บทความ

เงินกองทุน...CAR Ratio ตัวชี้วัดประกันภัยเจ๋ง ...จริงหรือ!...
11 มี.ค. 2565

ใครรู้จัก”ยาทัมใจ”ยกมือขึ้น

 

ถ้าใครรู้จักก็สำนึกได้ในบัดดล ว่า ถ้าเริ่มคิดมากปวดหัว ยาทัมใจละลายน้ำซองหนึ่งหายโดยพลัน  จึงอุปมาอุปมัยได้ ว่า ผู้คนในยุคนี้ ระหว่าง ”ยาทัมใจ” กับ ”ฟ้าทะลายโจร” จะกินอะไรก่อนกัน

 

ทิศทางที่จะเป็นไปของไวรัสโควิด-19  ชาวบ้านยังงงกันทั้งเมือง สมองอีกด้านหนึ่งของหมอกำลังคิดหาข้อสรุปให้เป็น ”โรคประจำถิ่น” ในขณะที่สมองอีกซีกหนึ่ง คำนวณตัวเลขกันอุตลุตว่า ”ฉากทัศน์” จะมีคนติดโควิดอีกกี่คน นัยว่า ภาพจำลองทะลุถึงหลักแสนในช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้

 

แน่นอนผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัย ย่อมเรียกหา...ยาดม!

 

แบบว่า...ดมไปจ่ายไป จนกว่าล่วงพ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งกรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบจะหมดลง  และ ณ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใด ทั้งสมาคมประกันวินาศภัย และสำนักงานคปภ.ยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการ ว่า  ผู้ถือกรมธรรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่มีเหลืออยู่เท่าไหร่  เพียงแค่ออกข่าวตัวเลขกลมๆ มีผู้ซื้ออยู่ประมาณ 10 ล้านคน

 

แต่เอาเถอะ!...เหลืออยู่เท่าไหร่ไม่ใช่สาระ เพราะรับรู้มา ว่า บริษัทที่ขายประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ได้ทำฉากทัศน์ หรือภาษาคนวงการประกันเขาเรียกว่า สถานการณ์ความเสี่ยงจำลอง(Stress Test)อยู่ตลอดเวลา นัยว่า ยักษ์ใหญ่แถวหน้าทำกันทุกเดือน  และได้ข้อสรุปแบบธงชัย แมคอินไตย์

 

ขณะที่ฝั่งกำกับดูแลสำนักงานคปภ. ช่วงนี้งดออกเสียง!

 

ก็เหลือแต่เราๆ ท่านๆ นี้แหละครับลุ้นกัน ว่า โควิดจะพาชีวิตเราไปทิศทางไหน  แต่จะไปทิศไหนอย่างไร วิถีชีวิตจะเป็นเช่นไร    เราๆ ท่านๆ ยังคงต้องซื้อประกันภัย

 

ดูเหมือนว่า การซื้อประกันภัยของผู้คนในยุคนี้  ไม่ได้มองในเรื่องของ ”ราคา” แต่มอง ”ความมั่นคง มั่งคั่ง” สอดรับกับท่าทีของบริษัทประกันภัย ซึ่งเล่นถูกจังหวะเวลาไม่โดนข้อหาขี้คุย หรือเกทับชาวบ้าน  จึงอาศัยสถานการณ์ห้วงเวลาที่ทุกบริษัทต้องแถลงข่าวประจำปี  ตระโกนกันเสียงดัง ว่า เงินทุนยังแข็งแกร่ง

 

ในขณะที่สื่อมวลชนเองก็เริ่มจะนำเสนอข้อมูลมาเปรียบเทียบ ว่า บริษัทประกันภัยไหนแข็งแกร่งมากน้อยเพียงไร โดยอาศัย ”เงินกองทุน” มาเป็นตัววัด

 

ด้วยปัจจัยที่เกิดจึงมิใช่เรื่องแปลกอะไร การตัดสินใจซื้อประกันภัยของผู้คนในห้วงเวลานี้  ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อที่สำคัญฯ ที่สุด คือ ฐานะเงินกองทุนของบริษัทนั้นๆ

 

เงินกองทุนที่ว่านี้ หมายถึง อัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (CAR RATIO) อันเป็นข้อมูลอย่างหนึ่งในหลายอย่าง ที่สำนักงาน คปภ. ใช้เป็นตัววัดฐานะการเงินความมั่นคงของบริษัทประกันภัย

 

โดยปัจจุบันจะมีเกณฑ์ให้บริษัทประกันชีวิตต้องดำรงเงินกองทุน CAR RATIO ตามกฎหมายต้องมีไม่ต่ำกว่า 140% ขณะที่ บริษัทประกันวินาศภัยต้องไม่ต่ำกว่า 120%   

 

ถ้าบริษัทไหนมีอัตราส่วนต่ำกว่านี้ สำนักงาน คปภ.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อลิ้นชักทันที

 

สำรวจแถวบริษัทประกันภัยทั้งประกันชีวิตและวินาศภัย มีเงินกองทุนเกินกว่ากฎหมายกำหนดทั้งนั้น   แถมเกินกว่าเยอะหลายเท่าตัวอีกต่างหาก บางบริษัทสูงกว่าหลักพัน แต่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400% (บริษัทต่างชาติมักจะใช้เกณฑ์ขนาดนี้)

 

อย่างไรก็ตาม จากการจ่ายเคลมโควิด ฝั่งบริษัทประกันวินาศภัยตัวเลขเริ่มหดหาย แต่ยังเกินกว่ากฏหมายกำหนดแบบหายใจคล่องคอ อยู่ในระหว่าง 150-200%

 

แต่อย่าลืมก่อนที่หลายบริษัทถูกปิดกิจการ  อัตราเงินกองทุนส่วนใหญ่เกินกว่ากฏหมายกำหนดบานเบอะ แต่เมื่อพายุเคลมโควิดพัดเข้ามา ทั้ง เดอะวัน และเอเชียประกันภัย เงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ทันที และแทนที่จะเปิดช่องให้ทั้ง 2 บริษัทหายใจ สำนักงาน คปภ.ก็ว่าไปตามระเบียบราชการ สั่งระงับการขายประกันภัยทันที

 

ทั้งที่ๆ ตำราประกันภัยสอนไว้ ว่า ”การเข้าแทรกแซงบริษัท (Solvency CAR) อย่างค่อยเป็นค่อยไป”

 

เมื่อถูกสั่งระงับการประกันภัยทันที นั้นก็หมายว่า ช่องทางหาเงินมาเติมเต็มจากการขายประกันถูกปิด จึงต้องหาเงินจากส่วนอื่นเข้ามาแทน

 

ยุคลุงตู้...จะหาเงินจากการลงทุนได้ที่ไหน  ใครจะออกเงินให้กู้ ขายทรัพย์สินที่ดินก็ไม่ได้ราคา  ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดมีแต่เพิ่มขึ้น แถมสำนักงาน คปภ. ไม่ให้บอกเลิกกรมธรรม์ตามสิทธิพึงมี เจอหลายทางตันอย่างนี้ ....ไม่เอา ถอยดีกว่า

 

อีกด้านหนึ่งบริษัทที่ไม่ถูกปิดแต่ขอปิดตัวเอง อย่างเช่น อาคเนย์ ไทยประกันภัย ตัวเลขเงินกองทุนก่อนขอปิดตัวเองอยู่ในระดับสูงทั้งนั้น อาคเนย์ ระดับ 220% ไทยประกันภัย 281%  แข็งแกร่งขนาดนี้ทำไมยังต้องถอย แน่นอนคงแอบทำฉากทัศน์ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงจำลองของตนเองดูแล้ว....ไม่เอา ถอยดีกว่า

 

แล้วความเป็นจริงของวันนี้ กลุ่ม 5 ท๊อปไฟว์ประกันวินาศภัย ส่วนใหญ่เงินกองทุนอยู่ในระดับ 200 % ต้นๆ.หรือเกือบๆ ถ้าประเมินจากมุมมองอย่างนี้ จะเกิดรายการ....ไม่เอา ถอยดีกว่า ไปอีกรายสองรายหรือไง

 

แต่ความจริงๆ และความเชื่อมั่นไม่ต้องเอาอะไรมายืนยัน ไม่ต้องเอาอะไรมาชี้วัด ผู้คนยังหาซื้อความคุ้มครองจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้  วัดได้จากผลประกอบการ ณ สิ้นปีมีแต่บวกไม่มีลบ

 

ดังนั้น การใช้ตัววัดเงินกองทุนเพื่อตัดสินใจซื้อหรือไม่  หรือไปกับซื้อใครปลอดภัยกว่า ไม่น่าจะเอามาวัดได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะอย่าลืมหน้าที่ของเงินกองทุน เป็นเพียงแค่เครื่องมือวัดของสำนักงาน คปภ. ว่า ควรจะเข้าไปแทรกแซงหรือไม่

 

อธิบายง่ายๆ เขาเอาไว้เหลือบดู ว่า ระดับของหนี้สินนั้น เริ่มเข้ามาใกล้เคียงกับระดับสินทรัพย์ที่มีอยู่หรือไม่

 

หนี้สินในความหมายของธุรกิจประกันภัย หมายถึง ค่าสินไหมทดแทนเป็นหลัก  ขณะที่สินทรัพย์เช่นกัน ต้องมองไปที่เบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว  เงินลงทุนที่นำไปออกดอกออกผลและสามารถแปลเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที  และเงินกำไรสะสมที่ยังไม่ปันผล

 

ที่สำคัญต้องไม่ลืม ว่า ระดับสินทรัพย์ของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน บางบริษัทมีหลักพันล้าน บางบริษัทหลักหมื่นล้าน บางบริษัทเกินกว่า 5 หมื่นล้าน  นั้นก็หมายความ ว่า จำนวนส่วนต่างที่เป็นช่องว่างระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สิน ถ้าเอามาตีเป็นมูลค่าก็ไม่เท่ากัน ห่างนิดเดียวแต่มีมูลค่าเงินสดเป็นหมื่นๆ ล้าน กับห่างกันเยอะ แต่มีมูลค่าแค่ร้อยล้าน หรือพันล้าน

ยิ่งถ้านับรวมไปถึงมูลค่าขององค์กรที่หมายถึงเครดิตทางการค้า ในการระดมทุนจากการกู้ หรือเชิญคนอื่นมาลงทุน  การวัดความเชื่อมั่น ว่า ซื้อแล้วปลอดภัย เพียงแค่มองเรื่องเงินกองทุนก็ไม่ถูกต้องนัก  เพราะแม้แต่คนในวงการประกันภัยเองยังนินทากันแบบฉันท์มิตร 

 

ใครมีเงินกองทุนในอัตราที่สูงปริ๊ด! สร้างภาพแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี  แต่ข้อเท็จจริงสมองกลวงไม่มีปัญญาเอาเงินไปหาดอกผล เพราะการสะสมเงินกองทุนไว้เยอะๆ นั้น ในแง่การบริหารจัดการเขาบอก ว่า เป็นการเสียโอกาสในการเอาไปทำงาน ไปพัฒนาบริษัทหรือไปลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริโภคเริ่มพิจารณาในเชิงลึกมากขึ้น และน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคปภ.หรือแม้แต่องค์กรวิชาชีพอย่างสมาคมประกันชีวิต สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยเฉพาะสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย น่าจะออกมาให้ความรู้กับประชาชนให้เข้าใจได้ถูกต้องถ่องแท้

 

แปลก....เรื่องโง่ๆ ขยันพูดกันจัง เรื่องฉลาดๆ ทะลึ่งแกล้งโง่  ไม่กล้าพูด!

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com