ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี ยังคงเป็นเรื่องร้อนหน้ากระดานของบรรดานักเทรดเหรียญทั้งหลาย ที่ยังงุนงงกับภาระภาษีที่ต้องจ่ายกรมสรรพากรว่าเท่าไหร่กันแน่และจ่ายอย่างไร กรมสรรพากรพร้อมชี้ชัดรายละเอียดภายในเดือนนี้ หลังจากที่จะมีการประชุมใหญ่ผู้เกี่ยวข้อง 20 ม.ค.นี้ แล่้วในต่างประเทศจัดเก็บกันอย่างไร จึงขอนำข้อมูลประเทศต่างๆมาให้เปรียบเทียบดูกัน
ดูเหมือนว่าอัตราการจัดเก็บที่กรมสรรพากรพูดถึงคือ ถ้าลงทุน “มีกำไร” จะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ถ้าเกิด "ขาดทุน" ไม่สามารถนำไปหักกลบส่วนที่มีกำไรได้ และยังไม่มีความแน่ชัดว่า ใครจะเป็นผู้จัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย และรายได้หรือกำไรที่เพิ่มขึ้นจะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ปลายปีอีกต่อหรือไม่
เมื่อวานนี้ (11 ม.ค. 2565 ) กรมสรรพากรได้เรียกสมาคมสินทรัพย์ดิจิตัล และผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น และจะมีการประชุมรอบใหญ่อีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ โดยมีบรรดาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ ดิจิตัล ซึ่งจะรวบรวมความคิดเห็นของนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องมาเสนอต่อกรมสรรพากรอีกครั้ง
นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตัล กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีกำไรอัตราที่สูงและซ้ำซ้อน รวมทั้งไม่สามารถนำเอาส่วนที่ขาดทุนมาหักจากกำไร ถือเป็นการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่จัดเก็บภาษีในลักษณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ไม่มีการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
นอกจากนี้วิธีการชำระภาษีก็ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้เป็นภาระกับผู้เสียภาษี ซึ่งลักษณะนี้อาจทำให้นักลงทุนย้ายไปซื้อขายที่อื่นแทน กรมสรรพากรก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ซึ่งหมายถึงจะไม่มีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้เช่นกัน อีกทั้งยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการลงทุนสินทรัพย์ดิจิตัลในไทยไม่เติบโต
ดังนั้นก่อนที่กรมสรรพากรจะเคาะเป็นครั้งสุดท้าย เรามาดูกันว่าประเทศอื่นๆ เก็บภาษีกันอย่างไร การจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิตัลของเพื่อนบ้าน (ข้อมูลอ้างอิง : Stang Pro)
สิงคโปร์
- บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ถือครอง คริปโทฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่ลงทุนระยะยาวไม่ถูกเก็บภาษีในสิงคโปร์ เพราะภาษีกำไรการลงทุนไม่มีอยู่ในมือของรัฐเอง
- มีมาตรการดึงบริษัทด้านคริปโทฯ มาตั้งสำนักงาน
สวิตเซอร์แลนด์
- การเทรดคริปโทฯ ในนามบุคคลไม่เสียภาษีกำไร
- การเทรดทำกำไรในนามนิติบุคคลต้องเสียภาษี
- รายได้จากการขุดคริปโทฯ ถือเป็นรายได้การจ้างงานตนเองจะถูกหักภาษีเงินได้
เกาหลีใต้
- เก็บภาษีคริปโทฯ อัตราคงที่ 20% เมื่อมีกำไรจากการเทรดมากกว่า 2.5 ล้านวอน
- ของรางวัลหรือมรดกคริปโทฯ ก็เก็บภาษีด้วย
- เริ่มการเก็บภาษีคริปโทฯ ในปี 2023
สหรัฐอเมริกา
- เก็บภาษีการขายทำกำไรระยะสั้น 10 - 37%
- เก็บภาษีการขายทำกำไรระยะยาว 0 - 20%
- ธุรกรรมคริปโทฯ ที่มูลค่าเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์ จะต้องแจ้งไปยังสรรพากรภายใน 15 วัน
- ผลกำไร-ขาดทุน จากการเทรดสามารถหักลบกันได้
ญี่ปุ่น
-มีการเก็บภาษีคริปโทฯอัตราระหว่าง 20-55%
-ไม่สามารถหักลบยอดกำไร-ขาดทุนได้
-ยังไม่คำนวณรวมกับภาษีเงินได้บุคคลที่ 10 - 45%
- กำไรการเทรดไม่เกิน 200,000 เยน/ปี จะไม่ต้องเสียภาษี
- บริษัทผู้ออกเหรียญคริปโทฯ ถูกเก็บภาษี 35%
ไทย (อยู่ระหว่างหาข้อสรุป)
- ขายทำกำไร เสียภาษีเงินได้ หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
- หากเทรดออเดอร์ไหนได้กำไรต้องเสียภาษี
- กำไรการเทรดไม่เกิน 60,000 บาท/ปี ไม่ต้องยื่นภาษี
- แม้ไม่ถอนเงินเข้าบัญชีธนาคารก็ต้องเสีย
ในปัจจุบันนี้มี อย่างน้อย 7 ชาติทั่วโลกที่ไม่ได้มีการเก็บภาษีคริปโต ได้แก่ โปรตุเกส เบลารุส สโลวีเนีย มอลต้า ลักเซมเบิร์ก เอสโตเนีย และ สวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเทคโนโลยีการเงินแห่งอนาคต ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของหลายประเทศทั่วโลกยังอยู่ระหว่างการวิ่งไล่ตาม เป็นที่สังเกตว่าหลายชาติยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลคริปโต สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจน
ในทางกลับกันบางประเทศได้ยึดความคิดริเริ่มและเลือกที่จะกำหนดกฎระเบียบที่จะเอื้ออำนวยต่อการเสริมสร้างเศรษฐกิจโดยส่งเสริมการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล