Crypto

ก.ล.ต. เผยนักลงทุนกว่า 46 %เน้น “เก็งกำไร” ไร้ความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
17 พ.ค. 2565

ก.ล.ต.เผยผลสำรวจการลงทุนคริปโตในไทยโตกว่า 10 เท่า พบนักลงทุนกว่า 46 %มุ่งเน้น “เก็งกำไร” และส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก  

 

กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกำลังเป็นที่นิยมของนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก จำนวนบัญชีของผู้ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 เติบโตมากกว่า 10 เท่าจากปี 2563 (เพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนบัญชี เป็น 2.5 ล้านบัญชี) 


ฝ่ายวิจัย ก.ล.ต. จึงได้ทำการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจและเก็บข้อมูลผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ทราบถึงลักษณะ ทัศนคติ ประสบการณ์ รวมไปถึงพฤติกรรมในการลงทุนของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสำรวจและเก็บข้อมูลต่าง ๆ ด้วยวิธี Social Intelligence Analytics (SIA) ซึ่งเป็นวิธีที่ทันสมัยและเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สามารถเก็บข้อมูลในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว โดยการศึกษานี้ จัดแบ่งการเข้าถึงข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลออกเป็น 3 วิธี ดังนี้


วิธีแรก การเก็บข้อมูลบนช่องทาง social media ซึ่งทางผู้วิจัยได้เลือกช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2564 เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยสามารถเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้กว่า 300,000 ความคิดเห็น โดยพบว่า Twitter เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุด อยู่ที่ประมาณ 47% รองลงมาเป็น Facebook ที่ 33% (รูปที่ 1) 

รูปที่ 1 จำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลบนช่องทางต่างๆ
 


จากผลสำรวจยังพบประเด็นที่น่าสนใจในด้าน เป้าหมายในการลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยหันมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยพบว่า ร้อยละ 46 มองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงจึงเลือกเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่ร้อยละ 33 มองว่าเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาว ขณะที่อีกร้อยละ 11 เห็นว่าเป็นแหล่งออมเงิน และร้อยละ 10 มองว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำเงินได้ง่ายกว่างานประจำที่ทำอยู่ ส่วนด้าน หลักเกณฑ์ในการลงทุน พบว่า ส่วนใหญ่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) เช่น การวิเคราะห์กราฟ คิดเป็นร้อยละ 41 ลงทุนโดยการติดตามข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 26 และ ลงทุนโดยอาศัยสัญชาตญาณ คิดเป็นร้อยละ 25


วิธีที่สอง Search Data เป็นการสำรวจจากคำที่ใช้ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล        ซึ่งแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้อ้างอิงนั้นมาจากแพลตฟอร์ม search engine ของ google โดยคำค้นหาตัวอย่างที่นำมาแสดงในการศึกษานี้เป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง 4 ปี เพื่อให้เห็นภาพรวมการเติบโต           ของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งคำหรือคีย์เวิร์ดแรกที่ถือว่าเป็นตัวแทนของภาพรวมสินทรัพย์ดิจิทัลคือ “คริปโต” หรือ “คริปโตเคอร์เรนซี" โดยจากข้อมูลพบว่า ระดับความสนใจในการค้นหาคำว่าคริปโตนั้นเพิ่มขึ้นสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาของ “บิทคอยน์” หรือ “BTC” ขึ้นไปแตะที่หลัก 1 ล้านบาทและเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในช่วงเดือน เมษายน - พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาของ BTC ขึ้นไปถึง 2 ล้านบาท เห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการค้นหาข้อมูลคำว่า “บิทคอยน์” หรือ “BTC” (รูปที่2)

รูปที่ 2 ระดับความสนใจในการค้นหาคำว่า “คริปโต” และ “บิทคอยน์” ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง
 

 


 

วิธีที่สาม Community Survey โดยการสุ่มตั้งประเด็นคำถามความเห็นที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัล   ทางช่องทาง social media ต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter, Clubhouse เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มสัมภาษณ์ผู้ลงทุนในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ที่เลือกลงทุนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมีประสบการณ์จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นมาก่อนแล้ว กลุ่มผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จากการรวบรวมสรุปได้ว่า หลายคนไม่แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหากไม่สามารถรับความเสี่ยงหรือความผันผวนได้ ควรจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ตนเองมีความเข้าใจมากกว่า แต่อาจซื้อเก็บไว้บางส่วนเพื่อใช้ในการเก็งกำไร หรือหากอยากลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีความเชื่อและศรัทธาด้วยว่าจะสามารถเปลี่ยนระบบการเงินของโลกได้ โดยมีความคิดเห็นทั้งในด้านบวกและด้านลบ เช่น ด้านบวกมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นจึงมีแนวโน้มเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอนาคต ด้านลบมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนราคาในตัวสินทรัพย์ ดังนั้นการเข้าไปลงทุนจึงเหมือนการโยนหัวก้อยที่ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้


จากการเก็บข้อมูลทั้ง 3 วิธี สามารถสรุปความคิดเห็นและทัศนคติของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสินทรัพย์ดิจิทัลได้ว่า การฝากเงินกับธนาคารก็อาจไม่ปลอดภัยเสมอไป เพราะยังมีข่าวเงินฝาก     ในบัญชีสูญหาย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการฝากเงินใน Decentralized Finance (DeFi) อย่างไรก็ดี ภาพรวมผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ในสินทรัพย์ดิจิทัลมากนัก จึงมักลงทุนตามคำแนะนำของเพื่อน influencer Youtuber หรือกูรูที่เป็นคนดัง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยเริ่มแรกคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนเพราะหวังว่าจะเป็น passive income  แต่พอเห็นว่ากำไรดี ได้เงินง่ายจึงเริ่มลงทุนมากขึ้น แม้รู้ว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนไปนั้นมีความเสี่ยงสูง 


นอกจากนี้ Generation ของช่วงอายุคนมีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนด้วยเช่นกัน คนรุ่นเก่าจะไม่ค่อยสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลเพราะมองว่าความเสี่ยงสูง ไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้ ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ตั้งแต่รุ่น Gen Y เป็นต้นมากล้าที่จะลงทุนมากกว่า โดยศูนย์ซื้อขายนั้นมีส่วนที่เปลี่ยนมุมมอง      ต่อสินทรัพย์ดิจิทัลของคนไทย ศูนย์ซื้อขายที่ได้รับความนิยมสูงมักเป็นศูนย์ซื้อขายที่มีการทำการตลาดสูง สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยผู้ลงทุนหน้าใหม่บางส่วนเลือกที่จะไปใช้บริการศูนย์ซื้อขายที่เป็นของต่างประเทศเพราะมีฟังก์ชันและระบบในการซื้อขายให้เลือกมากกว่า
    

ถึงแม้ว่าการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างมาก แต่จากข้อมูลพบว่า ภาพรวมคนไทยส่วนใหญ่ยังสนใจในหุ้นเป็นหลัก โดยปัจจัยที่ทำให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การได้ความยอมรับในวงกว้าง (mass adaptation) ของ BTC รวมไปถึงแนวโน้มของราคา BTC ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ


กลุ่มมือใหม่ เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ติดตามกราฟของราคารายวัน พยายามหาจังหวะเพื่อเข้าซื้อหรือขายอยู่ตลอด นอกจากนี้ยังมีการควบคุมพอร์ตของตัวเองเพื่อกระจายความเสี่ยงอยู่เสมอ


กลุ่มสายซิ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่อยากศึกษาหาความรู้ เลือกที่จะลงทุนตามคำแนะนำจากคนรอบข้าง หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยมีลักษณะการลงทุนแบบกล้าได้กล้าเสีย ไม่ค่อยประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และมีความคิดว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถทำกำไรได้ง่าย
    

กลุ่มย้ายพอร์ต เป็นกลุ่มที่เคยลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อนและเข้าใจถึงความผันผวนและความเสี่ยง   ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มองว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น และเริ่มมีการเพิ่มน้ำหนักในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยไปลดสัดส่วนการลงทุน ในสินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้น


ลักษณะที่พบร่วมกันใน 3 กลุ่มนี้ คือ ขาดการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยให้น้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงอย่างเดียว หรือมีสัดส่วนการลงทุนที่มากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารพอร์ตอย่างเหมาะสม มีการกระจายความเสี่ยง 


จากการสำรวจเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น รวมถึงมีการลงทุนตามกระแส หรือตามผู้อื่น ไม่ได้ทำการวิเคราะห์ด้วยตนเอง ขาดการกระจายการลงทุน และให้ความสนใจกับตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเป็นหลัก ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว ก.ล.ต. ได้นำมาปรับใช้ในการให้ความรู้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เผยแพร่คลิปความรู้ “คริปโท 101” รายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ รวมทั้งการออกข่าวเตือนและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ข้อควรระวังเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสมและเพียงพอยิ่งขึ้นของผู้ลงทุนต่อไป

นายพงศธร ปริญญาวุฒิชัย 
ฝ่ายวิจัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com