Crypto

วีซ่า ชี้คนไทยสนใจลงทุนคริปโทฯสูง Gen Y-Z รอใช้คริปโทฯชำระเงิน ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดปี 70
3 มี.ค. 2565

วีซ่าในไทย เปิดผลสำรวจคนไทยสนใจลงทุนคริปโทฯ เกือบ 70%ของกลุ่มสำรวจ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้ง Gen YและZ สนใจใช้คริปโทชำระเงินสูงเกือบ 80%  ระบุประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า  ร้านค้าจะรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์  ด้านยอดใช้จ่ายผ่านบัตรวีซ่าช่วงโควิด 2 ปีสะดุดตามภาคท่องเที่ยวหดตัวแรง

 

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ๋า ประจำประเทศไทย ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เปิดเผยว่า ผลจากการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 1,000 คน อายุช่วง 18-65 ปี (กลุ่มเจนเนอเรชั่น X ถึง  Z) มีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาท  นั้น มีมุมมองต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่า คนไทยมีความสนใจในคริปโทเคอร์เรนซี่สัดส่วนถึง 69%ของผู้สำรวจ ขณะที่ไม่สนใจมีเพียง 12% และหากในอนาคตมีการเปิดชำระเงิน (Payment)ผ่านคริปโทเคอร์เรนซี่ จะมีกลุ่มที่อยู่เจน Y  ให้ความสนใจ 79%ของกลุ่มสำรวจ และกลุ่มที่อยู่เจน Z ให้ความสนใจ 75% ส่วนกลุ่มเจน X มีความสนใจ 61%

 

สำหรับวีซ่าในต่างประเทศ ได้มีการใช้คริปโทเคอร์เรนซ์ในการชำระค่าสินค้าและบริการอยู่ในหลายๆประเทศแถบยุโรป โดยวีซ่าในประเทศนั้นๆจะร่วมมือกับแพลตฟอร์มที่มีการใช้คริปโทฯชำระเงิน  ซึ่งบทบาทของวีซ่าจะเป็นเพียงตัวกลางในการเชื่อมโยงกับสกุล Fiat  (เงินเฟียซ) ส่วนรายละเอียดของการแปลงมูลค่าเป็นเงินสกุล จะขึ้นอยู่กับกฎกติกาของแต่ละประเทศกำหนดไว้

 

“มุมมองของผม เรื่องการใช้คริปโทฯเพย์เม้นท์ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแบงก์ชาติ ว่าจะออกมาทิศทางใด ซึ่งวีซ่าเราพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม วีซ่าในต่างประเทศ พบว่ามีหลายประเทศที่มีการใช้คริปโทเคอร์เรนซี่ในการชำระค่าสินค้าและบริการแล้ว โดยจะมีการออกบัตรให้และใช้เงินเฟียซใส่ในบัตร อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของบัตรที่ออกกับเงินเฟียซจะตีมูลค่ากันอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ออกและแต่ละประเทศด้วย” นายสุริพงษ์กล่าว

 

สำหรับผลสำรวจต่อการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) พบว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  ประเทศไทยมีการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดที่เร็วขึ้นภายใน 3-5 ปี หรือภายในปี 2570  จากเดิมคาดว่าจะใช้เวลาราว 7-8 ปี หรือปี 2573 โดยลักษณะของสังคมไร้เงินสดเต็มตัวจากประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย  ร้านค้าต่างๆเปิดช่องทางรับชำระทางออนไลน์กันจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการรับชำระเงินสดยังคงมีอยู่บ้างแต่อาจจะไม่ได้มีทุกร้าน

 

ข้อมูลจากผลสำรวจในประเทศไทย ว่าเกือบเก้าในสิบของคนไทยเลือกใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไร้เงินสด ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 87% จากปีที่แล้วมีสัดส่วน 82%  ซึ่งเมื่อเจาะลงไปกลุ่มคนเหล่านี้ พบว่าเกือบครึ่งหรือราว 43 % ของผู้ที่พยายามใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดสามารถอยู่ได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องพึ่งเงินสด

 

“โดย 79 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ไม่เคยใช้จ่ายแบบไร้เงินสด บอกว่า พวกเขารู้สึกมั่นใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ในช่วง 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผลการศึกษาในปีที่ผ่านมา ราว 22%ของที่สำรวจ สามารถอยู่ได้โดยไม่มีเงินสดในกระเป๋าภายใน 1 สัปดาห์ด้วย โดยเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีเพียง 17%” นายสุริพงษ์กล่าว

 

สอดคล้องกับฝั่งของคนไทยพกเงินสดลดน้อยลง ก็มีสัดส่วนมากกว่าสามในห้า หรือราว 61 % ของผู้บริโภคชาวไทยบอกว่าพวกเขาถือเงินสดน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลัก 3 ประการที่ลดการใช้จ่ายด้วยเงินสด ได้แก่ การเลือกชำระแบบดิจิทัลมากขึ้น (มีสัดส่วน 77%) ความกังวลเรื่องการติดต่อของโรคระบาดผ่านการถือเงินสด (54%) และจำนวนร้านค้าที่รับชำระแบบดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น (45%)

 

สำหรับหมวดร้านค้า 5 อันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยเห็นว่าจะดำเนินการแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ 67%  ชำระค่าบริการจ่ายบิล 64% ซูเปอร์มาร์เก็ต 62%  ระบบขนส่งสาธารณะ สัดส่วน 56% และร้านขายอาหารและร้านอาหารแบบนั่งทานในร้าน 55%

 

“ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งก่อนหน้า เราเห็นว่าตัวแปรหนึ่งที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยให้พึ่งพาเงินสดน้อยลง และก่อให้เกิดทัศนคติที่ดียิ่งขึ้นต่อการใช้จ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัล คือ สถานการณ์โรคระบาด ขณะที่ผลการศึกษาในปีนี้และการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลากหลายอุตสาหกรรม เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มกลายเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคเลือกที่จะทำด้วยตนเองมากกว่าที่จะถูกผลักดันจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้จะถาวรและยั่งยืนมากขึ้น”นายสุริพงษ์กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความต้องการของผู้บริโภคในการใช้จ่ายผ่านบัตรชำระเงิน หรือสมาร์ทโฟนที่จุดรับชำระ ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบคอนแทคเลส พบอีกว่า เกือบ 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีการรับรู้เกี่ยวกับบัตรคอนแทคเลส โดยในกลุ่มของผู้ที่ยังไม่เคยใช้งานจำนวน 86 % มีความสนใจการชำระเงินรูปแบบนี้  

 

โดยวีซ๋าในไทยได้ขยายบริการ Payment Gateway ให้แก่ผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตกับระบบขนส่งสาธารณะโดยได้ร่วมมือกับ 4 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง  ทางพิเศษโทลเวย์ และจะมีรถประจำทางและขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต

 

“ระบบชำระเงินแบบคอนแทคเลสกำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าปลีกทางกายภาพและการเดินทาง ปัจจุบันบัตรเครดิตแบบคอนแทคเลสชำระค่าบริการได้แล้วที่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง” นายสุริพงษ์กล่าว

 

สำหรับยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของวีซ๋าในประเทศไทย นายสุริพงษ์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์การระบาดโรคโควิด ส่งผลกระทบต่อยอดใช้จ่ายโดยรวมของวีซ่า แม้ว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิรซ์เติบโตสูงมาก แต่ก็พบว่าไม่สามารถทดแทนภาพรวมยอดใช้จ่ายของช่วงปีก่อนโควิด

 

เนื่องจากยอดใช้จ่ายที่เกิดจากการท่องเที่ยวที่หายไปจากมาตรการล็อกดาวน์ห้ามเดินทางของแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นรายการที่มียอดใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่ไม่ว่าจะเดินทางเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม แม้ปัจจุบันมีการเปิดประเทศ แต่คนส่วนใหญ่ยังมีการเดินทางค่อนข้างน้อยกว่าปกติ เพราะฉะนั้น จึงเหลือเพียงยอดใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งก็คาดหวังสถานการณ์ท่องเที่ยวจะค่อยๆดีขึ้นกลับมาได้

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com