เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ออกโรงเตือนบรรดาเทรดเดอร์ทั้งหลายถึงความเสี่ยงในการเล่น GameFi ประเภท Play to Earn (P2E) ที่กำลังนิยมกันมากมายในขณะนี้ คำเตือนมาเหมาะเจาะในช่วงเวลาเดียวกันที่เทรดเดอร์อีกซีกโลกหนึ่งหมดเนื้อหมดตัวกับการล่มสลายของเหรียญ ETERNAL ที่ออกให้กับผู้เล่นเกมระดับโลกอย่าง CryptoMines
วันนี้กลุ่ม GuildFi Thailand หนึ่งในผู้นำเกม GameFi ของไทยที่เพิ่งจะประสบความสำเร็จในการปิดโปรเจ็กระดมทุนไปได้ถึง 4.7 พันล้านบาท จากนักลงทุนทั่วโลกเมื่อ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้สรุปเหตุการณ์เกม CryptoMines ระเบิด! และความเสี่ยงของ GameFi ประเภท Click to Earn จะเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในโลก GameFi นั่นก็คือ การประกาศปิดตัวลงของเกม CryptoMines ที่มีจำนวนผู้เล่นต่อวันสูงถึง 200,000 คน และมีมูลค่าธุรกรรมภายในตัวเกมสูงถึง 600 ล้านบาทต่อวัน! นั่นทำให้การปิดตัวลงของเกมนี้ สร้างความเสียหายให้กับผู้เล่นจำนวนมาก โดยความเสียหายของผู้เล่นแต่ละคนมีมูลค่าตั้งแต่ไม่กี่พันบาท ไปจนถึงหลายสิบล้านบาทเลยก็มี!
อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ และเราสามารถเรียนรู้อะไรจากการล่มสลายของเกม Cryptomines บ้าง มาอ่านกันได้ที่บทความนี้เลย
เกม CryptoMines คืออะไร?
CryptoMines คือเกมรูปแบบ Click-to-earn บน Binance Smart Chain ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ต้องการจะเริ่มเล่นจำเป็นต้องซื้อเหรียญ $ETERNAL เพื่อนำไปสุ่ม NFT ของเกมนั่นก็คือ ยาน และคนงานในระดับที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ดวงของผู้เล่น ยิ่งคนงาน และยานมีระดับที่สูงขึ้น ก็จะยิ่งสามารถหารายได้มากขึ้นตามไปด้วย การสุ่มแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่ากันในหน่วยเงิน Fiat เพราะเกมมีการใช้ระบบ Oracle เพื่อตรึงราคาการสุ่มไว้ให้คงที่ เนื่องจากราคาสุ่มที่สูงอาจจะเป็นกำแพงสำหรับผู้เล่นใหม่ได้
หลังจากที่มียาน และคนงานแล้ว เราสามารถนำ NFT ไปใช้ในการออกสำรวจ(Expedition) โดยตัวเกมจะสุ่มโอกาสสำเร็จของการสำรวจแต่ละครั้ง และถ้าการสำรวจนั้นสำเร็จผู้เล่นก็จะได้รับเหรียญ $ETERNAL จำนวนตามที่เกมกำหนดไว้จากระบบ Oracle ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนจะเป็นเกมปกติทั่วไป แต่เกมนี้มีความเป็น Ponzinomic สูงมาก ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกมนี้ต้องล่มสลายลง และเกิดผู้เสียหายจำนวนนับไม่ถ้วน
แล้วเกมที่มีระบบ Ponzinomic เป็นยังไง?
อย่างที่เรารู้กันว่า Ponzimomic คือ การนำเงินของผู้เล่นใหม่ มาจ่ายให้กับผู้เล่นเก่าในเกม ซึ่งเกม Cryptomines ก็มีความเป็น Money Game สูงมาก เนื่องจากผู้เล่นใหม่จำเป็นต้องซื้อเหรียญ $ETERNAL และ NFT ของเกมเพื่อเริ่มเล่น และเหรียญส่วนหนึ่งที่ถูกใช้ในการซื้อไอเทมในเกมก็จะถูกนำไปใส่ใน Reward Pool เพื่อจ่ายให้กับผู้เล่นเก่านั่นเอง ซึ่งถ้าไม่มีผู้เล่นใหม่เข้ามา เกมก็จะไม่สามารถเติบโตต่อได้ ทำให้เกมไม่มีเงินจ่ายให้กับผู้เล่นเก่า ผู้เล่นจะเริ่มเทขายเหรียญ และ NFT เพื่อหนีออกจากเกม ทำให้เหรียญมีมูลค่าลดลงจนระบบเศรษฐกิจในเกมพังไปในที่สุด
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกมพังลง ก็คือ การนำระบบ Oracle มาใช้ทั้งในการสุ่มตัวละคร และรางวัลจากการเล่น โดยสามารถอธิบายได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ช่วงเริ่มต้นของเกม มูลค่าของเหรียญ $ETERNAL ยังไม่สูงมาก ผู้เล่นที่เข้ามาก่อน หรือที่เรียก ว่า “ผู้เล่นต้นสาย” จึงสามารถซื้อไอเทม NFT ในเกมได้จำนวนมากในราคาที่ถูก และการเล่นแต่ละครั้งก็ได้รับเหรียญ $ETERNAL จำนวนมากจากระบบ Oracle ที่ตรึงมูลค่า Reward ไว้ในหน่วยของเงิน Fiat แต่จ่ายออกมาเป็นเหรียญ $ETERNAL ทำให้ผู้เล่นที่เข้ามาในช่วงนี้ มีโอกาสที่จะเก็บตุนเหรียญ และ NFT ไว้ได้จำนวนมาก
2. ช่วงที่เกมเริ่มได้รับความนิยม กราฟมูลค่าของเหรียญ $ETERNAL จะเริ่มชันขึ้น เพราะมีผู้เล่นใหม่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยไอเทมในเกม ตรงจุดนี้ จำนวนผู้เล่นและราคาของเหรียญจะสามารถเติบโตได้มาก ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถคุมปริมาณเหรียญและเงินเฟ้อในระบบได้ เนื่องจาก Reward ของเกมที่ใช้ระบบ Oracle เมื่อเหรียญ $ETERNAL มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ปริมาณของเหรียญที่เกมต้องให้รางวัลผู้เล่นก็จะน้อยลงตาม นอกจากนี้ ยังเป็นจุดที่ “ผู้เล่นต้นสาย” สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และเริ่มชักชวนคนอื่นเข้ามาลงทุน จะเห็นได้ ว่า ผู้เล่นบางคนถึงขั้นนำรถ หรือบ้านมาแลกกับไอเทมในเกมเลยทีเดียว
3.ช่วงท้ายของเกม เมื่อเกมโตไปถึงจุดหนึ่ง ผู้เล่นที่เข้ามาใหม่ก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับผู้เล่นเก่าที่สะสมเหรียญมานานเริ่มทยอยขายเพื่อล็อคกำไร ทำให้ราคาเหรียญ $ETERNAL ตกลง ถึงจุดนี้ก็สายเกินไปแล้ว เพราะปริมาณเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมีจำนวนมากกว่าความต้องการของผู้เล่น ประกอบกับการใช้ระบบ Oracle ของเกมที่เมื่อเหรียญมีราคาตกลง เกมจะต้องจ่าย Reward ให้กับผู้เล่นในหน่วยของเหรียญ $ETERNAL มากขึ้นเพื่อตรึงมูลค่ากับ Fiat ทำให้เหรียญยิ่งเกิดการเฟ้อเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อรวมกับอารมณ์ของคนในเกมที่กำลัง Panic และเริ่มเทขายเหรียญกัน ก็จะเกิดเป็น Hyperinflation ที่กดราคาของเหรียญให้ต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 25,000 บาทจนเหลือเพียง 100 บาท ในตอนสุดท้าย สร้างความเสียหายกับมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทั้งที่เกมนี้มีอายุเพียงแค่ 2 เดือนกว่าเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า เกมในรูปแบบ Click-to-Earn นั่นมีความเป็น Money Game หรือ Ponzinomic อยู่มาก แต่ก็อาจจะไม่ใช่ GameFi ประเภท Click-to-Earn ทุกเกมที่ตั้งใจเล่นกับ Money Game หรือเป็นแชร์ลูกโซ่ซะทั้งหมด เพียงต้องการดึงฐานผู้เล่นก่อนจึงปล่อยเป็นรูปแบบ Click-to-Earn มาก่อน และในเฟสต่อไปพัฒนาเข้าสู่การเป็นเกมที่มีรูปแบบ Game Play ที่มีความเฉพาะตัว และมีคุณภาพมากขึ้นก็อาจจะเป็นเกมที่สำเร็จได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่เกมจะประสบความสำเร็จและอยู่รอดในระยะยาว ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ปริมาณรายได้ที่เกมนั้นสร้างขึ้น หรือ ROI ที่รวดเร็ว แต่เป็นความตั้งใจของผู้พัฒนาที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจของเกม และสามารถสร้าง Gameplay ที่มีคุณภาพออกมาจนสามารถครองใจผู้เล่นได้นั่นเอง
บทเรียนจากการลงทุนในโลก GameFi
โลกคริปโตเป็นโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง รวมไปถึงโลก GameFi ที่เพิ่งกลายเป็นกระแสในช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีเกมใหม่ๆ เปิดขึ้นตามกระแสเป็นจำนวนมาก หลายเกมสามารถอยู่รอดและสร้างรายได้ให้กับผู้เล่น แต่ก็มีหลายเกมที่ต้องปิดไปไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจ Rug pull ของผู้พัฒนา หรือการพบจุดบกพร่องต่างๆ ในเกม การที่เราจะเลือกลงทุนในเกมแต่ละเกม จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาโปรเจคอย่างถี่ถ้วน
ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของทีมผู้พัฒนา ความปลอดภัยของ Smart contract จากการ Audit รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจภายในตัวเกมซึ่งสำคัญอย่างมากกับการคงอยู่ของเกมในระยะยาว จะเห็นได้ว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยซ่อนอยู่เต็มไปหมด ดังนั้น เราต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เรากำลังจะลงทุน แม้ว่าจะเป็น GameFi ก็ต้องเข้าใจว่า เป็นรูปแบบไหน และรู้จักประเมิน Risk and Reward ในการเลือกลงทุนทุกครั้ง
--------------------------
ติดตามข่าวสาร ความรู้ทางการเงิน-การลงทุนได้ที่
Facebook : Clubhoon
Website : www.Clubhoon.com
Twitter : www.twitter.com/Clubhoon1