Insurance

ภาคธุรกิจประกันชีวิต ไตรมาส 1/651 เบี้ยรวม 1.5 แสนล้าน ลดลง 1.8% ผลจากเบี้ยรับใหม่ร่วง คาดปี 65 โต 0-2.5%
17 พ.ค. 2565

เปิดภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในไตรมาสแรก เบี้ยรับรวม 1.5 แสนล้าน ลดลง 1.8% เป็นผลจากเบี้ยรับรายใหม่ตกวูบ 6% ช่องทางขายหลักยังเป็นตัวแทนฯแรงดีไม่มีตก ทำยอดโตกว่า 5% ส่วนช่องทางผ่านแบงก์หด 9% ส่วนแบบประกันติดตลาด 3 อันดับ "สุขภาพ-บำนาญ-ประกันชีวิตควบลงทุน"  คาดแนวโน้มปี 65 เบี้ยรับรวมโต 0-2.5% เศรษฐกิจไทยฟื้น ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน 

 

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า  ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในไตรมาสแรกปี 2565 ระหว่าง มกราคม – มีนาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 150,427.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ปี 2564 จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 40,958.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.1 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 109,469.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.02 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82 สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วยเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 26,325.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และเบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 14,632.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.5

 

 

หากจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย 3 อันดับแรก พบว่า   การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 73,558.6 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.9

ส่วนการขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance)  มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 61,346.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.8  และ. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,172.0 ล้านบาท โตร้อยละ 0.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.4

 

เมื่อพิจารณาแยกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 พบว่า เบี้ยรับรวมของสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง 27,181.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.1 ซึ่งหลักๆ มาจากการที่ประชาชนเริ่มตระหนักถึงการดูแลและวางแผนเตรียมความพร้อมสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี 

 

ในขณะที่เบี้ยรับรวมของประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) อยู่ที่ 2,066.1 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 7.8 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 โดยมาจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยและคนไทยมีอายุขัยมากขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต รวมถึงจากการที่ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษี ประชาชนจึงได้เริ่มมองหาตัวช่วยเพื่อเตรียมพร้อมทางด้านการเงินเมื่อเข้าวัยเกษียณ


ส่วนผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit- Linked +Universal Life) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 11,210.2 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.5 ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งหมด 

 

สำหรับปี 2565 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,000 – 629,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0 ถึง 2.5 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประมาณร้อยละ 82 ถึง 83 เนื่องจากจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปี 2564 พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP (Insurance Penetration Rate) ยังอยู่ในระดับน้อยหรืออยู่ที่ 3.8% แสดงถึงธุรกิจประกันชีวิตยังมีโอกาสที่ยังสามารถเติบโตได้ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 

 

 

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2564 ระหว่าง มกราคม - ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 614,115.5 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปี 2563 จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 170,718.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 443,396.9 ล้านบาท มีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82

 

 

นายสาระกล่าวว่า นอกจากนี้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวมถึงประกันบำนาญ ที่เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินซึ่งเป็นทั้งการออมและมีความคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพ ในขณะที่คปภ. ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) เพื่อพัฒนากระบวนการเสนอขายและบริการ รวมถึงพัฒนากระบวนการขายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับความท้าทายและปัจจัยความเสี่ยงที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะที่การฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในระดับที่ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะยังไม่ส่งผลในเชิงบวกต่อธุรกิจในทันที 

 

รวมถึงมาจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนของภาวะสงครามระหว่างประเทศ สงครามการค้า การเกิดใหม่ของสงครามเทคโนโลยี (Cyber War) และสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ภาคธุรกิจต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน อาทิ พฤติกรรมการใช้จ่ายและไลฟ์สไตล์ความต้องการของลูกค้า สถานการณ์เศรษฐกิจ และทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที เป็นต้น นอกจากนี้แต่ละบริษัทประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับกฎหมายใหม่ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ศ. 2562 ที่จะเริ่มบังคับใช้ในเดือน มิ.ย. 2565 และ มาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS17 (สัญญาประกันภัย) ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2567 เป็นต้น

 

 

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com