Tokenization กลับมาพูดถึงกันอีกครั้งและน่าจะเป็นเทรนด์หนึ่งที่น่าจับตาในปี 2565 นี้ เพียงแต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ตลาดคริปเคอเรนซียังไม่บูมมาก และข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่เรียบร้อยเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ทำให้กระแสของ Tokenisation หายไปช่วงหนึ่งจนกระทั่งโปรเจ็กของ SIriHub Token ทำออกมาสำเร็จเป็นรายแรกในปี 2564 และสามารถระดมทุนได้ถึง 2.4 พันล้านบาท เป็นการเปิดตลาดให้กับการระดมทุน แบบ Investment Token เลยทีเดียว
•SiriHub Token นำร่องเปิดตลาดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2564
SIriHub Investment Token เป็น Token Digital เพื่อการลงทุนที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจาก อสังหาริมทรัพย์ (Real Estate-Backed ICO) โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วยศักยภาพโครงการ ‘สิริ แคมปัส’ ที่มีกระแสรายรับต่อเนื่องจากสัญญาเช่าระยะยาวถึง 12 ปี กับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เรียกได้ว่า เป็น Token ที่ไม่ใช่อากาศ มีผลตอบแทนจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ส่งกลับมาให้กับผู้ถือ Token ด้วยเป็นการ สร้างความมั่นใจให้ระดับหนึ่ง
จากกรณีของ SiriHub Token ที่ฉายภาพของกระบวนการออก Investment Token ซึ่งเป็นการลงทุนในรูปแบบใหม่ไปกับยุคดิจิตัล โดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน เข้าช่วยเรื่องการทำ ICO (Initial Coin Offering) หรือการระดมทุนจากคนทั่วไปโดยการออก Token Digital โดยบริษัทเสนอและขาย Token Digital ที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้ลงทุน เช่น ส่วนแบ่งรายได้จากโครงการ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง และกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้โดยการซื้อ Token Digital ที่บริษัทออก โดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน เมื่อขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ถือ Token Digital ก็คล้ายๆการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ก็สามารถนำ SiriHub Token ไปซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งเป็นตลาดรองด้านสินทรัพย์ดิจิตัล ที่เน้นด้านการซื้อขาย Token Digital เป็นหลัก ที่ชื่อว่า ERX
เมื่อเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าหลายๆ บริษัทต่างจดจ้องจะออกระดมทุนด้วยการออก digital token กันบ้าง และหากตลาดเติบโตขึ้นมา ใครจะไปรู้ว่าในอนาคตนั้น digital token ซึ่งเป็น สินทรัพย์ดิจิตัล อาจจะดังเปรี้ยงปร้างได้รับความนิยมแบบคริปโตเคอเรนซีก็เป็นได้ นักลงทุนที่สนใจใน digital token รวมทั้งกระบวนการออก ICO จะเป็นอย่างไร ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ พอที่จะทำให้นักลงทุนทำความเข้าใจในเบื้องต้น แต่หากจะลงทุนก็ต้องศึกษาเชิงลึกให้ดีในแต่ละโปรเจ็กที่จะลงทุน เพราะสินทรัพย์เหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เบื้องต้น Clubhoon รวบรวมความรู้พื้นฐานมาฝากเพื่อเกาะติดเทรนด์ลงทุนนี้กัน
• รู้จัก Tokenization คืออะไร?
คุณนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อํานวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้คำจำกัดความไว้ว่า
“Tokenization” คือ กระบวนการสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล (digital representation) โดยสร้างโทเคนเพื่อเป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น โฉนดที่ดิน อัญมณี งานศิลปะ ทรัพย์สินทางปัญญา สินทรัพย์ทางการเงิน เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดสภาพคล่องใน การซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินหรือนําทรัพย์สินดังกล่าวมาแบ่งเป็นหน่วยย่อยในรูปของโทเคน ซึ่งปัจจุบันมี หลาย platform ที่ให้บริการ tokenize ทรัพย์สิน และเปิดพื้นที่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น “SuperRare” ซึ่งเป็น platform สําหรับการซื้อขาย digital artwork โดยชิ้นงานที่ศิลปินผลิตขึ้นจะถูก tokenize บนระบบ Ethereum Blockchain และผู้ครอบครองโทเคนก็จะได้รับใบรองรับความเป็นเจ้าของใน ชิ้นงานด้วย”
•Tokenization และกรรมสิทธิ์ รู้ไว้สักนิดหากคิดจะลงทุน
คุณนภนวลพรรณอธิบายว่า ด้วยเหตุที่ Token เป็นเพียงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวแทนของสิ่งต่าง ๆ ในโลกจริง จึงเกิด คําถามว่า ผู้ถือโทเคนถือเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูก tokenize (ทรัพย์สินอ้างอิง) หรือมีสิทธิที่จะนําโทเคนไปใช้ แทนทรัพย์สินอ้างอิงได้หรือไม่
เมื่อพิจารณาความเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามกฎหมายไทย ในกรณีของสังหาริมทรัพย์ก็จะดูที่การครอบครองทรัพย์สินนั้นทางกายภาพ (โดยสุจริตและชําระค่าตอบแทน) หรือหากเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องมีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ ในแง่ของการระดมทุน ปัจจุบันมีผู้สนใจจะออก Token ที่มี ทรัพย์สินในโลกจริงเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (asset-backed token) เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุน โดยผู้ถือ Token จะได้รับผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินนั้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่รองรับสิทธิของผู้ถือ Token ในทรัพย์สินอ้างอิง กรรมสิทธิ์จึงยังคง ตกอยู่กับผู้ออก Token หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย (ผู้ครอบครองหรือผู้ที่มีชื่อในทะเบียน) ผู้ถือ Token จึงมีเพียงสิทธิเรียกร้องต่อผู้ออกโทเคนในผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินตามที่ผู้ออก Token กําหนดไว้เท่านั้น
เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ถือ Token ในกรณีที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง (real estate- backed token) ก.ล.ต. จึงกําหนดให้ผู้ออก Token ดังกล่าวต้องมอบหมายให้บุคคลที่ 3 ที่เรียกว่า “ทรัสตี” ถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแทน และทําหน้าที่ดูแลรักษาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้ถือ Token เพื่อให้มั่นใจ ว่า ผู้ออกโทเคนไม่สามารถนําอสังหาริมทรัพย์นั้นไปใช้เพื่อการอื่นได้ และผู้ถือ Token จะได้รับผลประโยชน์จาก ทรัพย์สินตามสิทธิที่พึงได้รับ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ real estate-backed ICO ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564
• Digital Token คืออะไร?
ศูนย์ข้อมูลความรู้ของ Bitkub กล่าวถึง Digital Token ไว้ว่า คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดโอกาสให้บริษัทกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของบุคคลในการแลกเปลี่ยนเงินจริง สินค้า บริการ และสิทธิในการร่วมลงทุน (Investment Token) ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่คล้ายกับหุ้นทั่วไป ซึ่งการซื้อขายโทเคนคือการระดมทุนแบบ Initial Coin Offering ที่จะต้องอยู่ภายใต้ Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
•Token Digital แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
ตามนิยามกฎหมาย พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เราสามารถแบ่งประเภทของโทเคนดิจิทัลได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
1.โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โทเคนประเภทนี้จะบอกสิทธิประโยชน์ทั้งหมดของผู้ถือโทเคนไว้อย่างชัดเจน พื่อให้ผู้ถือโทเคนได้รับการบริการหรือแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสดตามเงื่อนไขของเหรียญนั้นๆ เช่น ใช้เหรียญโทเคนนี้แลกเปลี่ยนการบริการต่างๆ ภายในองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เหรียญ JFIN ที่ใช้กันภายในเครือบริษัท ของ JMART group เท่านั้น
2.โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โทเคนประเภทนี้จะคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากการถือโทเคนตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้ เช่น ส่วนแบ่งกำไร ซึ่ง SiriHub token จะอยู่ในประเภทนี้ คือเป็น Investment Token
• รู้จักการระดมทุนแบบ Initial Coin Offering หรือ “ICO”
Token Digital ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบบล็อกเชนแบบ Initial Coin Offering โดยบริษัทจะเสนอและกำหนดขาย Token ที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของนักลงทุนไว้ เช่น ส่วนแบ่งกำไรหรือสิทธิด้านการบริการ ที่กำหนดให้ผู้ร่วมลงทุนนำเหรียญดิจิทัลหรือเงินมาแลก Token กับบริษัทนั้นๆ ได้ภายใต้ Smart Contract
เมื่อมองผิวเผิน โทเคนดิจิทัลอาจมีส่วนคล้ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ทั่วไป แต่ความจริงแล้วทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ผลประโยชน์ที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับ เพราะผู้ลงทุนโทเคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขในเอกสารประกอบการเสนอขาย (White Paper) แต่จะไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัทเมื่อเลิกกิจการหรือล้มละลาย
•ไขข้อแตกต่างระหว่าง Digital Token และ Cryptocurrency
รู้หรือไม่? แม้โทเคนและคริปโทมีสถานะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน แต่ก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
•Digital Token
-ใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินจริง (Fiat Money) สินค้า และบริการ
- เหมาะกับการเก็งกำไรในระยะยาว
- ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับส่วนแบ่งกำไรและผลประโยชน์อื่นๆ จากบริษัทที่ขายโทเคนให้ตามที่กำหนดไว้ (Utility Token)
•Cryptocurrency
-ใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินจริง (Fiat Money) สินค้า และบริการ
- เหมาะกับการเก็งกำไรได้ทั้งระยะสั้นและยาว
Digital Token มีผลตอบแทนและความเสี่ยงสูงแค่ไหน?
แม้ Token Digital จะได้รับการรับรองตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในการลงทุนและยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จึงต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดดิจิทัลแบบเจาะลึกก่อนการลงทุนเสมอ
คุณสามารถลงทุนในโทเคนกับศูนย์ซื้อขายดิจิทัล (Digital Asset Exchange), โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) ต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต. แล้วได้อย่างสบายใจ แต่ก็ควรระวังพวกมิจฉาชีพ (Scam) ที่ไม่ผ่านการรับรองมาหลอกเอาเงินของคุณไปด้วยเช่นกัน