บทความ

มองผ่านเลนส์ ‘ดร.เศรษฐพุฒิ’ ใช้ ‘นวัตกรรม’  กับความท้าทายเศรษฐกิจไทยเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน
27 ต.ค. 2565

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงาน BOT Digital Finance Conference 2022 “Unlocking Opportunities for Thailand with Responsible Financial Innovations” จัดขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทาย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1 การเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพการผลิตที่อยู่ระดับต่ำ รวมทั้งการขาดความสามารถในการแข่งขัน 2 การขาดภูมิคุ้มกัน (resiliency) ที่เพียงพอในการรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ในโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย 3 การละเลยความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นได้ชัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และ 4 ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้  ในอดีต ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเน้นแก้โจทย์ข้อแรกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน (holistic) โดยครอบคลุมอีก 3 ด้านที่เหลือมากขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

 

ที่ผ่านมา “นวัตกรรม” เหมือนจะเป็นคำตอบสำคัญที่ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นว่าจะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านความท้าทายข้างต้น โดยเฉพาะการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ  แต่แท้จริงแล้ว เราไม่ควรพิจารณา “นวัตกรรม” จากเฉพาะแง่มุมของการเป็นสิ่งใหม่ที่ดูจะมีศักยภาพเท่านั้น  แต่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย หรือที่ ธปท. ขอเรียกว่า “นวัตกรรมที่มีการดูแลความเสี่ยงบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (Responsible innovation)”

 

ธปท. มองว่า Responsible innovation ต้องมี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1 สามารถเสริมสร้างศักยภาพและ productivity ของเศรษฐกิจได้จริง  2  ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน (เช่น นวัตกรรมต้องไม่ทำเพื่อหวังเก็งกำไร สร้างกระแส หรือหลอกลวงประชาชน) 3คำนึงถึงมิติความยั่งยืน (เช่น ไม่สร้างภาระหนี้จนเกินสมควรในระยะยาว) และ 4 ช่วยสร้างความมั่งคั่งที่สังคมสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์ร่วมกันได้อย่างทั่วถึง ไม่เหลื่อมล้ำ (shared prosperity) รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

 

ตัวอย่างของ responsible innovation เช่น 

 

1)    โครงการ PromptPay ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ของระบบการชำระเงิน เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งระดับประชาชนและกิจการขนาดใหญ่หรือเล็ก สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริม resiliency โดยเฉพาะในช่วง COVID-19  

 

2)    โครงการ mBridge เป็นการทดลอง Wholesale CBDC  ร่วมกับธนาคารกลางอื่นหลายแห่ง เพื่อแก้ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ (inefficiency) ของการโอนเงินระหว่างประเทศ ทำให้สามารถโอนเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนและความเสี่ยงด้านการชำระดุลที่ต่ำลง 

 

3)    การทำ tokenization ของสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ  เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือใบแจ้งหนี้ (invoice) แม้จะเป็นแนวคิดใหม่ แต่มีศักยภาพในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงระบบการเงินซึ่งอาจเป็น game changer ต่อไป 

 

ขณะเดียวกัน นวัตกรรมบางประเภทอาจยังต้องผ่านการพิสูจน์เพิ่มเติมให้มั่นใจว่า การนำเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ (เช่น Distributed Ledger Technology) มาปรับใช้จะต้องมี use case ที่สามารถสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ และไม่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมให้รุนแรงขึ้น 

 

ทั้งนี้ ธปท. จะให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิด responsible innovation ในภาคการเงินไทย ขณะเดียวกัน ก็จะดูแลไม่ให้เกิดกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ความเท่าเทียมกัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการ ได้แก่

 

1)    การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ที่ผ่านมา ธปท. ได้ผลักดันการวางระบบชำระเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศ โครงการ CBDC การพิสูจน์และยืนยันตัวตนนิติบุคคล และการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนเข้าถึงได้้ (open data) 

 

2)    การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมโดยภาคเอกชน โดยการปรับปรุงเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (regulatory impact assessment) และอนุญาตการทดลองนวัตกรรมผ่าน regulatory sandbox ของ ธปท. ให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรค รวมทั้งมีการวางราวกั้น (guardrail) ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป เช่น การยกเลิกข้อจำกัดในการลงทุนในธุรกิจ FinTech (FinTech Limit) และการกำหนดเพดานการลงทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ 3% ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจการเงิน


3)    การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเข้ามาแข่งขันได้ผ่านการออกใบอนุญาตให้จัดตั้ง virtual banking ได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ การจะผลักดันให้เกิด responsible innovation ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ให้บริการและหน่วยงานกำกับดูแล โดยธปท. พร้อมเปิดกว้าง ยินดีรับฟัง และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญนี้ให้ประสบความสำเร็จ และสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับประเทศไทย


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com