Insurance

คปภ. ชี้ผลตอบรับงาน TIF 2022 ดีเกินคาด จัดแบบไฮบริดดึงผู้ร่วมงาน 2 แสนคน ชูปี 66 จัดใหญ่กว่า
19 ต.ค. 2565

คปภ. เผยผลตอบรับงาน TIF 2022 เกินคาด และมี tech startup ต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ยอดผู้เข้าร่วมงานกว่า 2 แสนคนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ขณะที่ยอดซื้อประกันภัยในงานทะลุเป้า โดยยอดรวมกว่า 1 พันล้านบาท เตรียมจัด TIF ปีหน้ายิ่งใหญ่กว่าเดิม

 

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2022” ภายใต้แนวคิด “Reshaping Insurance to the Multiverse of InsurTech for the Future ก้าวสู่จักรวาลแห่งเทคโนโลยีประกันภัย เพื่อโลกใหม่  ไร้ขีดจํากัด” เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 และทางออนไลน์ www.TIF2022.com โดยการจัดงาน TIF 2022 เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดของงานจากสัปดาห์ประกันภัยไปสู่งาน Thailand InsurTech Fair ที่ขยายขอบเขตไปสู่เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการประกันภัย ถือเป็นแนวคิดใหม่ 

 

ซึ่งในปีนี้ได้จัดเป็นครั้งที่สองโดยได้ปรับรูปแบบงานให้เป็นแบบ Active Hybrid เนื่องจากสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลง ประชาชนที่สนใจอยากเข้าชมงานแบบ onsite และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันในยุค New Normal จึงได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้าร่วมงานและบริษัทประกันภัยเป็นอย่างมาก   

 

การจัดงาน Thailand InsurTech Fair 2022 ในปีนี้ไม่ได้ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ที่ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเท่านั้น แต่สำนักงาน คปภ. อยากเห็นการยกระดับการประกันภัยเข้าสู่มาตรฐานสากล และมุ่งสู่ Digital Insurance Ecosystem ซึ่งการจัดงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งในส่วนของ InsurTech innovation บริษัทประกันภัยมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยมี Tech firms และ Startups จากต่างประเทศให้ความสนใจและมาร่วมออกบูธภายในงาน 

 

พร้อมนำเสนอนวัตกรรม สร้างเครือข่าย และ business matching ภายในงานอย่างคับคั่งและความสำเร็จในเรื่องของ OIC InsurTech Award การประกวดสุดยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย ซึ่งมีทีมเข้าร่วมประกวดจำนวนมากขึ้นในทุกปี และในปีนี้มีการนำเสนอนวัตกรรมที่น่าสนใจ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสังคมอย่างตรงจุด เช่น Application สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชสามารถพบนักนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ทางออนไลน์ เพื่อทำการวินิจฉัยประเมินวัดความเสี่ยงและคำนวณเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมโดยใช้เทคโนโลยี AI และ Platform สำหรับเชื่อมต่อคลินิกแพทย์เอกชนที่มีระบบการควบคุมต้นทุนค่ารักษา ปริมาณยาที่จ่าย (dosage) และมาตรฐานคิดค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงระบบตรวจจับการฉ้อฉล

 

ผลตอบรับของการจัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2022” นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังสัมมนาจำนวน 35,161 ราย มีSeminar Sessions ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจกว่า 17 หัวข้อ จากวิทยากร 27 คน จากหลายประเทศ Exhibition Hall มีบริษัทประกันภัยและหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล และธนาคาร รวมทั้งมีบริษัท Tech firm และ InsurTech Start up ทั้งจากในและต่างประเทศ รวมผู้เข้าร่วมจัดงานมากกว่า 80 แห่ง 

ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 202,389 คน แบ่งเป็น On ground  จำนวน 43,821 คน Online จำนวน 158,568 คน Business Matching การจับคู่ทางธุรกิจผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และสานสัมพันธ์ทางธุรกิจเพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทในวงการประกันภัย มีผู้สนใจเข้าร่วมพูดคุยธุรกิจจำนวนกว่า 300 ราย  ส่วนยอดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยภายในงาน มีเบี้ยประกันภัยสูงถึงกว่า 1,063 ล้านบาท จำนวนกรมธรรม์รวมมากกว่า 19,365 กรมธรรม์ มีทุนประกันภัยรวมมากกว่า 9,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัย 905 ล้านบาท 7,544 กรมธรรม์ ผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัย 158 ล้านบาท 11,821 กรมธรรม์ 

 

ในส่วนงานสัมมนามีวิทยากรชั้นนำระดับแนวหน้าจากทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และมาเลเซีย มาร่วมให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ กว่า 17 หัวข้อ ในเนื้อหาที่เข้มข้นและน่าสนใจ ซึ่งสามารถรับชมได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยการสัมมนาในทุกหัวข้อสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง www.tif2022.com อีกด้วย และในส่วนของ InsurVese Zone เป็นอีกโซนที่ดึงความสนใจของผู้เข้าชมงาน เพราะได้ชมเทคโนโลยีประกันภัยสุดล้ำ จากเหล่า tech startup นำเสนอเทคโนโลยี InsurTech มาร่วมงานทั้งหมด 40 บูธ ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย อังกฤษ ฮ่องกง เป็นต้น 

 

ด้าน Start up ของไทย ก็มีความโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุปกรณ์จับคลื่นเสียง ตรวจการล้มของผู้สูงอายุภายในบ้านอัตโนมัติ เพื่อเรียกกู้ภัยและรถพยาบาล ให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ด้าน Tech Start up ของต่างประเทศ ที่น่าสนใจ อาทิ ผู้ทำ platform กลางเพื่อรับส่งข้อมูลกลางระหว่างภาคธุรกิจประกันภัยทุกบริษัท รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ OIC Gateway + IBS ของสำนักงาน คปภ. สำหรับ metaverse เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยมี startup ผู้ให้บริการบน metaverse หลายเจ้า ซึ่งสามารถสร้างสิ่งที่อยู่ในไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นการขาย หรือการให้บริการต่าง ๆ แบบ เสมือนจริง ด้วยฝีมือคนไทยเอง เช่น Digital Marketing Platform แนวใหม่ ที่ผสานความสนุกของเกมการท่องเที่ยว และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในยุค Web 3.0 ให้เกิดสะพานเชื่อมต่อคุณค่าจากโลกดิจิทัล มาสู่ธุรกิจในโลกจริง และนวัตกรรมประกันภัยอื่น ๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ


พร้อมกันนี้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ยังมีการจับรางวัลใหญ่ให้กับผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายในงาน โดยผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลใหญ่ รถยนต์ไฟฟ้า EV - Ora Good Cat มูลค่ากว่า 763,000 บาท คือ คุณนุชรี  อ่อนพร้อม ผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวน 1 ฉบับ 


“ผมขอขอบคุณภาคธุรกิจประกันภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่บูรณาการร่วมกันจัดงาน TIF ปีนี้จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งจากตัวเลขผู้ร่วมงานและ tech startup จากต่างประเทศได้นำเสนอเทคโนโลยี InsurTech สุดล้ำมาร่วมงานกว่าประมาณ 40 บูธ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับการประกันภัยและนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัย จึงนับว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการจัดงานแบบ Active Hybrid ของภาคธุรกิจประกันภัยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และยังเป็นการประกาศว่าภาคธุรกิจประกันภัยพร้อมที่จะปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค New Normal และ Next Normal รวมไปถึงเรื่องของ Digital Disruption ที่บริษัทประกันภัยจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการรับเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเริ่มเตรียมการให้ดีที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าในปีหน้าการจัดงาน “Thailand InsurTech Fair 2023” จะยิ่งใหญ่กว่าปีนี้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com