Insurance

วิริยะประกันภัย ปี 65 สะดุดเคลมโควิด ฉุดขาดทุน 9 พันลบ. ลั่นปี 66 เดินหน้าพลิกทำกำไรแตะ 2 พันล้านบาท
14 มี.ค. 2566

 

วิริยะประกันภัย เผยปี 65 ยอดเบี้ยรวมโตกว่า 5.8% สูงกว่าอุตสาหกรรม ทำใจเจอเคลมโควิดสูง  2 หมื่นลบ. ลากขาดทุนสุทธิ 9 พัน ลบ. สถานะทางการเงินยังคงเข้มแข็งพร้อมเปิดแผนงานปี 66 วางกลยุทธ์ลุย ชูดิจิทัลนำทัพบริการลูกค้า เพิ่มจุดตรวจสอบอุบัติเหตุดูแลลูกค้าได้รวดเร็ว ตั้งเป้ายอดเบี้ยเติบโต 6% ลั่นยืนหนึ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าลูกค้าทะลัก

 

“ปีแห่งนวัตกรรมบริการ : ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” เผยการมุ่งมั่นพัฒนางานบริการที่กระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2564 ซึ่งเติบโตอยู่เพียง 1.6% แต่ปีที่ผ่านมากลับเติบโตถึง 5.78% สูงกว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ซึ่งประเมินกันว่าจะเติบโตที่ 3.5-4.5% โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 40,991 ล้านบาท ขณะที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าลูกค้าทะลักขึ้นแท่นเบอร์ 1 เหมือนเดิม ส่วนเป้าหมายปี 66 ตั้งเป้าเติบโต 6% ด้านสถานะทางการเงินยังคงเข้มแข็ง แต่สินทรัพย์ยังคงที่ในระดับเกือบ70,000 ล้านบาท ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนยังคงเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 154.97%

 

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมเลือกใช้ระบบประกันภัยเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง จึงกลายเป็นปัจจัยบวกทำให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งประเมินกันว่าจะเติบโตอยู่ที่ 3.5-4.5% ในส่วนผลดำเนินงานของวิริยะฯ  ปี 2565 มีอัตราเติบโตที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 40,991 ล้านบาท เติบโต 5.78% แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35,847 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์หรือนอนมอเตอร์ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น5,144 ล้านบาท  และสถานะการเงินวิริยะประกันภัยยังคงมีความมั่นคงเหมือนเดิม โดยมีสินทรัพย์อยู่ที่ 69,946.94 ล้านบาท ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมายยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 154.97%

 

“สำหรับปีที่แล้ว เราขาดทุนสุทธิ 9 พันล้านบาท หลักๆมาจากประกันโควิดเจอจ่ายจบ ที่มียอดเคลมรวม 2 หมื่นล้านบาท หากไม่นับรวมประกันโควิด วิริยะจะมีกำไร 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองประกันโควิดจบหมดแล้ว  ในปีนี้ วิริยะจะกลับมามีกำไรอีกครั้ง คาดว่าจะเห็นราวๆ 2 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ประมาณ43,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 6% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณ 37,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 5% เบี้ยประกันภัยนอนมอเตอร์ประมาณ 5,700 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 11% ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ยอดเบี้ยรวมเติบโต 5% กว่า ใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปี และวิริยะยังคงครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 มากว่า 3 ทศวรรษ หรือนับตั้งแต่ปี 2535 นอกจากนี้ เรายังคงครองแชมป์ตลาดประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV  ซึ่งมีรถอีวีที่ทำประกันความคุ้มครองกว่า 5,286 คัน ยอดความคุ้มครองอยู่ระดับตาำหลักร้อยล้าน“ นายอมรกล่าว

 

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2566 นายอมรกล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้จะเป็นปีแห่งนวัตกรรมบริการ “ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” จึงมุ่งต่อยอดพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมบริการ โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ 

 

เป้าหมายแรก ด้านช่องทางการขาย ด้วยการยกระดับให้สำนักงานมาตรฐานตัวแทนเป็นสำนักงานดิจิตอล สามารถออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้ด้วยตัวของสำนักงานเอง ทั้งกรมธรรม์ตัวจริงหรือกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งตรงถึงมือถือลูกค้าทันทีที่ได้มีการตกลงทำสัญญาประกันภัย ซึ่งลูกค้ายังมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองแน่นอน และทันทีที่ได้ตกลงทำสัญญาประกันภัย และจะพัฒนาช่องทางเว็บไซด์รองรับการขายประกันสุขภาพ

 

เป้าหมายที่สอง ด้านการบริการสินไหมทดแทน นอกจากระบบเคลมออนไลน์ “VClaim on VCall” ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ขยายบริการไปทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้วิริยะประกันภัยยังคงขยายพื้นที่ให้บริการที่เรียกกันว่า “จุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุ” ออกไปทั่วไทย ด้วยการใช้ข้อมูลจากปริมาณการเคลมที่เกิดขึ้นจำนวนมากปีละ 1  ล้านเคลมในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นตัววิเคราะห์เพื่อหาจุดสมดุลบริการ และดูแลลูกค้าได้รวดเร็วนอกจากนี้ยังได้จัดหา AI มาทำหน้าที่ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ควบคู่กับพนักงานสินไหมทดแทนที่มากประสบการณ์ เพื่อที่จะได้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

 

เป้าหมายที่สาม  ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์  ปีนี้เตรียมออกสินค้าใหม่ เช่น ประกันสุขภาพ, ประกันชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์, ประกันรถยนต์ขับดีมีคืน, ประกันรถอีวี เป็นต้น  ปัจจุบันวิริยะฯมีสินค้ากว่า 60 รายการให้เลือก  ส่วนการพัฒนาสินค้าจะใช้ฐานข้อมูลลูกค้าที่มากกว่า 8 ล้านกรมธรรม์ จึงทำให้การทำงานวิจัยเพื่อค้นหาความต้องการของผู้บริโภคสามารถทำได้ลึก และในปีนี้จะลงลึกถึงความต้องการของผู้คนในแต่ละภูมิภาคเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยรถยนต์หรือประกันภัยสุขภาพที่ลงลึกถึงการตลาดแบบ Personalization ผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองเฉพาะตัวและตรงข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล

 

ส่วนทางด้านการรับประกันภัยรถไฟฟ้า นายอมรกล่าวว่า วิริยะประกันภัยได้เตรียมความพร้อมมากว่า 4 ปีแล้ว โดยได้ศึกษามาตั้งแต่วิวัฒนาการจากรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด จนมาสู่ระบบไฟฟ้าเต็มตัว ซี่งเป็นการพัฒนาร่วมกันกับผู้ประกอบการ ตลอดไปถึงสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านนี้ อีกทั้งความรู้ที่ได้รับและผลพันธ์ที่ได้พัฒนาร่วมกันดังกล่าว ได้ส่งต่อไปเป็นองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านสินไหมทดแทนและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ซ่อมมาตรฐาน วิริยะประกันภัย ซึ่งในปีนี้จะขยายองค์ความรู้ไปยังกลุ่มตัวแทนนายหน้าในสังกัดอีกด้วย โดยในปัจจุบันวิริยะประกันภัยได้ให้ความคุ้มครองรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 5,286 คัน และยังคงเป็นบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน

 

“ต้องยอมรับว่าเราเริ่มก้าวสู่โลกแห่งความไม่แน่นอนเต็มตัว และจะทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยมากขึ้น และต้องหมายรวมไปถึงความต้องการด้านบริการที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี จึงถือเป็นหน้าที่และความท้าทายของวิริยะประกันภัยที่ต้องพร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองซับซ้อนขึ้น ตลอดไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด เกิดประสบการณ์ที่ดีในทุก Touch Point และเกิดความเชื่อมั่นในคำนิยามที่ว่า “ทุกความเสี่ยงภัย เราพร้อมเคียงข้างคุณ” นายอมรกล่าว

 

ส่วนแผนงานด้านการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ Non-Motor นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้จะเป็นปีที่มุ่งเน้นการปรับปรุงระบบงานพื้นฐานต่าง ๆให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทั้งการพัฒนาระบบ Core System ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริการประกันภัยรองรับการเติบโตของบริษัทฯ การปรับปรุง Website เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำการตลาดแบบ Personalization Marketing เพื่อมอบประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลมากขึ้น การพัฒนาระบบ CRM เพื่อรองรับการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งโครงการต่าง ๆ นี้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาในปี2566 โดยจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในช่วงต้นปี 2567 ส่วนการพัฒนาระบบ CRM  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนกลยุทธ์ที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยภายในไตรมาสที่สองของปีนี้ ระบบ CRM ในส่วนของการให้บริการ Call Center และการให้บริการต่ออายุประกันสุขภาพและอุบัติเหตุจะแล้วเสร็จทั้งนี้มองว่า CRM นี้เป็นระบบที่ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าและเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการขยายผลเพื่อพัฒนาเพิ่มฟีเจอร์ในลำดับต่อไป

 

“สำหรับเป้าหมายปี 2566 วิริยะประกันภัยมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ด้วยการวางแผนขยายอัตราส่วนประกันภัย Non-Motor เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 10.65% ประมาณการเบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ 5,694 ล้านบาท โดยยังคงมุ่งเน้นที่จะขยายงานผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่วนบุคคล หรือ Personal Line เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันภัยอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยอะไหล่รถยนต์ รวมถึงประกันภัยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย”นางฐวิกาญจน์ กล่าว

 

ในขณะเดียวกันบริษัทเองยังมุ่งเน้นในการขยายงานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มลูกค้า SME เพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์ธุรกิจปลอดภัย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจ SME’s ที่จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง หากธุรกิจเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ประกันภัยธุรกิจปลอดภัยนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะทำให้ธุรกิจของลูกค้ายังคงดำเนินไปได้อย่างมั่นคง

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com