Crypto

ยิ่งห้ามยิ่งโต! DeFi แพลตฟอร์มที่ ก.ล.ต. ห้ามลงทุนแต่นักลงทุนไม่อยากให้ปิดกั้น
9 ธ.ค. 2564

ยิ่งห้ามยิ่งโต!  DeFi แพลตฟอร์มที่ ... ห้ามลงทุน แต่แวดวงผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิตัลคาดว่าจะโตต่อเนื่อง ด้านนักลงทุนชี้ไม่อยากให้ปิดกั้น  แต่อยากให้เน้นการเปิดเผยข้อมูลมากกว่า

 

เรื่องสินทรัพย์ดิจิตัล ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นที่สนใจอย่างมากของนักลงทุนและภาคธุรกิจในปัจจุบัน

 

วันก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งจะออกมาประกาศไม่สนับสนุนการใช้คริปโตฯ หลังจากที่หลายๆบริษัทเริ่มทำแคมเปญรับเหรียญแลกซื้อของ แลกสินค้ากันมากมาย

 

วันนี้สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมห้ามกองทุนสินทรัพย์ดิจิตัล ลงทุนใน Decenterlised Finance (DeFi)  และห้าม บริษัทให้คำปรึกษาในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิตัล ให้คำปรึกษาการลงทุนใน DeFi ด้วยเช่นกัน

 

DeFi คือ ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ที่จะตัด ตัวกลาง” ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ออกไปเพื่อให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่ำลง 

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างการสำรวจความคิดเห็นหรือ การทำ hearing จากแวดวงผู้ประกอบการและผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิตัล ก่อนที่รวบรวมความเห็นและประกาศบังคับใช้ต่อไป

 

โดยใจความสำคัญที่ ก.ล.ต.ได้แสดงความห่วงใยและได้เน้นย้ำในการห้ามกองทุนลงทุนและห้ามให้คำแนะนำลงทุนก็คือ 

 

“มีกรณีที่เป็นการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้เสียหายและอาจไม่มีโอกาสในการดำเนินคดีหรือติดตามทวงคืน มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอำนาจในการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว”

 

“การทำธุรกรรมดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ มีรูปแบบและลักษณะของบริการที่หลากหลาย รวมทั้งอาจจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด”

 

คริปโตมายด์แยกสินทรัพย์ DeFi ออกจากกองทุน Merkle Capital

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่า บริษัทคริปโตมายด์ จำกัด ซึ่งได้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการกองทุนสินทรัพย์ดิจิตัล ที่ชื่อว่า Merkle Capital ก่อนที่จะมีกฎหมายสินทรัพย์ดิจิตัลประกาศใช้  เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ บริษัทจึงยื่นขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

ดังนั้นในกองทุน Merkle Capital ย่อมมีสินทรัพย์ประเภท DeFi อยู่ในกองทุนด้วย ซึ่งทางคริปโตมายด์ก็ได้จัดการแยกสินทรัพย์ประเภท  DeFi ออกไปจากกองทุน Merkle Capital  สุดท้ายเหลือสินทรัพย์ภายใต้การบริหารใน Merkle Capital เพียง 300-400 ล้านบาท   สำหรับสินทรัพย์ประเภทลงทุนใน DeFi ถูกแยกออกไปตั้งกองทุนใหม่ มีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท

 

“เราได้แจ้งนักลงทุนทุกคนว่า กองทุน DeFi ที่แยกออกไปนั้นจะเป็นกองทุนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิตัล นักลงทุนต้องรับความเสี่ยงในการลงทุนเองทั้งหมด ส่วนสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้กองทุน Merkle Capital ก็จะเป็นสินทรัพย์ดิจิตัลที่ ก.ล.ต.อนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งนักลงทุนมีความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงที่แจ้งให้ทราบและยังคงสมัครใจจะลงทุนใน กองทุน DeFi ต่อไป” นายกานต์นิธิ ทองธนากุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคริปโตมายด์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกองทุน Merkle Capital กล่าว

 

ผู้ประกอบการด้านสินทรัพย์ดิจิตัลรายหนึ่งประเมินว่า ปริมาณธุกรรมในโลก DeFi น่าจะมีปริมาณหลายพันล้านบาทในปัจจุบัน เนื่องจากในระยะหลังมีกองทุน Private Fund เข้ามาลงทุนฝากเงินใน DeFi platform เพิ่มมากขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับอาจสูงราว 10-20% ในขณะที่ฝั่งผู้กู้นั้นส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย ที่นำเงินกู้ไปต่อยอดการลงทุนในเหรียญคริปโตอีกทอดหนึ่ง

 

นักลงทุนไม่อยากให้ปิดกั้น แต่ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูล เพื่อการตัดสินใจลงทุน

 

ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย และผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แสดงความเห็นว่า การมีมืออาชีพมาช่วยลงทุน หรือ ทำบทวิเคราะห์ออกมา มีความเสี่ยงน้อยกว่านักลงทุนเข้าไปลงทุนโดยขาดความรู้

 

ถ้า ก.ล.ต. ห่วงว่าผู้ประกอบธุรกิจจะเอาเงินลูกค้าไปลงทุน DeFi ก็กำหนดเลยว่า กองทั่วไปทำไม่ได้ แต่ถ้ากองไหนมีเงื่อนไขข้อกำหนดให้ทำได้ และลูกค้ายอมรับความเสี่ยงนั้น ก็สามารถทำได้

 

หรือจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมในการป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุน ก็สามารถกำหนดได้

 

“การไปห้ามเขาประกอบธุรกิจเลย เท่ากับผลักให้คนไทยไปใช้ platform ของต่างประเทศโดยขาดความรู้ เงินไหลออก แถมยังเสี่ยงโดนหลอกอีกด้วย”

 

และยิ่งเรื่อง Advisory ห้ามแนะนำเรื่อง DeFi ยิ่งไม่เห็นด้วยเข้าไปใหญ่

 

ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมต้องแนะนำด้วยความรู้ความสามารถ มีจรรยาบรรณในการแนะนำ ถ้าห่วงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก.ล.ต. ก็กำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่าเขาต้องเปิดเรื่องอะไรบ้าง เช่น ได้ผลประโยชน์อะไรไหมจากการทำบทวิเคราะห์นั้น ผู้บริหารมีส่วนอะไรบ้างใน DeFi ดังกล่าวหรือไม่

 

“ทุกวันนี้ ประเทศเรามีข้อมูลเรื่องหวยที่มอมเมาออกมาเยอะแยะ ไม่เห็นจะมีใครห้าม เดี๋ยววัวหกขา ต้นไม้ผิดปกติ เลขทะเบียนนายกฯ พวกนี้ยังเอามาใบ้หวยกันได้สนุกสนาน ไม่มีความผิด

 

แต่พอผู้ประกอบธุรกิจจะให้ความรู้ประชาชน ก.ล.ต. กลับไม่สนับสนุน ก็แปลกดีนะครับ

 

เข้าใจว่า ก.ล.ต. เป็นห่วงประชาชน แต่ผมก็อยากให้ ก.ล.ต. มองในมุมของประชาชนที่ควรจะมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนและข้อมูลด้วย

 

ก.ล.ต. เป็นห่วงเรื่องไหน ก็เชิญผู้ประกอบธุรกิจมานั่งคุย หาวิธีการร่วมกันในการควบคุมความเสี่ยงเรื่องนั้นให้ได้มากที่สุด (แต่ไม่มีทางเป็น 0)

 

ผมว่าแบบนี้ดีกว่าปล่อยให้เงินทุนไหลออก และชาวบ้านไปลงทุนโดยขาดความรู้นะครับ” ดร.พีรภัทร กล่าว

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างทำ hearing สำรวจความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถให้ความเห็นกันได้ภายในวันที่ 7 ม.ค. 65 นี้

 

 

#clubhoon   #กลต   #DeFi    #DigitalAsset   #cryptomind   #MerkleCapital

--------------------------
ติดตามข่าวสาร ความรู้ทางการเงิน-การลงทุนได้ที่
Facebook : Clubhoon
Website : www.Clubhoon.com
Twitter : www.twitter.com/Clubhoon1

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com