Crypto

Bitcoin ฟื้นยืนเหนือ 36,000 ดอลลาร์ รอผลประชุม Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน
25 ม.ค. 2565

ท่ามกลางปัจจัยลบโหมกระหน่ำ คริปโทเคอร์เรนซีสกุลหลักๆร่วงหลุดแนวต้าน ดำดิ่งกันถ้วนหน้า ล่าสุด เมื่อค่ำวานนี้ (24 ม.ค.) ราคา Bitcoin ลดลงแตะใกล้ๆ 33,000 ดอลลาร์  แต่ในที่สุดก็ค่อยๆ ฟื้นกลับมาได้ 

 

ราคาเหรียญคริปโทฯยังคงอยู่ในภาวะผันผวนหนักในระยะนี้ โดยราคา Bitcoin ร่วงหลุดระดับ 40,000 ดอลลาร์ และทำจุดต่ำสุดเมื่อเข้าสู่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาที่ระดับ 33,000 ดอลลาร์ และรีบาวด์กลับมาอีกครั้ง ที่ระดับ 36,000 ดอลล่าร์ในไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมานี้ 

 

ดร.กอบศักดิ์ ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อช่วงเช้า 25 ม.ค. ว่า 

 

“เมื่อคืนวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็น 1 ค่ำคืนของความตื่นเต้นกับขบวนรถไฟเหาะของสินทรัพย์ต่างๆ  ก่อนนอน เห็น Dow Jones ติดลบมากกว่า 1,000 จุด หรือประมาณ 3% ตื่นนอน ได้ทำใจแล้วว่า วันนี้คงส่งผลกระทบกับเอเชียและตลาดการเงินไปทั่ว พอเปิดจอมาดู กลับเห็นว่าระหว่างหลับไป Dow Jones ได้ฟื้นคืนชีพกลับมา จนกลายเป็นบวกนิดๆ ณ สิ้นวัน!!!” 

 

ทั้งหมด เป็นสัญณาณเตือนภัยว่า ปีนี้จะไม่ธรรมดา  เพราะ Nasdaq ลงไปเช่นกัน -4.8% ก่อนที่จะกลับมาได้ และ Bitcoin ก็ลงไปแตะที่ 33,000 ดอลลาร์ ก่อนที่จะกลับมาที่ 37,000 ดอลลาร์

 

“จึงเอามาฝากไว้เตือนว่า ความผันผวนปีนี้จะไม่ธรรมดา สินทรัพย์ที่ขึ้นสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความกังวลกับเรื่องการตัดสินใจของธนาคารกลาง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความกลัวของนักลงทุน อะไรอะไรก็เป็นไปได้  ต้องดูแลตัวเองและเงินของตนเองให้ดี ครับ”ดร.กอบศักดิ์ระบุ

 

ก่อนหน้านี้ราคา Bitcoin ร่วงลงมาต่ำกว่าระดับ 34,000 ดอลลาร์ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 จนเกือบหลุด 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เพราะความวิตกกังวลเกี่ยวกับกรณีที่รัสเซียอาจบุกโจมตียูเครน

 

ทั้งนี้ ราคา Bitcoin ขยับเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลง และปรับตัวลดลงต่อเนื่องมากกว่า 50% นับตั้งแต่ที่ขยับพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดอยู่เหนือระดับ 69,000 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งราคา Bitcoin ที่ร่วงลงมาและเหรียญอื่นๆ ทำให้มูลค่าตลาดของตลาดคริปโทฯ หายไปกว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์จากวันก่อนหน้า

 

ระยะนี้ปัจจัยลบหลายประการรุมเร้าตลาดคริปโทฯ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ การปรับลดงบดุล และลดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน QE ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องหดหายไปจากระบบ และไทยเตรียมจัดเก็บภาษีอีกด้วย


นอกจากนี้ มีรายงานว่าของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาให้ตลาดคริปโทฯอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) หรืออาจมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมากำหนดกฎระเบียบควบคุมธุรกิจดังกล่าว รวมทั้งอาจมีการเรียกเก็บภาษีสกุลเงินคริปโทฯ


ความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ ต่อการจัดระเบียบสินทรัพย์ดิจิทัล

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนได้สั่งห้ามการทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคริปโทฯ ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียเสนอให้ระงับการใช้สกุลเงินคริปโทฯ และห้ามการทำเหมืองคริปโทฯในประเทศ เพราะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยรัสเซียถือเป็นประเทศที่มีเหมืองขุดคริปโทฯใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และคาซัคสถาน 

 

นอกจากปัจจัยด้านนโยบายการเงินและการออกกฎเกณฑ์จากธนาคารกลางเพื่อกีดกันการเติบโตของคริปโทฯแล้ว ปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซียจะบุกโจมตียูเครนมีความตึงเครียดมากขึ้น ก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะอาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น กดดันภาวะเงินเฟ้อขึ้นไปอีกระดับ ดังนั้นอาจเป็นประเด็นให้ Fed ปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้นไปอีกได้  ปัจจัยเหล่านี้กระทบการลงทุนทั้งคริปโทฯและตลาดหุ้น

 

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมเปิดให้ “สเตเบิลคอยน์”  สามารถใช้ชำระเงินได้ โดยนายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท.  กล่าวว่า  ธปท.ร่วมหารือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อออกหลักเกณฑ์การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะเป็นเพียงบางประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างเช่น stablecoin  (สเตเบิลคอยน์) ที่มีสินทรัพย์เป็นตัวหนุนหลัง  เพื่อประโยชนทางเศรษฐกิจ โดยมีหลายประเทศมองกันอยู่ว่า จะเปิดให้สเตเบิลคอยน์สามารถใช้ชำระสินค้าและบริการได้ เพราะมีความคล้ายคลึงกับระบบอีมันนี่ (e-Money) โดยมีสินทรัพย์มาเป็นตัวหนุนหลัง

 

ตัวอย่างร้านค้าที่รับอีมันนี่ มั่นใจได้ว่าสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ และยังคุ้มครองในกรณีที่ถ้าผู้ให้บริการล้มละลาย เงิน ลูกค้าก็ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน เพราะหลักเกณฑ์ของอีมันนี่ต้องมีการฝากเงินของลูกค้าไว้ 100% 

 

เพราะฉะนั้น การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อชำระสินค้าและบริการนั้น ธปท.ไม่ได้มีนโยบายปิดกั้นหรือห้ามทั้งหมด  แต่จะเน้นดำเนินการควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและระบบชำระเงินด้วย  ซึ่งจะมีการเปิดรับฟังความเห็นต่างๆ เช่นเดียวกับต่างประเทศ  เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสื่อกลางการชำระเงิน  ประเด็นสำคัญหลักๆจะเน้นความน่าเชื่อถือและมีการผูกกับเงินตรา ซึ่งหลักเกณฑ์ฯดังกล่าวน่าจะออกมาได้ในเร็วๆนี้ และจะมีกำหนดบทลงโทษด้วย เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายต่อสาธารณชน

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางแต่ละประเทศมีมุมมองสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 


กลุ่มแรก ธนาคารกลางกำหนดห้ามทำกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในทุกมิติ การห้ามรับชำระเงิน ห้ามการลงทุน ห้ามการขุดเหรียญ เช่น ประเทศจีน รัสเซีย

กลุ่มที่สอง  ธนาคารกลางอนุญาตให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลไปลงทุนได้ แต่ห้ามการรับชำระเงิน เช่น อินโดนิเซีย อินเดีย 

กลุ่มที่สามกลุ่ม ธนาคารกลางอยู่ระหว่างการพิจารณานำสเตเบิลคอยน์สามารถรับรับชำระเงินได้ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา 

กลุ่มสุดท้าย ธนาคารกลางที่อนุญาตให้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อชำระเงินค่าสินค้าและบริการ เช่น เอลซัลวาดอร์
 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com