วิริยะประกันภัย เปิดเกมรุกปี 68 ปั๊มเบี้ยรวมโต 3.7% แตะเป้า 4.25 หมื่นล้าน งัด 3 กลยุทธ์ “บริการ-พันธมิตรธุรกิจ-บุคลากร” เสริมแกร่งทุกมิติงาน เร่งเครื่องพอร์ตนอนมอเตอร์โต 11% หวังบาลานซ์พอร์ตประกันรถ ปลื้มปี 67 ทำผลงานเบี้ยฯทะลุ 4 หมื่น ลบ.
นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับตรงอยู่ที่ 42,569 ล้านบาท หรือต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 3.7% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วเติบโต 2% ด้วยเบี้ยฯรับตรงรวมอยู่ที่ 40,879 ล้านบาท ในปีนี้ บริษัทฯ จะเน้นการเติบโตของนอนมอเตอร์ให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุ โดยเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าทั้งแบบมีความรับผิดส่วนแรกและแบบร่วมจ่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทางหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายเบี้ยนอนมอเตอร์ 4,978 ล้านบาท เติบโต 11% และในส่วนของประกันภัยมอเตอร์ ตั้งเป้าหมายเติบโต 37,591 ล้านบาท เติบโต 3.3% โดยมีแผนพัฒนาประกันภัยประเภท 5 (2+,3+) คุ้มครองภัยน้ำท่วมซ่อมอู่ทั่วไป และประเภท 5 (2+) รถไฟฟ้าซ่อมห้าง ออกมาในไตรมาส 2 นี้ ขณะที่ยกระดับช่องทางการซื้อประกันภัยออนไลน์ (E-Sale) และช่องทาง Affiliate Marketing และบริษัทฯ ยังได้โฟกัสไปที่การมอบความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยจะออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโจรกรรมรถจักรยานยนต์ คุ้มครองครอบคลุม สูญหาย เสียหายสิ้นเชิง ชดเชยรายได้เมื่อบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เพื่อช่วยบรรเทาภาระ เบี้ยประกันภัยสุดคุ้ม ไม่ถึงวันละบาท เพื่อให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สามารถขับขี่ได้อย่างอุ่นใจยิ่งขึ้น
อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับพลังงานสีเขียว เพื่อส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งโซล่า รูฟท็อป และอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกรับความคุ้มครองได้ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ไทยสู่ความยั่งยืน สนับสนุนผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับเครื่องหมาย Q Mark และผู้ประกอบการที่เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานไฟฟ้า เดินหน้าส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดโลจิสติกส์สีเขียว (Go Green Logistics) โดยบริษัทฯ จะมอบสิทธิพิเศษส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาตามแนวนโยบายด้าน ESG ของบริษัทฯ ในปีนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2567 ภายใต้เศรษฐกิจขยายตัว 2.6% ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตเพียง 0.5% ส่วนของบริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวม 40,879 ล้านบาท เติบโต 2% สูงกว่าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) 36,380 ล้านบาท เติบโต 2.1%และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) 4,499 ล้านบาท เติบโต 1.2% อีกทั้งยังคงมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 70,904 ล้านบาท และอัตราความพอเพียงของเงินกองทุน (CAR) 220% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของเงินกองทุนฯ ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดประกันวินาศภัย อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 33 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14.3% ในขณะที่ประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นพอร์ตหลัก ยังรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เช่นกัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22.6%
"ปีที่แล้ว บริษัทกำไร 3 พันล้านบาท และปีนี้คาดจะกำไร 3 พันล้านเช่นกัน ส่วนพอร์ตลงทุนอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้น 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือลงทุนพันธบัตรและตราสารหนี้ ผลตอบแทนลงทุนอยู่ที่ 4%"คุณอมรกล่าว
ปีที่ผ่านมา บริษัมฯมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกด้านของประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อุบัติเหตุ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ฯลฯ มีการพัฒนากระบวนการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การรับประกันภัย บริการหลังการขาย ตลอดไปถึงการบริการสินไหมทดแทนที่รวดเร็วและเป็นธรรม ด้วยสาขาและศูนย์บริการสินไหมทดแทน รวมถึงจุดบริการในห้างสรรพสินค้า (V-Station) ที่ครอบคลุมกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังพัฒนานวัตกรรมบริการอย่างต่อเนื่อง อาทิ VClaim on VCall บริการเคลมออนไลน์, V-Inspection บริการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนทำประกันภัย, V-Roadside Service บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
“แผนการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า พร้อมส่งมอบประสบการณ์ “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทฯ จะดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “ใช้ทุกวิให้คุ้มค่า : ด้วยบริการที่เป็นเลิศครอบคลุมครบวงจร” สะท้อนภาพความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการพัฒนางานบริการให้เป็นเลิศในทุกมิติ ทั้งในด้านการยกระดับคุณภาพ Touchpoint การขยาย Ecosystem คู่ค้า และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อให้การเติบโตของงานมอเตอร์และนอนมอเตอร์เป็นไปตามเป้าหมาย”คุณอมรกล่าว
สำหรับแผนงานขับเคลื่อนธุรกิจปีนี้ วางกลยุทธ์การดำเนินงาน 3 ด้าน
กลยุทธ์แรก ยกระดับคุณภาพและความพร้อมในการให้บริการ ทุกจุดที่ลูกค้าได้สัมผัสแบรนด์ (Touchpoint) ได้แก่
1. ขยายงานตัวแทนและนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งถือเป็นช่องทางหลัก ให้ได้กว่า 200 ราย รวมถึงยกระดับความรู้และศักยภาพของตัวแทนและนายหน้าประกันวินาศภัย ผ่านการอบรมออนไลน์สามารถให้คำแนะนำทั้งประกันภัยมอเตอร์และนอนมอเตอร์
2. พัฒนาจุดบริการทั้งสาขา ศูนย์บริการสินไหมทดแทน และจุดบริการในห้างสรรพสินค้า (V-Station) อย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายปรับปรุงและขยายพื้นที่บริการเพิ่มเติมให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการบริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
3. ยกระดับงานขายและการให้บริการผ่าน Line OA ทั้งในส่วนของวิริยะประกันภัย และวิริยะประกันสุขภาพ โดยเฉพาะการแจ้งเคลมอุบัติเหตุ เคลมนัดหมาย (VClaim on VCall) และแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
4. ยกระดับประสิทธิภาพการออกตรวจสอบอุบัติเหตุ ด้วยการวาง “จุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุ” หรือจุดพักคอยของเจ้าหน้าที่ในการรอเพื่อออกตรวจสอบอุบัติเหตุอย่างเหมาะสม ปัจจุบัน บริษัทฯ มีจุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 20 จุด และมีเป้าหมายจะขยายเป็น 30 จุด ภายในปีนี้
กลยุทธ์ที่สอง ขยายเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศของบริการ (Ecosystem) ได้แก่
1. เพิ่มจำนวนตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ครอบคลุมทุกแบรนด์ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาศักยภาพศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัย เพื่อรองรับการให้บริการซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
2. การขยายเครือข่ายพันธมิตรศูนย์ซ่อมเฉพาะทาง เช่น ศูนย์ซ่อมรถหรู (Luxury Car) และศูนย์ซ่อมรถขนส่ง เพื่อตอบรับการเติบโตของตลาดประกันภัยรถยนต์เฉพาะทาง
3. ขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัยสุขภาพ
4. เพิ่ม Exclusive Partner สำหรับ Privilege Program ซึ่งจะเน้นสิทธิพิเศษแบบ Exclusive Program ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งการชอปปิง การกิน-ดื่ม การดูแลสุขภาพ ความบันเทิง และการเดินทาง-ท่องเที่ยวโดยตั้งเป้าขยาย Exclusive Partner จาก 65 แบรนด์ สู่ 80แบรนด์ในปีนี้
กลยุทธ์ที่สาม ยกระดับศักยภาพบุคลากรวิริยะประกันภัย ที่มีอยู่กว่า 6,900 คน ตั้งแต่ระดับบริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ ได้แก่
1. พัฒนาศักยภาพตาม Road Map ของแต่ละตำแหน่งงานและช่วงอายุงาน พร้อมตั้งเป้าหมายในการพัฒนาผู้บริหารตามแผน Individual Development Plan (IDP) เพื่อสรรหาและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ สำหรับเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ในอนาคต
2. พัฒนาความรู้และเสริมทักษะใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยี AI เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ
3. พัฒนาระบบ Online Training ให้พนักงานสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้แนวคิด Long Live Learning
4. เสริมความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์มอเตอร์และนอนมอเตอร์ ความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับพนักงานในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งงานสินไหมทดแทนส่วนหน้าและส่วนหลัง รวมถึงฝ่ายรับประกันภัย เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ