คปภ. เพิกถอนใบอนุญาต-สั่งปิดกิจการ 2 บริษัทประกัน “อาคเนย์-ไทยประกันภัย” หลังประสบปัญหาค้างจายเคลมโควิดเจอจ่ายจบจำนวนมาก ขาดสภาพคล่อง ด้านผู้ถือหุ้นใหญ่ยืนยันไม่ใส่เงินเพิ่มทุน รวมทั้งยังประวิงจ่ายล่าช้าโดยไม่มีเหตุ พบการบันทึกไม่ปกติเกิดขึ้น เผย 2 บริษัทมียอดกรมธรรม์โควิดเหลืออีก 1.17 ล้านฉบับ เบี้ยรวมราว 500 ล้านบาท ส่งกองทุนประกันวินาศภัยเช้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหม ล่าสุดมีสภาพคล่อง 5-7 พันล้าน เตรียมแหล่งเงินกู้เสริมสภาพคล่อง
ได้เดินทางไปให้ข้อมูลและหารือกับท่านรมว.คลังแล้วเห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดผลกระทบ จึงเลือกวิธีนี้เนื่องจากบริษัททั้งสองยืนยันจะไม่เติมเงินเข้ามาเพิ่มทุน เพื่อจ่ายสินไหม จนในที่สุดมีปัญหานำมาสู่การไม่สามารถจัดเงินสำรอง และจัดการทรัพย์สินครบตามที่กม.กำหนด โดยมีทรัพย์สินสภาพคล่องไม่เพียงพอ มีการประวิงจ่ายสินไหมโดยไม่มีเหตุผลอันเป็นการฝ่าฝืน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ส1 เม.ย. 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 670/2565 และ 671/2565 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีผลวันที่ 1 เม.ย. 2565 ซึ่งการเพิกถอนดังกล่าวของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน
พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัทดังกล่าว และได้ให้เจ้าหน้าที่ คปภ. ส่งหนังสือแจ้งต่อทั้ง 2 บริษัทรับทราบคำสั่งฯ
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองบริษัทได้มีการรับประกันภัยโควิด เจอจ่ายจบ ไว้จำนวนมาก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงตั้งปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ยื่นเคลมค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากกับ 2 บริษัท และบริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโควิด เจอจ่ายจบ เป็นจำนวนมาก ดังนั้น คปภ. จึงได้หารือร่วมกับผู้บริหารและตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องของทั้ง 2 บริษัท เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะทางการเงิน และสั่งหยุดรับประกันชั่วคราว
ขณะเดียวกัน คปภ.ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่มีคำสั่งดังกล่าว จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน รวมทั้งยังได้ดำเนินการเร่งรัดให้ทั้งสองบริษัทจ่ายค่าสินไหมฯ เป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 16-31 มีนาคม 2565 สามารถเร่งรัดค่าสินไหมทดแทนและคืนเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยได้จำนวน 3,028 ราย เป็นเงิน 294.94 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คปภ. ได้รับแจ้งเป็นทางการจากทั้งสองบริษัทที่ยืนยันผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สนันสนุนทางการเงินเพิ่มเติมให้แก่บริษัทเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย คือ บมจ. เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ TGH มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่สนับทางการเงินเพิ่มเติมแก่บริษัทอาคเนย์ฯ เช่นเดียวกัน บมจ.ไทยประกันภัยได้แจ้งหนังสือว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไม่ให้การสนับสนุนเงินทุน ซึ่งส่งผลให้ทั้งสองบริษัทไม่สามารถแก้ไขฐานะทางการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองและจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังที่ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด
“รมว.คลัง พิจารณาเห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ประกัน และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างอีกจำนวนมาก จ จึงเห็นได้ว่าทั้งสองบริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัย และประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บมจ. อาคเนย์ประกันภัย และบมจ. ไทยประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง พร้อมกันนี้ คปภ. เตรียมฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้บริหารผู้มีอำนาจลงนามของทั้งสองบริษัทด้วย ซึ่งยังพบการบันทึกรายการเงินสำรองที่ไม่ปกติ” ดร.สุทธิพล กล่าว
ปัจจุบัน ยังมีผู้ถือประกันโควิด เจอจ่ายจบของทั้งสองบริษัทอีกจำนวน 1.17 ล้านกรมธรรม์ เบี้ยเฉลี่ย 400 กว่าบาทต่อกรมธรรม์ รวมเป็นเบี้ยทั้งหมดราว 500 ล้านบาท ซึ่ง คปภ. ได้เตรียมแผนรองรับ โดยในวันที่ 4 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมหารือร่วมกับบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต 15 แห่ง เพื่อเข้าร่วมมือช่วยเหลือดูแลผู้ถือกรมธรรม์ดังกล่าว
ในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมแก่ผู้เอาประกันโควิด เจอจ่ายจบของทั้งสองบริษัทนั้น ทางกองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามาดูแลสถานการณ์ไปก่อน โดย ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2565 บมจ.อาคเนย์ฯ มีภาระสำรองประกันภัยและค่าสินไหมค้างจ่าย 13,559 ล้านบาท ส่วนบมจ. ไทยประกันภัย อยู่ที่ 4,613 ล้านบาท
ในส่วนของกองทุนประกันวินาศภัย ปัจจุบันมีสภาพคล่องประมาณ 5,000 -7,000 ล้านบาท ดังนั้น คปภ. จึงได้เตรียมแหล่งเงินทุนเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุนฯ โดยมาจากทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะจัดหาเงินเสริมภสภาพคล่องให้กองทุนฯ ซึ่งจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป และการกู้จากธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง คปภ.มั่นใจว่าจะสามารถดูแลการจ่ายสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ พร้อมทั้งยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังจำกัดอยู่เพียง 2 บริษัทเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยทั้งระบบ
หลังจากการปิดกิจการทั้งสองบริษัทแล้ว สำหรับมาตรการดูแลผู้เอาประกันภัยของทั้งสองบริษัทหลังจากปิดกิจการที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้แล้ว ทางผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว ทั้งสองบริษัท สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยตามที่ประกาศกำหนด โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
ส่วนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับทั้งสองบริษัท สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยต่อไป
สำหรับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทของทั้งสองบริษัท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้ ในกรณีขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย จะได้รับการคืนเบี้ย ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง