บทความ

ประกันภัย...ทางม้าลายที่ลางเลือน ซื้อเพื่อประโยชน์ค้ากำไรหรือบริหารความเสี่ยงภัย
23 ก.พ. 2565

คนเราตั้งแต่เกิดและอยู่รอดเป็นทารก และก่อนที่จะสิ้นสภาพบุคคลจบลงที่ตาย ต่างรับรู้กันว่าการซื้อประกันภัยนั้นจะเป็นประโยชน์ ตายแล้วคนข้างหลังสบาย บาดเจ็บมีเงินมารักษา ไปทำทรัพย์สินเสียหายก็มีคนมาจ่ายให้

 

ประโยชน์สูงว่างั้นเถอะ!

 

ยิ่งกาลเวลาเคลื่อนคล้อยผู้คนมีจำนวนมากขึ้น บ้านเมืองเจริญขึ้น ความเสี่ยงภัยย่อมมีมากขึ้น ประโยชน์สูงจากการประกันภัยย่อมถูกยกระดับให้สูงส่งตามไปด้วย ในขณะเดียวกันวงเงินหมุนเวียนได้หมุนเวียนวนในธุรกิจประกันภัยจากหลักล้านเป็นหลักสิบล้านเป็นหลักพันล้าน

 

ณ ปัจจุบันสะพัดในแวดวงประมาณล้านล้านบาท!

 

โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันภัยในปี 2565  ถ้าจีดีพีขยายตัว 3.7%-3.9%  เบี้ยประกันภัยทั้งระบบ จะขยายตัว 3.17-5.69% มีมูลค่า 9-9.13แสนล้านบาท

 

ด้วยวงเงินมหาศาลอย่างนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สภาวะของธุรกิจประกันภัย นักการตลาดเขาเรียกว่า...ทะเลสีเลือด

 

มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงทั้งด้านการตัดราคา การจูงใจด้วยวิธีการอื่นๆ และเป็นอย่างนี้มานานหลายทศวรรษ จนผลิตภัณฑ์ประกันภัยในทัศนคติของสาธารณชน กลายเป็น”สินค้าแห่งเทพ”ที่สามารถดลบันดาลขจัคเภทภัยได้ทุกอย่าง

 

แน่นอนเงื่อนไขจูงใจที่บริษัทประกันภัยเสนอและหมายรวมมูลค่าเพิ่มประโยชน์สูงจากลมปากของตัวแทนขายประกันภัย เมื่อถึงเหตุที่ต้องจ่ายสิ่งที่เคยหวังกลับไม่ได้ดังที่หวัง ผรุสวาจา”ประกันฉ้อฉล ตัวแทนขี้โกง”จึงเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตราตรึงในมโนนึกของสาธารณชน

 

ดังนั้นจึงเปรียบเปรยได้ว่าธุรกิจประกันภัยในบ้านเมืองเราเสมือนเป็นทางม้าลายที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนข้ามถนนอย่างปลอดภัย แต่ถูกละเลยลืมเลือนจนเลือนราง  จนทางม้าลายเป็นทางอันตราย มิใช่ทางปลอดภัย

 

เช่นเดียวกับการประกันภัยวัตถุประสงค์จริงๆคือ”การร่วมเฉลี่ยความเสียหาย”เพื่อแบ่งเบาความเสี่ยง จากบุคคลกลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สินนั้น ๆ ออกเป็นส่วนๆ โดยร่วมกันชดเชยเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ และการทำประกันมิใช่สัญญาเพื่อค้ากำไร                                            

 

ต้องตอกย่ำวรรคทอง”เพื่อค้ากำไร”

 

อ้าว! ประกันภัยเป็นธุรกิจแล้วจะไม่ให้หากำไรได้อย่างไร  กำไรในความหมายของการประกันภัยในที่นี้ หมายถึงผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่บริษัทต้องรับผิดชอบ  รวมไปถึงโอกาสในการนำเบี้ยประกันภัยไปหาดอกผลในตลาดทุน ตามกฏกติกาที่กฏหมายควบคุมไว้

 

ในขณะที่กำไรของผู้ซื้อก็คือวัตถุประสงค์ที่จะได้รับความคุ้มครองจากการสูญเสียทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรืออื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

ด้วยเหตุนี้จึงต้องตั้งคำถามว่าทุกวันนี้เราทำประกันภัย ทั้งคนซื้อคนขาย ได้ดำเนินการไปผิดจากวัตถุประสงค์ตามหลักประกันภัยหรือไม่!

 

ข้อพิพาท”ประกันโควิดเจอ จ่าย จบ”คือคำตอบ!

 

ความยุ่งเหยิง ความอลหม่าน ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ชี้หน้ากล่าวหากัน มันเป็นผลลัพธ์เป็นกรรมที่เราต่างกระทำกันมาเนิ่นนาน กลายเป็นชุดความรู้ฝังหัวว่า การประกันภัยคือการหาประโยชน์ การหากำไรจากกันและกัน

 

ลองถามตนเองดู ซื้อประกันภัยรถยนต์มาครบ 1 ปีของสัญญา แวบแรกของความรู้สึกทุกคนจะต้องเหมือนกันหมดคือ...ปีนี้ขาดทุน

 

ทั้งๆที่ความจริงของหลักประกันภัยคือซื้อ”ความเสี่ยง”

 

ปัญหาเรื่องของประกันภัยโควิดจึงยังลุกลามไม่หยุด ล่าสุดไม่ใช่หยุดอยู่ที่เจอจ่ายจบ แต่ลุกลามไปเรื่องของการชดเชยรายได้และค่ารักษา   

 

 โฮมไอโซเลชั่นหรือนอนเขลงที่โรงพยาบาล....ยังเถียงกันไม่จบ!         

 

แต่ที่สำคัญที่สุด มิใช่วัตถุประสงค์เปลี่ยนไปเท่านั้น  ทุกคนยังแกล้งลืมหลักการของการประกันภัยข้อสำคัญอีกด้วย

 

หลักแห่งความสุจริตอย่างยิ่ง

 

นั้นก็หมายความว่าต้นตอแห่งความวุ่นวายอันเกิดจากข้อพิพาท จากที่เคยไม่ปฎิบัติตามสัญญาอันเป็นข้อพิพาทแค่ปัจเจกบุคคล ได้ถูกยกระดับมาเป็นข้อพิพาททางสังคม เถียงกันจนบริษัทประกันภัยต้องล้มหายตายจากไป3 บริษัทและเกิดวิกฤตสิ้นศรัธทาธุรกิจประกันภัย

 

เสียดายยิ่งนักเพราะรับรู้มาว่า มีอยู่ข้อเสนอหนึ่งที่ไม่ได้ถูกหยิกยกมาหาทางออกเพื่อยุติปัญหา นั้นก็คือการตีความว่า พฤติกรรมของผู้ซื้อประกันภัยโควิดเข้าข่าย ”หาประโยชน์หรือค้ากำไรหรือไม่” เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่าการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยซ้ำซ้อนจากหลายบริษัทคือการแสวงผลประโยชน์การค้ากำไร

 

ซึ่งข้อเสนอนี้ถ้าเห็นพ้องต้องกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ย่อมทำให้สำนักงานคปภ.ผู้คุมกฏ สามารถหาคำตอบให้กับสังคมได้ว่า เหตุผลที่มีคำสั่งให้ยกเลิกกรมธรรม์ฉบับที่ซ้ำซ้อนได้เพราะอะไร

 

แต่ถ้ายังกังวลอยู่ว่าเป็นสิทธิของผู้ซื้อ เป็นเสรีภาพของการค้าการขาย  สำนักงานคปภ.ก็ยังมีทางออก โดยการนำหลักการสำคัญการประกันภัยอีกข้อหนึ่งมาใช้ “หลักการเฉลี่ยจ่าย” ที่ใช้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยไว้ตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตามถ้ามองในเชิงบวก กรณีประกันภันโควิดเจอจ่ายจบ กำลังกลายเป็นประทีบประกันภัยเล่มใหญ่ที่จะเริ่มส่องทางความรู้ให้ผู้คนในสังคม ได้เข้าใจในหลักการประกันภัยที่ถูกต้องมากขึ้น

 

เสมือนกรณีทางม้าลายฉันใด ที่ผู้คนในสังคมเริ่มทาสีทางเดินให้ชัดเจนว่านี้ คือทางเดินที่ปลอดภัย  ทางเดินของประกันภัยก็ฉันนั้น  ว่านี้คือเครืองมือบริหารความเสี่ยงภัย มิใช่เครืองมือหากำไร

 

ส่วนใครจะคิดเลยเถิดไปไกลว่า  แล้วทำไมไม่ใช่หลักการประกันภัยมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  สัจธรรมการแก้ปัญหา

 

สอนมาโดยตลอดว่า 

 

หากใช้”หลักกูเมื่อไหร่ บรรลัยเมื่อนั้น”

 

Mr. DISCLOSUR

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com