สอบสวนกลาง โดย ปอศ. ร่วม คปภ. จับกุมเครือข่ายโกงประกันโควิด ผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องหาจำนวน ๑๑ ราย ถูกจับกุมฐานความผิด "ปลอมเอกสาร" และอีก 3 ราย ฐานความผิด"ทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน"
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ, พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์, พ.ต.อ.พัฒนา ฉายาวัฒน์ รอง ผบก.ปอศ.และ ว่าที่ พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.๔< บก.ปอศ., พ.ต.ท.อุดมศักดิ์ สุวรรณแสง, พ.ต.ท.ภาณุพงษ์กะระกล, พ.ต.ท.วีระศักดิ์ ติระพัฒน์, พ.ต.ท.ปุณณวิช อรรคนันท์ รอง ผกก.๔ บก.ปอศ.
พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นำโดยนายสุทธิพล วีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และคณะเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท.สาธิต หาวงษ์ชัย, พ.ต.ต.รุตินันท์ สัตยาชัย, พ.ต.ต.ชณิตพงศ์ ศิริเวช, พ.ต.ต.หญิง สุจิตรา ทองสกุล สว.กก.๔ บก.ปอศ. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๔ บก.ปอศ.ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหาจำนวนรวม ๑๔ ราย
- ผู้ต้องหาจำนวน ๑๑ ราย ถูกจับกุมในฐานความผิด "ปลอมและใช้เอกสารปลอม, เรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง"ตามพ.ร.บ.ประกันวินาศภัยพ.ศ.๒๕๓๕ และ ประมวลกฎหมายอาญา
- ผู้ต้องหาจำนวน ๓ ราย ถูกจับกุมในฐานความผิด "โดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่องหรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำหรือรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาสถานะสัญญาประกันชีวิตเดิมและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม" ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิตพ.ศ.๒๕๓๕
พฤติการณ์ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๒ ถึงปัจจุบัน ได้นำความเสียหายมาสู่ประเทศไทย ทั้งสุขภาพของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ โดยในช่วงการระบาดดังกล่าวได้มีกลุ่มคนที่ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยต่างๆ ในประเทศไทยฉวยโอกาสในช่องว่างของขั้นตอนการรับเงินประกัน นำผลตรวจโรคโควิด-๑๙ ปลอม มายื่นเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบประกันภัยที่ต้องสูญเสียเงินไปกับกลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมาก ทั้งยังทำให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ จริง ได้รับค่าสินไหมล่าช้า หรือไม่ได้รับค่าสินไหม เนื่องจากบริษัทประกันขาดสภาพคล่อง
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มตัวแทนบริษัทประกันชีวิตบางราย หลอกลวงเก็บเบี้ยประกันไว้ ไม่นำเงินส่งบริษัท โดยที่ผู้เอาประกันภัยไม่ทราบเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับการคุ้มครองตามกรมธรรม์ และเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดสอบสวนกลาง และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) จึงได้ร่วมประชุมหารือเพื่อดำเนินการป้องปรามกรณีดังกล่าว โดย คปภ. ได้แจ้งค่วามร้องทุกข์ให้เนินคดีกับกลุ่มคนที่ปลอมเอกสารผลการตรวจโรคโควิด-๑๙ เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากการประกันภัยดังกล่าวโดยทุจริต และกลุ่มคนที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิตแต่ไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น หรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว รวมจำนวนทั้งสิ้น๒๑ ราย
โดยเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ พนักงานสอบสวน กก.6 บก.ปอศ. ได้ดำเนินการขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้ง ๒๑ ราย ต่อศาลอาญาต่อมาในระหว่างวันที่ ๔-๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.๔ บก.ปอศ. ได้ร่วมกันติดตามจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาที่ปลอมเอกสารผลการตรวจโรคโควิด-๑๙ และนำไปเรียกร้องผลประโยชน์จากการทำประกันดังกล่าวโดยทุจริต จำนวน ๑๑ ราย และจับกุมกลุ่มคนที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิต แต่ภายหลังกลับไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นหรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว จำนวน ๓ ราย รวมจำนวนทั้งหมด ๑๔ ราย นำส่งพนักงานสอบสวน กก.๔ บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งทางคดีอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลหาตัวผู้ร่วมขบวนการต่อไป
สอบสวนกลาง ฝากเตือนถึงพี่น้องประชาชนว่าการนำเอกสารปลอมหรือเอกสารอันเป็นเท็จไปเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยทุจริต นอกจากจะเป็นความผิดอาญาแล้ว ยังทำให้ประชาชนผู้เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-๑๙จริง เสียประโยชน์จากความล่าช้าในการเบิกค่าสินไหมทดแทน ทั้งยังทำให้รัฐต้องเสียหายจากการนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาช่วยสนับสนุนบริษัทประกันที่ต้องสูญเสียรายได้ไปจากการกระทำดังกล่าวของกลุ่มคนดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้สำหรับกลุ่มคนที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิตแต่ไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นหรือไม่ดำเนินการรักษาสถานของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายและเป็นการช้ำเติมประชาชนในภาวการณ์ระบาดด้วยเช่นกัน
อนึ่ง การกล่าวโทษของ คปภ. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ"ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาคดีถึงที่สุด"