Drone อุตสาหกรรม S-Curve ในอนาคต
กับงาน DronTech Asia 2024 ครั้งแรกในไทย
โดรน (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกจับตามองในฐานะของเครื่องมือในการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้โดรนยังถูกนำมาใช้ในหลายแวดวงอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเพราะสามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ในบางหน้าที่ที่มีความเสี่ยงภัย และโดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ อันจะนำมาซึ่งรายได้ การต่อยอดธุรกิจ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านความปลอดภัย
มีการใช้โดรนในหลายอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมที่มีการใช้โดรนมากที่สุด คืออุตสาหกรรมเกษตร (Agriculture) อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง (Transport) อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นอกจากนี้ยังมีการใช้โดรนเพื่อช่วยลดทอนการทำงานของแรงงานมนุษย์ในอีกหลายด้าน เช่น ด้านความบันเทิง ใช้ในการถ่ายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง ใช้ในด้านความมั่นคง ความช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติ เป็นต้น
แม้ว่าการใช้ประโยชน์จากโดรนจะเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับโดรนในทุกมิติ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการทำความเข้าใจ แต่ทั้งหมดจะถูกรวบรวมมาไว้ในงาน ‘DronTech Asia 2024’ งานนิทรรศการและการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรก ที่จะถูกจัดขึ้นในประเทศไทย โดยมีบริษัท จีเอ็มแอล เอ็กซิบิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานการบินพลเรือน (CAAT) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมแสดงศักยภาพและความสำคัญของอุตสาหกรรมโดรนที่กำลังเติบโตอย่างดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ที่ผ่านมามีการจัดแถลงข่าวการจัดงาน DronTech Asia 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยมีผู้ร่วมเสวนาทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรน ในหัวข้อ “ความร่วมมือในการสร้างเมืองไทยให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมโดรนในภูมิภาค”
“หลายประเทศเริ่มมีการจัดแข่งขันกีฬาโดรนลีก เช่น จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ ปัจจุบันมีการใช้โดรนทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย อนาคตเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้มีราคาถูกลง ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่การจะยกระดับอุตสาหกรรมโดรนในไทยให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะกับผู้ผลิตจากต่างประเทศ จะต้องนโยบายส่งเสริม Eco system นี้ให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ซึ่งเราก็ต้องเตรียมตัวรองรับความแข็งแกร่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน” พลอากาศโท กิตติทัศน์ ภาเจริญ กรรมการสมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย
โดรน อากาศยานไร้คนขับ กระนั้นยังจำเป็นที่จะต้องมีผู้บังคับทิศทาง ซึ่งการจะยกระดับอุตสาหกรรมโดรนให้มีความสามารถ และมีศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มกฎระเบียบข้อบังคับในหลายด้าน รวมถึงใบอนุญาตขับ เช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์
“เราเดินตามมาตรฐานสากล แต่อาจจะช้ากว่านานาชาติเล็กน้อย เพราะประเทศอื่นเริ่มออกใบอนุญาตขับโดรนกันแล้ว เพราะโดรนถูกมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการบิน มีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเยอะมาก หลายอุตสาหกรรม รวมทั้งอินโนเวชัน ถ้าประเทศไทยจับทางด้านนี้ได้เร็วก็จะส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจ แน่นอนว่าข้อกำหนดด้านภาษีก็ควรจะต้องส่งเสริมการนำเข้าชิ้นส่วน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งการจะยกระดับ หลายภาคส่วนมีหน้าที่ที่จะต้องปลดล็อคในแต่ละจุด เช่น DEPA ที่ต้องเกื้อหนุนนโยบายที่เกี่ยวกับโดรน กสทช. ด้านการปลดล็อคสัญญาณในเขตที่จะมีการอนุญาตให้บินโดรน” นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล ผู้จัดการฝ่ายมาตรฐานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล ยังเตรียมอธิบายเพิ่มเติมว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เตรียมการปรับปรุงการกำกับดูแลโดรนที่จะเริ่มดำเนินการเร็วๆ นี้ ได้แก่ 1. ด้านรับรองการบินโดรนแบบต่างๆ เช่น BVLOS, โดรนขนาดกลาง 2. การจดทะเบียนอากาศยาน 3. การรับรองศูนย์ฝึกอบรมนักบินโดรนประเภทต่างๆ และ 4. การออกใบอนุญาตินักบินโดรนในแต่ละประเภท (พื้นฐาน, ขั้นสูง)
ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชน จากบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับพื้นที่สำหรับการทดสอบบินโดรนที่ไทยควรมีเพื่อรองรับการพัฒนาโดรนในอนาคต “จีนเป็นประเทศที่การเติบโตด้านโดรนรวดเร็ว เป็นเพราะว่า เขามีพื้นที่ให้ทดสอบประสิทธิภาพ ขณะที่ไทยเองแม้จะมีการออกแบบและผลิตได้ แต่ยังไม่สามารถทดสอบเองได้ทาง
ด้านอากาศ นี่เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่มองเห็นได้ชัด ซึ่งถ้าเราไม่สามารถทดสอบได้ เท่ากับเราไม่มีคำตอบด้านความปลอดภัย ประเทศในอาเซียนมีความต้องการที่จะออกแบบโดรนเอง เช่น สิงคโปร์ ซึ่งก็ไม่มีพื้นที่สำหรับการทดสอบเช่นกัน” นายนรวิทย์ ธนะปุระ ผู้จัดการฝ่ายออกแบบและประสิทธิภาพเครื่องบิน บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด
“หากจะมองในภาพกว้างของอุตสาหกรรมโดรน ไทยจะวาง Position ด้านนี้อย่างไร เราต้องดูที่โจทย์หลักของเรา เรามีผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร ต้องหาทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในด้านนี้ ต้องมองความเป็นไปได้ว่า เรื่องไหนที่จะสามารถส่งเสริม หากผลิตเพื่อใช้ในประเทศ โดยเฉพาะโดรนด้านการเกษตร ต้องปลดล็อคด้านภาษี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตไทย ผลิตใช้เองในประเทศ” นายฉัตรชัย ปั่นตระกูล กล่าวเสริม
การแข่งขันในอุตสาหกรรมโดรน ความร่วมมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ แม้ในไทยจะมีการใช้โดรนในหลายอุตสาหกรรม แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ขณะที่การแข่งขันจำเป็นที่ต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ดร.ปรีสาร ที่มองเห็นจุดด้อยในอุตสาหกรรมโดรน และชี้จุดที่ต้องเร่งแก้ เพื่อเปลี่ยนข้อเสียเปรียบให้เป็นข้อได้เปรียบ
“หากพูดถึงซัพพลาย เรามีความคุ้นชินที่มีโครงการต่างๆ ที่ต้องดีลกับภาคอุตสาหกรรม บริษัทโดรนในไทยมีหลายแห่ง แต่ตลาดไทยไม่ใหญ่เท่าจีน หรือ อินโดนีเซีย การที่จีนเป็นผู้นำ ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีในตอนนี้ เพราะถ้าจีนดัมพ์ราคามา เราก็จบ การรวมตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะสั่งอุปกรณ์ อะไหล่เกี่ยวกับโดรน เพื่อเป็นการลดช่องว่างด้านราคา และด้านภาษี ซึ่งภาษีจะต้องมีการเสียประมาณ 20% นี่เป็นข้อด้อยที่ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับโดรนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้ โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ผู้ส่งออกของไทย สามารถลดหย่อนภาษีได้ เพื่อส่งเสริมให้สามารถแข่งขันในต่างประเทศได้
ด้าน Data Software ส่วนใหญ่ผลิตจากจีน และจะย้อนกลับไปที่จีน ซึ่งทำให้จีนสามารถพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของไทยที่เป็นลูกค้าได้ ที่เป็นข้อเสียเปรียบของไทย ซึ่งภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาสนับสนุน เช่น NIA วช. หรือ DEPA ว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร” ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโดรน ภายใต้ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมโดรนของไทย โดยเฉพาะงานนิทรรศการและการประชุม DronTech Asia 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2567 น่าจะเป็นส่วนเสริมสำคัญให้อุตสาหกรรมโดรนในไทยมีอัตราเร่งในการเติบโตที่ดีขึ้น