นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยว่า ไตรมาสแรก ปี 2567 (มกราคม - มีนาคม) ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 163,959 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.72 จำแนกเป็น เบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) 45,890 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 118,068ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79และมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 83
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) จำนวน 29,841 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 3.59
2.) เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) จำนวน 16,050 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.56
เมื่อจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2567 แยกตามช่องทางการจำหน่าย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 78,013 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 47.58 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.20 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 66,044 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 40.28
หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้าจำนวน 11,228 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 6.85 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ 3,090 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1.88
หรือเติบโตลดลงร้อยละ 11.62 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 5 การขายผ่านช่องทางดิจิทัล 313 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 0.19 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.91 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
อันดับ 6 การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ 4 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 0.002 หรือเติบโตลดลงร้อยละ 39.79 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ส่วนการขายผ่านช่องทางอื่นๆ (Others) เช่น การขาย Worksite การขายผ่านการออกบูธ Walk-in และ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 5,266 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.21 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.30 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรก ปี 2567 คือ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง (Health และ CI) ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 32,776 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.48 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.99ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันคุ้มครองสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงและรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (Medical Inflation) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว(Aged Society) รวมถึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณมากขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักที่จะต้องมีเงินออมที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายช่วงวัยเกษียณ พร้อมทั้งได้รับความคุ้มครองชีวิต และ สิทธิการลดหย่อนภาษีอีกด้วย จึงส่งผลให้ เบี้ยประกันภัยรับรวม ของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) อยู่ที่ 2,604 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.80 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.59
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit – Linked และ Universal life) ก็ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 8,979 ล้านบาทเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.98 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.48 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนเริ่มเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งเรื่องการลงทุนและความคุ้มครอง ที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการปรับลดเงินลงทุนหรือทุนประกันภัย ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายทั้งด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในตอนท้าย