 60 ปีจะได้รับเงินเป็นรายเดือน ซึ่งเรากำลังพิจารณาเพิ่มเงินสมทบหรือไม่ เป็นแนวคิดที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีแล้วเพื่อรองรับสังคมสูงวัย แต่จะเพิ่มยังไงเพื่อให้คนเหล่านี้หลังเกษียณได้บำนาญอย่างเหมาะสม สามารถมีเงินตรงนี้เลี้ยงดูแลตัวเองได้หลังเกษียณ 60 ปีขึ้นไป มาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน” รมว.คลังกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สมาชิกกอช. ส่งเงินออมสะสมตั้งแต่ 50 -13,200 บาทต่อปี รัฐจะเติมเงินสมทบเพิ่มให้ตามช่วงอายุของสมาชิก ดังนี้
– ช่วงอายุ 15 – 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท (คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 4%)
– ช่วงอายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท (คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 7%)
– ช่วงอายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,200 บาท (คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 9%) โดยเงินสมทบจากรัฐบาลคิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนโดยประมาณ
นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมการให้โจทย์การบ้านแก่ คปภ.และผู้บริหารบริษัทประกัน ว่า เรื่องแรก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากโรคระบาด ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงภัยมากขึ้น แม้ว่าระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง แต่ภาครัฐยังต้องดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่นด้านความพร้อมทางด้านการแพทย์ให้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยและวัคซีน ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงด้านสาธารณสุขในอนาคต
ในด้านของธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะธุรกิจประกันสุขภาพ ถือเป็นโอกาสในการเติบโต ในอนาคตอาจมีโรคระบาดมากขึ้น ก็ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และได้รับการคุ้มครองจากการจ่ายค่าเบี้ยให้มากที่สุด เพื่อใช้บริหารความเสี่ยงของประชาชนผู้เอาประกันภัย ย นอกจากนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยตระหนักถึงด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่ผู้ออกผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องมีความรอบคอบระมัดระวังการออกผลิตภัณฑ์ด้ว ซึ่งระบบประกันภัยถือว่ามีความสำคัญในการเป็นแหล่งเงินออมและเงินลงทุน
เรื่องที่ 2 การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มีผลต่อทรัพย์สินของประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานภาคเอกชน ที่นับวันยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนนี้ถือเป็นโอกาสของธุรกิจประกันที่จะขยายตัว โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันด้านสิ่งแวดล้อม ปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวลด้อมถูกทำลายได้ จึงฝากการบ้านนี้กับภาคธุรกิจนี้ด้วย
เรื่องที่ 3 ดิจิทัล การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจประกันภัยเป็นเรื่องที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจ หากธุรกิจประกันภัยดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดี ขณะนี้ธุรกิจประกันก็มีการพัฒนาการซื้อขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านแอปพลิเคชั่นบ้างแล้ว
เรื่องที่ 4 การประกันภัยในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยทั่วไปผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานก่อสร้างของโครงการนั้นๆ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงนั้นทางผู้รับเหมาจะต้องดูแล ก็จะมีการทำประกันความเสียหายไว้ แต่หลังจากผู้รับเหมาฯส่งมอบงานโครงการให้รัฐบาลแล้ว ก็จะเป็นภาระงบประมาณในการดูแล ซึ่งโอกาสและความเสียหายเกิดขึ้นแต่ก็ยังค่อนข้างน้อย ซึ่งหากรัฐบาลจะต้องทำประกันภัยสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของโครงการนั้น ก็เป็นภาระงบประมาณเช่นกัน ซึ่งก็เป็นต้นทุนเหมือนกัน ดังนั้น หากจะมีการทำประกันภันโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ผู้ประกอบการก็ต้องวิเคราะห์ให้ดี ขณะที่โครงการที่เป็นการ่วมลงุทนรัฐกับเอกชน ปกติจะมีการประกันภัยอยู่แล้ว
รมว.คลัง กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากการขับเคลื่อนสำคัญของภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ มูลค่าส่งออกขยายตัว 11% จากปี 2564 ที่ขยายตัวได้ 20% ส่วนหนึ่งได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และยังมีภาคท่องเที่ยวที่ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านคนต่อเดือน จึงคาดว่าในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 8-10 ล้านคน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของภาคการท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เนื่องจากหากปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยถึง 10 ล้านคน เท่ากับ 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีก่อนโควิดที่มีจำนวนสูง 40 ล้านคนได้ sinv 25% โดยเชื่อว่าภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณที่ดีจนถึงปี 66 จึงเป็นอีกความหวังของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
"สิ่งที่เรายังต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ คือ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทไม่ได้เป็นประโยชน์กับราคาน้ำมัน รัฐบาลได้พยายามดูแลและช่วยเหลือภาระค่าครองชีพของประชาชน และพยายามตรึงระดับราคาน้ำมันไว้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเพิ่มมากเกินไป” นายอาคม กล่าว
นายสุทฺธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงาน คปภ. กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้รับการบ้านจากท่านรมว.คลัง ซึ่งจะนำไปดำเนินการต่อไป สำหรับการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากสวัสดิการที่ภาครัฐมีให้นั้น ทางคปภ. ได้ดูแนวทางจากต่างประเทศจะมีลักษณะการทำประกันเพิ่มเติมหรือที่เรียกกันว่า Top Up เพิ่มจากส่วนของภาครัฐที่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษา ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้ใช้สิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐจะแยกคนละส่วนกับประกันสุขภาพของผู้เอาประกันที่ซื้อไว้เอง สิ่งที่คปภ.จะต้องพิจารณา คือ การซื้อ Top Up ดังกล่าว จะทำให้ค่าเบี้ยถูกลงได้หรือไม่ และตอบโจทย์ให้ประชาชนเข้าถึงประกันสุขภาพเพื่อการรักษาที่ดีขึ้นอย่างไร
"การจะทำให้เบี้ยถูกลง ก็ยังมีเรื่องต้นทุนของประกันสุขภาพที่ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ค่ายาแพง ปัญหาการฉ้อฉล ฯลฯ ทำอย่างไรที่จะให้ฐานข้อมูลที่ดี ที่ทำให้บริษัทประกันภัยสบายใจได้ การนำเทคโนโลบีมาวิเคราะห์พวกต้นทุนต่างๆได้เพื่อคำณวณออกมา และทำให้ประชาชนพอใจ จายน้อย ถ้าใครอยากได้เพิ่มจากสิทธิพื้นฐานที่ได้รับ ก็สามารถซื้อ Top Up ได้ ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างเรา กระทรวงสาธารณสุข บริษัทประกัน" นายสุทธิพลกล่าว