Crypto

รู้จัก DeFi เทคโนโลยีการเงินแบบดิจิตัล น่ากลัว หรือ น่าลอง ..
13 ธ.ค. 2564

DeFi ถูกพูดถึงกันมากอีกครั้ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ห้ามกองทุนสินทรัพย์ดิจิตัลเข้าลงทุนและห้ามให้คำปรึกษาการลงทุนใน DeFi โดยให้เหตุผลว่ามีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถติดตามได้  ฟังดูมีเหตุผล แต่ทำไมแพลตฟอร์ม DeFi ถึงคงอยู่แถมมีนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมวง จนทำให้ community นี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 

DeFi คืออะไร ?

 

DeFi หรือ Decentralized Finance แปลความได้ว่า คือ

”ระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือระบบการเงินกระจายศูนย์” นึกภาพโลกปัจจุบันที่เราคุ้นเคย หรือระบบโลกการเงินแบบ Centralized Finance ที่มีธนาคารเป็นตัวกลาง ไม่ว่าเราจะฝากเงินหรือกู้เงิน เราต้องไปที่ธนาคารเพื่อจัดการทำธุรกรรม ธนาคารคือตัวกลางรับฝาก หรือปล่อยกู้ และมีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย โดยอาศัยความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ โดยมีธนาคารกลางคอยกำกับดูแลอีกชั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงิน เป็นอย่างนี้เรื่อยมาร่วม 100 ปี นี่คือระบบการเงินแบบ Centerlised Finance

 

อยู่มาวันหนึ่งคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเขียน smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะ บนเทคโนโลยีบล็อคเชน แล้วบอกว่า มันมีความปลอดภัยสูงต่อการโจรกรรมทางไซเบอร์  และเปิดโลก DeFi ขึ้นมา  ผู้ฝากเงินและผู้กู้เงินสามารถ ฝาก ถอน กู้ยืม ค้ำประกัน รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่ระบบการเงินปัจจุบันทำได้ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงตลาดเงิน สินทรัพย์ หรือแม้แต่หุ้นเลยทีเดียว ทั้งหมดนี้สามารถทำได้บน DeFi

แบบไม่มีตัวกลาง “ธนาคาร” เข้ามายุ่งเกี่ยว ทำธุรกรรมบน smart contract แต่ทำในรูปของเงินดิจิตัล ดังนั้นจึงสะดวกต่อผู้ที่ทำธุรกรรมด้านดิจิตัลหรือครอบครองเหรียญคริปโตอยู่แล้วสามารถเข้ามาร่วมวงได้ทันที

 

DeFi เกิดขึ้นครั้งแรกจากการรวมตัวกันของคอมมูนิตี้ Ethereum Developer ในโปรเจกต์ต่าง ๆ เช่น MakerDao Kybernetwork Compound และอื่น ๆ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีความชำชาญด้านบล็อคเชนและได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดจนถึงปัจจุบันก็ว่าได้

 

ผลตอบแทนในการฝากเงินใน DeFi แพลตฟอร์มในไทย ว่ากันว่า สูงถึง 10-20% จึงเริ่มดึงดูดให้กองทุน เฮจด์ฟันด์ หรือกองทุนส่วนบุคคลเริ่มแบ่งเงินเข้ามาฝากใน DeFi ผู้กู้ก็เป็นรายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยใน DeFi สูงโหดไปหรือไม่? ให้ลองพิจารณาเปรียบกับดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลหรือบัตรเครดิตที่บางธนาคารมีอัตราสูงสุดกว่า 20% ในปัจจุบัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5% กำไรส่วนต่างช่างงดงาม…

 

ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสินทรัพย์ดิจิตัลประเมินกันคร่าวๆ ว่า ขนาดสินทรัพย์ใน DeFi แพลตฟอร์มในขณะนี้ น่าจะอยู่ในระดับหลายพันล้านบาท ซึ่งก็ยังเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดตลาดเงินฝากธนาคารที่มีในระดับ 14-15 ล้านล้านบาท ระบบสินเชื่ออีกกว่า 17 ล้านล้านบาท

 

แต่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิตัลนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด อ้างอิงข้อมูลจาก ก.ล.ต. ทั้งปริมาณนักลงทุนที่เข้าลงทุนซื้อขายคริปโตและมูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โเยในปีนี้จำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน และปริมาณการซื้อขายคริปโตเฉลี่ยต่อวันน่าจะอยู่ในระดับหมื่นล้านบาทแล้ว แสดงว่าคนไทยถือเงินคริปโตไม่น้อย และแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

นั่นหมายถึงว่าปริมาณการทำธุรกรรม  DeFi ก็น่าจะสูงเช่นกัน แต่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากอำนาจในการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว ตามที่ ก.ล.ต. กล่าวไว้

 

และถ้าธุรกรรม DeFi ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆละ คนพากันไป ฝากๆ ถอน ๆ กันในบล็อกเชน “แบบไร้ตัวกลาง” กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันเองทั้งผู้ฝาก ผู้กู้  คนไปธนาคารก็อาจจะลดลง เงินคริปโตก็จะกองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่เงินตราที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ แม้ว่าในเชิงปริมาณยังดูน้อยอยู่เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่การเติบโตแบบก้าวกระโดดดูจะสร้างความกังวลให้ธนาคารในทุกประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะนี่คือเทรนด์โลก

 

DeFi  ปลอดภัยหรือไม่ เงินจะหายหรือเปล่า?

 

ในส่วนนี้ ผู้เชี่ยวชาญในวงการ DeFi  “กานต์นิธิ ทองธนากุล” ผู้ก่อตั้ง Bitcoin Addict Thailand  ได้อธิบายและเขียนไว้บนบทความของ Techsauce ว่า

 

ตัวอย่างของ smart contract คือ ‘อีธีเรียม’ Ethereum (เหรียญคริปโตฯ ที่นิยมเป็นอันดับสองรองจากบิตคอยน์) ถูกสร้างขึ้นโดย ‘Vitalik Buterin’ เมื่อหกปีที่แล้ว โดยอีธีเรียมเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ให้ผู้พัฒนาอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่เขียนโปรแกรมซับซ้อนลงไป หรือนำแพลตฟอร์มอื่นมาปลั๊กอินกับบล็อกเชนของอีธีเรียมเพื่อสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจของตัวเองได้  เช่น เว็ปขายงานศิลปะ NFT ดังๆ หลายเว็ปก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ดำเนินการบน Ethereum เหมือนกัน ซึ่งการซื้อขายแลกเปลี่ยนก็แน่นอนว่าด้วยเหรียญ Ethereum นั่นเอง

 

และบน smart contract นี่แหละที่ๆ บรรดา DeFi ถือกำเนิดขึ้น ผู้พัฒนาหลายรายบอก ว่า ถ้ามันโอนเงินโดยไม่ต้องมีตัวกลาง ธุรกรรมอื่นๆ ก็ไม่ต้องมีตัวกลางได้สิ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน การแลกเปลี่ยนสกุลเงิน การค้ำประกันต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ถ้าเราเชื่อใจร่วมกันในโค้ด

 

และด้วยการที่แพลตฟอร์ม DeFi ต่างๆ ทำงานด้วยโค้ดหรือรหัสคำสั่งโปรแกรมบนบล็อกเชน (smart contract) ที่มีความน่าเชื่อถือ หากโค้ดนั้นๆ ระบุ ว่า จะมีเพียงเราซึ่งเป็นเจ้าของเท่านั้นที่สามารถฝาก-ถอนเงินของเราได้ มันก็จะเป็นเช่นนั้นเสมอ จึงไม่มีทางเลยที่เจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi จะสามารถขโมยหรือถอนเงินของเราออกไปได้ และสิ่งนี้เองที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเชื่อใจในมนุษย์อีกต่อไป เราเพียงแค่เชื่อใจในโค้ดก็พอ

 

แต่ในทางตรงกันข้ามหากโค้ดของแพลตฟอร์ม DeFi นั้นๆ ตั้งใจเขียนออกมาเพื่อขโมยเงินของเรา และเราไม่ได้ตรวจสอบให้ดี เราก็สามารถสูญเสียเงินได้เช่นกัน ผมจึงขอนิยามโลก DeFi ว่า ‘Code is law’ หรือโค้ดคือกฎของทุกสิ่ง” กานต์นิธิ ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง DeFi ก็มีความเสี่ยง ด้วยความใหม่และยังไม่ได้ถูกกำกับให้เงินดิจิตัลชำระได้ตามกฎหมาย และด้วยตัวแพลตฟอร์มที่เปิดแบบ open source ให้ใครก็ได้มาเขียนโค้ดปลั๊กอินพัฒนาบนบล็อกเชนนั้นๆ นี่เอง เป็นเหตุผลให้ผู้พัฒนาหลายรายมุ่งเน้นแต่การพัฒนาตัวธุรกิจ และละเลยเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

 

เราเลยได้เห็นข่าวการโจรกรรมไซเบอร์บน DeFi อยู่เนืองๆ ดังนั้น ผู้ที่คิดจะเข้าไปใช้งานต้องประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองจะรับได้ให้ดี เพราะที่แห่งนี้ไม่มีใครเข้าไปกำกับดูแล และติดตามได้ยากมาก

 

โดยสรุปในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม และกำลังก้าวสู่ยุคจักรวาลนฤมิต-เมตาเวริ์ส ระบบการเงินดิจิตัลจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราจะดูแลความสมดุลย์ และเปลี่ยนผ่านไปอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศให้มั่นคง เพราะเสถียรภาพของค่าเงินยังคงสำคัญกับภาคธุรกิจหลัก โดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออก ที่ยังต้องอาศัยค่าเงินในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าล่วงหน้า หากค่าเงินใดๆ ที่ผันผวนมากจนไม่อาจจะกำหนดค่าได้ ในที่สุดจะเหมือนบางประเทศที่ต้องใช้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นค่ากลางอ้างอิง หรือ ใช้ Bitcoin ซึ่งก็ดูเกินจะรับได้  ดังนั้น เรื่องนี้ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกประเทศเผชิญอยู่

--------------------------
ติดตามข่าวสาร ความรู้ทางการเงิน-การลงทุนได้ที่
Facebook : Clubhoon
Website : www.Clubhoon.com
Twitter : www.twitter.com/Clubhoon1

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com