ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “The Future of Thai Economy and Finance” ในงานสัมมนาออนไลน์ The Standard Economic Forum 2021 The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future
เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เนื้อหาดังต่อไปนี้
“ผมจะตอบสั้น ๆ ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยต้อง inclusive กว่าเดิม ต้องโตแบบทั่วถึง และต้องไม่ใช่แค่โตไปด้วยคนแค่บางกลุ่มแล้วหวังว่า การเติบโตจะกระจายไปยังกลุ่มที่เหลือ แต่ตอนนี้ ด้วยปัญหาโครงสร้างที่สะสมมานาน ทำให้การเติบโตแบบทั่วถึงจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะถ้าไม่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำมีสูง เศรษฐกิจจะเปราะบาง เราจะไม่มี Growth ให้ไปแชร์ในวงกว้าง และจะไม่สามารถโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน”
ผมอยากชวนให้ลองคิดว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเรายังเน้นไปที่การเติบโตอย่างเดียว แต่ไม่ทั่วถึง เราจะยังสามารถโตได้ดีจริงหรือ
สำหรับมุมมองในเรื่องนี้ ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับ inclusion ผ่านการมองกลับไปดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนที่สอง ในระยะข้างหน้า เรามีทางเลือกอะไรบ้าง ต้องเจอความท้าทายหรือมีโอกาสอะไร ที่จะทำให้เศรษฐกิจและการเงินเติบโตได้อย่างทั่วถึง และส่วนที่สาม โจทย์สำคัญของนโยบายประเทศที่ต้องคิด เพื่อปรับตัวสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงมีอะไรบ้าง
ในส่วนแรก เพื่อให้เห็นภาพปัญหาที่ชัด ก่อนที่จะเห็นทางออก ขอพูดถึง 3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความไม่ทั่วถึงก่อน
ข้อเท็จจริงที่ 1: ตระกูลรวยที่สุด 50 อันดับแรกตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ระหว่างคนจนและคนรวย ที่เกิดจากการเติบโตของรายได้และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลานาน
ข้อเท็จจริงที่ 2: 50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนความได้เปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ปัจจุบัน SMEs ในไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน SMEs จึงมีโอกาสน้อยที่จะไล่ตามบริษัทขนาดใหญ่
ข้อเท็จจริงที่ 3: เกือบ 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวม กระจุกตัวอยู่เพียง 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่ผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม เช่น ชลบุรี ระยอง และจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต แสดงให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เพียงบางพื้นที่
จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราคงจะโตไปแบบเดิม ๆ ที่หวังพึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากเพียงบางกลุ่มคน บางกลุ่มธุรกิจ และบางพื้นที่ แบบไม่ทั่วถึงไม่ได้แล้ว เห็นได้จาก 40 ปีที่ผ่านมา ในทศวรรษ 1980 เราเคยโตได้ถึง 10% แต่ในทศวรรษนี้ เราโตเหลือไม่ถึง 4% และจะต่ำกว่านี้อีกในอนาคตถ้าไม่มีการปรับตัว
ทั้งนี้ การเติบโตที่ไม่ทั่วถึงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ล่าสุดเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
เทียบกับ 10 ปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน หากรายได้ไม่โต ทางเดียว คือ ต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงอยู่เดิม ยิ่งทำให้ก่อหนี้เพิ่มได้ยาก แล้วเศรษฐกิจไทยจะโตต่อไปด้วยความลำบาก
และถ้าถามว่า อนาคตเศรษฐกิจการเงินจะ inclusive หรือทั่วถึงกว่าในอดีตได้หรือไม่ คำตอบสั้น ๆ คือ “ไม่แน่” เพราะถ้ามองไปข้างหน้า มีอย่างน้อย 2 กระแสที่จะมาแน่นอน คือ Digital และ Green ซึ่งทั้งสองกระแสนี้ มีศักยภาพที่จะเพิ่ม inclusion ได้ แต่ก็มีโอกาสที่อาจจะซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน
ผมจึงอยากวาดภาพของอนาคตใน “2 Alternative Futures” ให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
ภาพแรก อาจเป็นอนาคตที่ดูมืดมน ที่ทั้งกระแส Digital และ Green มาซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น เพราะรายใหญ่มักคว้าโอกาสและปรับตัวได้เร็วกว่า จึงต่อยอดการเติบโตและยิ่งทิ้งห่างรายเล็กไปไกลกว่าเดิม
ในมุม Digital คนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี มักเป็นคนที่ได้แต้มต่ออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนทักษะสูง ที่สามารถเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ง่ายกว่าคนที่ทักษะต่ำ หรือบริษัทรายใหญ่ไม่กี่รายที่ dominate ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น บริษัท Big Tech อย่าง Google Apple Facebook Amazon ที่สามารถสร้าง network และใช้ประโยชน์จาก platform ของตนเองที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาล และใช้ประโยชน์จาก digital platform ในรูปแบบโลกไร้พรมแดนเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดในที่ต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ รายเล็กมักทำได้ยาก เพราะการพัฒนา online platform ต่าง ๆ ต้องยอมขาดทุนในช่วงแรก เพื่อแลกกับการได้ส่วนแบ่งตลาด และข้อมูลของลูกค้าให้ได้มากเพียงพอ และมีความจำเป็นที่ต้องมีคนที่มีทักษะเพียงพอ มีคนจำนวนมากพอ และมีระบบข้อมูลที่พร้อม ทำให้มีไม่กี่ประเทศหรือไม่กี่บริษัทที่ทำได้สำเร็จ และเป็นอีกรูปแบบของความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยี Digital ที่จะซ้ำเติม SMEs หรือผู้เล่นรายเล็กให้ปรับตัวได้ลำบาก นำไปสู่โอกาสที่จะมีการผูกขาดในระยะยาว หรือ winner takes all และรายใหญ่จะทิ้งห่างรายเล็กไปมากกว่าเดิม
ในส่วนของกระแส Green ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวรับกระแสนี้ไปแล้ว และสามารถยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในระดับสากลได้ เห็นได้จาก 13 บริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
ขณะที่รายเล็ก กลุ่มแรก คือ SMEs มีเงินทุนไม่สูงมาก สายป่านสั้น และยังต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤตโควิดก่อน จึงอาจยากที่จะปรับตัวต่อกระแส Green และจากกรณีที่สหภาพยุโรปออก European Green Deal และบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ซึ่งคล้ายการเก็บภาษีตามปริมาณ carbon footprint ของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบริษัทใหญ่น่าจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่า ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายใหญ่และรายเล็กห่างกันมากกว่าเดิม
กลุ่มที่สอง คือ แรงงาน มีโอกาสที่เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานไทยจะถูกกระทบไม่มากก็น้อยจากกระแส climate change โดยกลุ่มเกษตรกร ที่เป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด จะถูกกระทบโดยตรง เพราะรายได้จากผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่มี buffer ทางการเงินต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพย์สินของเกษตรกรส่วนมากเป็นที่ดินทำเกษตร ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติ มูลค่าอาจลดลงเร็ว ซ้ำเติมรายได้ที่น้อยอยู่แล้วของเกษตรกรได้
นอกจากนี้ แรงงานในภาคท่องเที่ยว ที่คิดเป็น 20% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ก็จะถูกกระทบจากกระแส Green เช่นกัน โดยต้นทุนการเดินทางจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายการบิน long haul ที่มี carbon footprint สูง หรือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี อาจทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งหน้าตาเปลี่ยนไปและไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหมือนเดิม ซึ่งเมื่อรวมกับแรงงานในภาคเกษตร กว่าครึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมดอาจมีรายได้ที่ถูกกระทบและลดลงจากกระแส Green
แต่ในอีกภาพอนาคต ทั้งกระแส Digital และ Green ก็เป็นโอกาสที่จะสร้าง inclusive growth ได้มากขึ้นกว่าเดิม
ในมุม Digital เทคโนโลยี Digital จะช่วย SMEs และประชาชนได้อย่างน้อย 3 ด้าน
(1) เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้รายเล็ก ด้วยการเข้าสู่ digital platform เห็นได้จากการเข้าสู่ e-commerce platform ของ SMEs ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดที่ทำให้ธุรกิจขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดใหม่ ๆ นอกภูมิภาค และเพิ่มยอดขายได้ ซึ่งผู้ขายที่เข้ามาใช้ e-commerce พบว่า 80% มีรายได้เพิ่มขึ้น และหลังโควิด การใช้งาน digital platform ยังเร่งตัวขึ้นอีก โดยไทยมีจำนวนผู้ใช้งานบน platform รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน โดยเกือบ 70% ของผู้ใช้รายใหม่อยู่ในเมืองรอง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเติบโตแบบกระจุกในบางพื้นที่ที่พูดถึงในช่วงแรก
(2) เมื่อประชาชนและธุรกิจเข้าสู่โลก Digital การซื้อขายของหรือจ่ายเงินระหว่างกัน จะทำให้เกิด digital footprint เป็นข้อมูลมหาศาล ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น การที่ SMEs และประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น จากการที่ผู้ปล่อยกู้สามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีขึนด้วยการใช้ alternative data โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีหลักประกัน หรือไม่มีข้อมูลกับสถาบันการเงินมาก่อน ข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในภาคการเงิน และการแชร์ข้อมูลเชื่อมต่อด้วย open data จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาคการเงินสามารถกระจายเม็ดเงินในระบบดีขึ้น ให้ไปถึงคนที่ต้องการเงินทุน แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้มาก่อน
(3) เทคโนโลยี Digital ในภาคการเงิน ยังทำให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างการแข่งขัน กระตุ้นภาคการเงินให้มีพัฒนาการและสนับสนุนประชาชนและธุรกิจได้หลากหลายกลุ่ม และตอบโจทย์ผู้บริโภครายเล็ก ๆ และทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย inclusive มากขึ้น
นอกจากนี้ กระแส Green จะเป็นโอกาสทางธุรกิจให้รายเล็กได้เกิดใหม่ และคนในพื้นที่ห่างไกลได้ประโยชน์มากขึ้น
ที่เห็นได้ชัด คือ การเกษตรสมัยใหม่ เช่น เกษตรอินทรีย์ ที่ลดการใช้สารเคมีหรือใช้พลังงานหมุนเวียน จะสามารถขยายตลาดไปยังผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถตั้งราคาที่สูงกว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรไทยด้วย
นอกจากนี้ ในภาคท่องเที่ยว ที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่ง SMEs โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นและเมืองรองจะสามารถได้รับประโยชน์จาก trend นี้ผ่านการปรับโมเดลของธุรกิจเพื่อขายจุดแข็งทั้งวัฒนธรรมท้องถิ่นและแหล่งท่องเที่ยวแบบ unseen เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้เชิงพื้นที่ และยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปัญหา over-tourism ในบางจังหวัดที่เดิมเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของประเทศ
จาก 2 Alternative Futures ข้างต้น หน้าที่หลักของผู้กำหนดนโยบาย (policymakers) คือ ต้องสร้าง ecosystem หรือระบบนิเวศ ที่เอื้อให้เกิด future ที่ 2 ที่ inclusive กว่าเดิม โดยใช้กลไกตลาดในทางที่ถูกต้อง ผมจึงจะขอ focus ที่ส่วนของ ธปท. โดยเห็นว่ามีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง
โจทย์แรก คือ ทำให้ภาคการเงินส่งเสริม inclusion ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital และข้อมูลได้เต็มที่ เช่น การมี Digital ID ที่จะพาคนเข้าสู่โลก Digital ได้สะดวก ปลอดภัย สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปสาขา รวมถึงสมัครใช้บริการทางการเงินประเภทอื่น ๆ โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันได้ สำหรับ SMEs ก็จะสามารถทำธุรกิจบนระบบ Digital ได้แบบ end-to-end ตั้งแต่วางบิล จ่ายเงิน บริหารคลังสินค้า เหมือนระบบของบริษัทใหญ่ ซึ่งจะเป็น digital footprint ที่จะใช้ต่อยอดเป็นข้อมูลในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในวงกว้างขึ้นในอนาคต จะเอื้อให้เกิดกลไกการค้ำประกันเครดิต ให้ทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน SMEs และบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม
ธปท. กำลังผลักดันนโยบายในทิศทางนี้ ด้วยแนวทาง 3 Open
(1)Open Infrastructure คือ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้าง ให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกบริการ Digital ที่ตอบโจทย์มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ จะรวมถึงการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่รองรับการต่อยอดนวัตกรรมของภาคธุรกิจในอนาคตด้วย
(2) Open Data โดยการผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกภาคการเงิน เพื่อให้ digital footprint ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ไม่เกิดการผูกขาดข้อมูลโดยบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย
(3) Open Competition ในการสนับสนุนให้ผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเดิม สามารถแข่งขันกันบน level-playing field เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน
อีกโจทย์ที่สำคัญ คือ การมีระบบที่เอื้อให้เราเท่าทันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Digital ทั้งการป้องกันและรับมือกับภัย cyber และการหลอกลวง (fraud) รวมทั้งมีกลไกป้องกันความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เกิดได้เร็ว และมีแต่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยในปี 2020 cyber attack ทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันเหล่านี้ ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการใช้งาน Digital ของประชาชนและธุรกิจไทย และขณะเดียวกันต้องรู้เท่าทันความเสี่ยง เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จาก Digital ได้อย่างมั่นใจ สบายใจ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น
โจทย์สุดท้าย คือ การเตรียมกลไกภาคการเงิน และออกแบบแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ร่วมกันพัฒนา “ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” เช่น มีมาตรการจูงใจเพื่อสร้างตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีคุณภาพ และมองไปข้างหน้า ภาคการเงินจะต้องเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้ปรับตัว โดยเฉพาะรายเล็กที่จะต้องได้รับโอกาสเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกใหม่
แล้วในระยะต่อไป เราจะดูแลให้ ecosystem ของภาคการเงินสามารถรองรับโจทย์ 3 ข้อข้างต้นได้อย่างไร
ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่สองกระแสข้างต้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและมีความไม่แน่นอนสูง การรักษาเสถียรภาพหรือ stability ให้กับภาคการเงินจะยังมีความสำคัญ เพราะต้องมั่นใจว่าผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการอย่าง SMEs และประชาชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง และต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงิน หรือกลายมาเป็น shock amplifier จนกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม
อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า หากเราจะมุ่งรักษา stability เพียงอย่างเดียว ผ่านการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อดูแลความเสี่ยงจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งอาจไปจำกัดขอบเขตการทำธุรกิจ ทำให้ต้อง trade-off กับประโยชน์จากนวัตกรรมที่ผู้ใช้บริการและระบบเศรษฐกิจจะได้รับ เราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง resilience มากกว่าการรักษา stability เพียงอย่างเดียว เพราะคำว่า resilience แม้ในภาษาไทยจะแปลว่า “ความเข้มแข็งมั่นคง” เหมือนกับ stability แต่ resilience กินความหมายกว้างกว่านั้น เพราะยังสื่อรวมไปถึงความสามารถในการฟื้นตัวหรือรับมือกับ shocks ต่าง ๆ ได้
สุดท้ายนี้ ecosystem ของภาคการเงิน จะต้อง balance ให้ดี ระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา ไม่ให้กระทบภาคการเงินในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่ resilience ที่แท้จริงที่จะสนับสนุนให้ระบบการเงินทำหน้าที่ได้ดี สามารถกระจาย resource และโอกาสทางการเงินไปสู่ผู้ที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม เป็น enabler ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน สร้างความเจริญ มั่งคั่ง ให้ทั่วถึง