ก.ล.ต. คึก!! ปลุกตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เปิดทางให้กองทุน ลุยไฟเข้าลงทุน 'โทเคน- คริปโทฯ' เปิดเฮียริ่ง พ.ค. นี้ และปรับเกณฑ์ไฟลิ่ง Investment Token เปิดทางระดมทุนอ้างอิง 'เพลง-หนัง'ดัง รับโลกซอฟพาวเวอร์ของรัฐบาล พร้อมจ่อเพิ่มโทษแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลเถื่อน
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค. นี้ เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) เรื่อง การเปิดให้ภาคธุรกิจจัดการกองทุนสามารถเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดย ก.ล.ต. จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ กำหนดประเภทของกองทุน มูลค่าเงินลงทุน ความเสี่ยงของการลงทุน ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีทั้ง Investment Token และ Crytptocurrency เป็นทางตรงและทางอ้อม จะเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยที่มีการลงทุนผ่านกองทุนรวม
นอกจากนี้ ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนด้าน Soft Power เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล จึงเตรียมจะเปิดเฮียริ่งเรื่องปรับปรุงหลักเกณฑ์ไฟลิ่ง Investment Token ในรูปแบบ Shelf Filling เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการระดมทุนผ่าน Investment Token โดยอ้างอิงพวกเพลงดังๆ หรือหนังที่มียอดเข้าชมสูงๆ
นายเอนก กล่าวถึง ปัญหาผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต (ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเถื่อน ว่า ก.ล.ต. ได้นำส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเถื่อนไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเถื่อน เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย และป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน เป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และพบการสร้างบัญชีม้า และการหลอกลวงประชาชนให้เข้ามาลงทุนทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเถื่อน ที่ชักชวนให้มีการใช้บริการในไทย โดยกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กรณี Binance และ กรณีบริษัทBybit Fintech Limited (Bybit)
รวมทั้ฝก.ล.ต.ยังเข้มงวดกับการป้องกันการโฆษณาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บังคับไม่ให้มานำเสนอแก่ผู้ลงทุน รวมถึงผู้จัดงานและกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ไม่ให้นำเสนอแก่ผู้ลงทุนภายในงาน ซึ่งเป็นการช่วยปกป้องผู้ลงทุน
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. กำลังศึกษาเพิ่มบทลงโทษทางแพ่ง เช่น เพิ่มค่าปรับจากเดิมบทลงโทษทางแพ่งกรณียินยอมจะมีการเปรียบเทียบปรับรวมเฉลี่ยราว 1.25 เท่าของมูลค่าประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งแนวทางป้องปรามในอนาคต