บทความ

วิธีรับมือความเสี่ยง-ภัยคุกคามโลกออนไลน์ ปกป้องข้อมูลตัวเอง...ตัดตอนโจรไซเบอร์เข้าถึงง่าย
28 เม.ย 2565

ทุกวันนี้ สังคมไร้เงินสดในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว  สอดคล้องกับวิถีชีวิตของทุกคนล้วนทำกิจกรรมต่างๆผ่านโลกออนไลน์ปริมาณมากมาย และมีแต่เทรนด์ขาขึ้นด้วย  ท่ามกลางข้อมูลต่างๆที่ปรากฏบนโซเซียลมีเดีย ล้วนเป็นเป้าหมายของเหล่ามิจฉาชีพ หรือที่เรียกกันว่า โจรไซเบอร์  ที่มีการทำงานเป็นกระบวนการอยู่ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยสารพัดรูปแบบผ่านระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถล้วงข้อมุลหรือแฮกได้แบบไม่ทันรู้ตัว  และหากเป็นเม็ดเงินก็ถูกถ่ายโอนผ่านบัญชีต่างๆของผู้มีส่วนร่วมทุจริตออกไปในเวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งยากจะตามกลับมาได้ทันการณ์แน่นอน  

 

แนวโน้มบรรดาโจรไซเบอร์ มีความกระหายอยากได้ข้อมูลต่างๆ ผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะแชทหรือโพสต์ต่างๆโลกโซเซียล มีเดีย การสวมรอย ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหลอกลวงให้โอนเงิน การปลอมสลิปโอนเงินเวลาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์  ไม่เว้นแม้แต่ข้อความ SMS และอีกสารพัดรูปแบบที่เกิดขึ้น จนทำให้เหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ไม่ทันระวังตัวหรือรู้ไม่เท่าทัน ต่างตกเป็นเหยื่อยสูญเสียเงินและสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ  

 

จะดีกว่าไหม! หากพวกเราจะป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้ด้วยตัวเราเอง  ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ ด้วยวิธีง่ายๆ เพิ่มความปลอดภัยให้ตัวเอง ลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญ "ข้อมูลไม่หลุด ตังค์อยู่ครบ"

 

“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้นำตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค ได้จัดเสวนาปันความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ พร้อมถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊คผ่านเพจ KTC Journey เพื่อให้คนไทยพร้อมรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามต่างๆ บนโลกไซเบอร์ที่กำลังทวีความรุนแรง  ตามปริมาณการทำธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ที่มีแนวโน้มเติบโตรวดเร็ว โดยผู้บริหารเคทีซี ได้แก่  นายไรวินทร์  วรวงษ์สถิตย์" ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ควบคุมงานปฏิบัติการและงานปฏิบัติการร้านค้า นายนพรัตน์ สุริยา ผู้จัดการ - ควบคุมและป้องกันการทุจริต และนายพันธ์เทพ ชนะศึก  ผู้อำนวยการ – หน่วยงานควบคุมและป้องกันการทุจริต ร่วมให้ความรู้และวิธีการรับมือเพื่อป้องกันตัวเองในโลกไซเบอร์

 

ข้อมูลเทรนด์การทำธุรกรรมโลกออนไลน์เติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะการชำระค่าสินค้าและบริการบนอีคอมเมิร์ซที่สูงต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม 9.79% ต่อปี ในช่วงปี 2560-2564 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดยผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านอี-มาร์เก็ตเพลซ มากที่สุด ในขณะที่ "ผู้ขาย" นิยมขายสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ มากที่สุด 

 

สำหรับช่องทางการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. แอปพลิเคชันของธนาคาร 2. ชำระเงินปลายทาง 3. ชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิท 4. โอนหรือชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร และ 5. ชำระด้วยวอลเล็ตของแพลทฟอร์ม 

 

ที่สำคัญอีกหนึ่งบริการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 คือ "การซื้อขายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออนไลน์" อาทิ บิทคอยน์ หุ้นและกองทุนรวม

 

 

ทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากการชำระซื้อสินค้าออนไลน์

 

ขณะที่ข้อมูลการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายทุจริตโดยทั้งระบบเชื่่อว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้นมาก หากดูในส่วนของเคทีซีเอง  ในแต่ละปีจะมีจำนวนลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาว่าอาจมีธุรกรรมที่เข้าข่ายทุจริต (Fruad) ราว 0.5%ของจำนวนบัตรทั้งหมด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วจะพบว่ามีกรณีเข้าข่ายธุรกรรมทุจริตจริงๆมีแค่ 0.25%เท่านั้น ถือว่าน้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีแนวโน้มที่จะเห็นการทุจริตเพิ่มตามปริมาณธุรกรรมออนไลน์ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องการเรียกเก็บซ้ำซ้อน ความผิดพลาดการทำธุรกรรม

 

มาดูลักษณะการทุจริตบนระบบการชำระออนไลน์ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น Friendly Fraud (การทุจริตจากคนแวดล้อมใกล้ตัว) Fake Website (เว็บไซต์ปลอม) Bin Attack (การสุ่มเลขบัตร) และโดยเฉพาะ Social Engineering (การหลอกโอนขอ OTP หรือ One Time Password และหลอกโอนเงิน) จากแกงค์คอลเซ็นเตอร์ หรือแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น ตำรวจหรือไปรษณีย์ เป็นต้น  โดยตัวอย่างเหตุการณ์ที่พบได้แก่ ผู้ทุจริตส่ง QR Code ปลอมหลอกให้ลูกค้าสแกนทำรายการ / ลูกค้าได้รับอีเมลหลอกลวงหรือหน้าเว็บไซต์ปลอม (Email Phishing) จากมิจฉาชีพ หลอกให้ทำการอัพเดทข้อมูลบัตรเครดิตและถูกนำไปใช้เข้าระบบและทำรายการธุรกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต


"ปีที่แล้ว ทิศทางการทำธุรกรรมทุจริตส่วนใหญ่จะมาจากการทำธุรกรรมซื้อขายในอีคอมเมิร์ซถึง 95% ส่วนปีนี้เห็นเทรนด์ทุจริตในรูปแบบขอ OTP
เพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วน 5% ทำให้ทุจริตทางอีคอมเมิร์ซ มีสัดส่วน 90% ดังนั้นการหลอกลวงขอ OTP มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในส่วนของทุจริต Bin Attack ก็มีหลายสถาบันการเงินใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกัน ด้านเครือข่ายระบบชำระเงินอย่าง วีซ่า มาสเตอร์ ฯลฯ ก็มีระบบป้องกันโดยเตือนบัตรที่สุ่มเสี่ยงจะถูกแฮกข้อมูล โดยแจ้งผ่านสถาบันการเงินที่ให้บริการลูกค้า ซึ่งเคทีซีก็มีการโทรแจ้งลูกค้าและเปลี่ยนบัตรใหม่ให้ ซึ่งที่เกิดขึ้นก็หลักร้อยบัตรเท่านั้น เคส Bin Attack เกิดน้อย และพวกมิจฉาชีพจะมีการเปลี่ยนประเทศเวลาเห็นประเทศไหนตื่นตัวก็ย้ายไปประเทศอื่น "

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในโลกของการชำระออนไลน์ที่ต้องมีความเสถียร ใช้งานง่ายและรวดเร็ว  นั่นก็คือ "ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า"  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกในการทำทุกธุรกรรมการเงิน ซึ่ง "เคทีซี" ได้พัฒนาระบบบริหารการป้องกันภัยทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ผ่าน 4 องค์ประกอบหลักคือ บุคลากร ทีมงานที่มีศักยภาพในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงและเพิ่มความรู้เท่าทันให้ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดความระมัดระวัง  กระบวนการปฏิบัติงาน มีมาตรฐานและยืดหยุ่นสูง เพื่อให้สามารถตรวจจับและป้องกันเหตุทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงกระบวนการงานทันสมัย ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต  การบริหารจัดการข้อมูล ติดตามและอัพเดทข้อมูลสถานการณ์ที่มีแนวโน้มการทุจริตทั้งจากภายในและต่างประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ  แต่สมาชิกและผู้บริโภคได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีการป้องกันตนเองในเบื้องต้นด้วยจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

วิธีรับมือป้องกันมิจฉาชีพยุคสังคมไร้เงินสด  

 

ผู้บริโภคสามารถร่วมป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ง่ายๆ โดย 1) ระมัดระวังไม่หลงเชื่ออีเมลลวง ทุกธนาคารและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายแจ้งให้ลูกค้าเข้าใช้บัญชีผ่านทางอีเมล  2) ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือ    3) ตั้งการแจ้งเตือนเมื่อมีการทำธุรกรรม ผ่าน SMS หรือให้อีเมลกับธนาคารและสถาบันการเงิน  4) ล็อคเอาต์ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน  

 

สำหรับการป้องกันความเสี่ยงจาก QR Code ปลอม ทำได้โดยตรวจสอบความเรียบร้อยสมบูรณ์ถูกต้องของ QR Code ใช้สแกนเนอร์ที่มีความปลอดภัยและมีฟังก์ชันเตือนเมื่อเป็น QR Code ปลอม / ระมัดระวังการสแกน QR Code ที่ติดตั้งในที่สาธารณะ / ไม่พิมพ์ข้อมูลส่วนตัวหลังจากสแกน QR Code / ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์หรือ URL หลังการสแกน QR Code เพราะมิจฉาชีพมักใช้ชื่อคล้ายคลึงกัน / หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดแอปฯ จาก QR Code ควรดาวน์โหลดจาก Apple Store หรือ Google Play แทน”

 

สำหรับสมาชิกเคทีซี แนะนำให้เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล ด้วยการดาวน์โหลดและใช้แอปฯ “KTC Mobile” ซึ่งปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นล็อคอินด้วยรหัสผ่าน 6 หลัก บนแป้นพิมพ์แบบไดนามิค เพื่อการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบผ่านการสแกนลายนิ้วมือ หรือสแกนม่านตาสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนซัมซุง แกแลคซี่ สะดวกด้วยระบบตั้งเตือนการใช้จ่ายผ่านบัตรทุกรายการ และยังสามารถกำหนดยอดใช้จ่ายที่ต้องการ พร้อมตั้งเตือนก่อนวันชำระ รวมทั้งบริการจำเป็นอื่นๆ ที่ลูกค้าสามารถตั้งค่าทำรายการได้ด้วยตนเอง เช่น การอายัดบัตรชั่วคราว การกำหนดวงเงินและการขอวงเงินชั่วคราว”

 

เคทีซียังได้มีการปรับข้อความเมื่อส่งรหัสผ่านสำหรับใช้ครั้งเดียว หรือ OTP โดยย้ำเตือนให้สมาชิกระมัดระวังการแจ้งรหัสให้กับบุคคลอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตเข้าถึงบัญชี นอกจากนี้ สมาชิกเคทีซีและผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบเว็บไซต์แปลกปลอมได้ผ่าน https://who.is เพื่อหาข้อมูลจดทะเบียนของเว็บไซต์ต่างๆ ได้ เนื่องจากปัจจุบันได้มีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นสถาบันการเงินที่มีการจดทะเบียนจริง แล้วสร้างเว็บไซต์ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หลอกให้ผู้เสียหายโอนค่าค้ำประกันวงเงินกู้ แต่ไม่มีการให้สินเชื่อแต่อย่างใด

 

แนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางออนไลน์ว่า เคทีซีทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสและติดตามสังเกตการณ์เหตุผิดปกติวิสัย ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตของมิจฉาชีพ เพื่อการป้องปราบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พัฒนาความช่วยเหลือปัญหาที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ไปอีกขั้น ด้วยการแจ้งเตือนภัย และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  หรือขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่โทร. 1441 นอกจากนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้เปิดสายด่วน โทร. 1212 เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคออนไลน์เชิงรุกตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com