ในทุกครั้งที่ตัดสินใจซื้อประกัน เราควรพิจารณาจากความจำเป็นของตัวเองเป็นหลัก แต่ทว่าหลายคนมักจะซื้อประกันทิ้งไว้ แล้วไม่ได้กลับมาดูความคุ้มครอง จนไม่รู้ว่าประกันที่มีอยู่จะช่วยดูแลในด้านไหนได้บ้าง ครอบคลุมเรื่องสุขภาพแล้วหรือยัง ช่วยเรื่องเงินออมสำหรับเกษียณไหม หรือจะจ่ายเงินชดเชยเพื่อดูแลคนข้างหลังได้เพียงพอหรือไม่ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราได้รับผลประโยชน์จากประกันที่ทำไว้ไม่ตรงตามความต้องการ โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่เราจำเป็นจะต้องใช้ผลประโยชน์จากประกันขึ้นมาจริง ๆ
วันนี้ fintips by ttb #เรื่องเงินที่รู้จริงแบบเพื่อนที่รู้ใจ ชวนทุกคนมาสำรวจ 4 พฤติกรรมที่ทำให้ประกันที่เรามีอยู่ คุ้มครองแต่อาจไม่ครอบคลุม ดังนี้
1. ซื้อประกันตั้งใจไว้ลดหย่อนภาษีอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดความคุ้มครองว่าพอดีกับตัวเองหรือไม่?
พอใกล้สิ้นปี คนวัยทำงานมักคิดซื้อประกันโดยมีจุดมุ่งหมายเรื่องการลดหย่อนภาษี จึงดูแค่ค่าเบี้ยประกันที่ต้องการใช้ลดหย่อน แต่ลืมดูรายละเอียดความคุ้มครองว่าครอบคลุมอะไรบ้าง หรือบางคนตั้งใจใช้สิทธิ์ลดหย่อนในปีนี้มากเกินไป เลือกซื้อประกันที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยต่อเนื่องหลายปี จนลืมนึกไปว่าในอนาคตจะสามารถจ่ายได้หรือไม่ ดังนั้น นอกจากการคำนวณรายได้ เพื่อให้รู้ถึงฐานภาษี ควรประเมินความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันในอนาคต และนึกถึงความคุ้มครองที่ต้องการด้วย เพราะจะทำให้สามารถใช้สิทธิ์ได้ครบถ้วน ทั้งในแง่การลดหย่อนภาษีและความคุ้มครองตามเงื่อนไขของประกัน
สำหรับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีเมื่อซื้อประกันมีดังนี้
-ประกันชีวิต สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง
-ประกันสุขภาพลดหย่อนได้ 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้ว จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
-ประกันบำนาญ ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 200,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้
2. ซื้อประกันไว้หลายฉบับเป็นเรื่องดี แต่แน่ใจไหมว่าพอดีแล้ว
ประกันคือตัวช่วยสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต การซื้อประกันเผื่อไว้หลายฉบับถือเป็นเรื่องดี แต่บางทีประกันที่มีก็อาจไม่พอดีกับชีวิต เพราะหากมีมากเกินไป ให้ความคุ้มครองเกินจำเป็น ซึ่งอาจมาพร้อมกับค่าเบี้ยประกันที่สูงมาก ก็จะทำให้เป็นภาระเกินไปในการหาเงินมาชำระค่าเบี้ยประกัน หรือ หากมีน้อยเกินไป ความคุ้มครองที่ได้รับก็ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น หลายคนอาจเลือกซื้อเฉพาะประกันโรคร้ายแรง แต่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพ พอเจ็บป่วยหาหมอก็เบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ ดังนั้น ควรสำรวจตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อประกันว่า ชีวิตในวันนี้ยังขาดความคุ้มครองเรื่องใดอยู่บ้าง เพื่อที่จะเติมเต็มและปิดความเสี่ยงให้ครบทุกด้านให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
3. ทำประกันเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่เพิ่งมารู้ว่า เงินที่จะได้หลังเกษียณไม่พอใช้
การเตรียมพร้อมในวัยเกษียณเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหน ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วิเคราะห์ว่า คนไทยที่ออมเงินสำหรับเกษียณถึง 92.6% ไม่มั่นใจว่าจะมีเงินพอใช้เมื่อเกษียณ บางคนเตรียมความพร้อมหลังเกษียณด้วยการซื้อประกัน แต่ก็อาจไม่ตรงกับความต้องการจริง ๆ เช่น ซื้อประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปี โดยลืมคิดไปว่าจะได้เงินคืนก่อนวัยเกษียณ ก็อาจใช้เงินหมดก่อนเกษียณจริง ๆ
ดังนั้น ควรเตรียมความพร้อมให้พอดีกับชีวิตในวัยเกษียณ หากเตรียมตัวตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะช่วยให้มีเวลาในการวางแผนชีวิตวัยเกษียณและออมเงินได้นานขึ้น หรือบางคนที่มีการวางแผนเกษียณแล้ว ก็ควรลองสำรวจตัวเองดูอีกครั้ง ว่าจะมีเงินใช้ในวัยเกษียณมากพอตามที่ตั้งใจไว้แล้วหรือไม่
4. ทำประกันไว้เพื่อครอบครัว แต่เพิ่งรู้ว่า ถ้าเราจากไปเงินที่ได้ไม่พอดูแลคนข้างหลัง
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า 56% ของประกันชีวิตในไทยเป็นแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นประกันที่เอาไว้เก็บเงิน จะให้ผลตอบแทนเป็นเงินก้อนเมื่อครบสัญญา แต่ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะไม่สูงมากนัก ต่างจากประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิต อาจจะไม่มีผลตอบแทนเมื่อครบสัญญา แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝันระหว่างสัญญา คนข้างหลังของเราจะได้รับเงินก้อนใหญ่ตามเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์
ดังนั้น fintps by ttb จึงชวนให้ทุกคนกลับไปสำรวจประกันที่มีอยู่ ว่าตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้พอดีแล้วหรือยัง ซึ่ง “ความพอดี” ในวันนี้อาจแตกต่างจาก “ความพอดี” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะพื้นฐานชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น สุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนเดิม จากที่ไม่เคยมีประกันสุขภาพอาจจะต้องมองหาเพิ่ม หรือจากที่เคยใช้ชีวิตตัวคนเดียว ในวันนี้มีครอบครัว ประกันที่เคยซื้อไว้เพื่อลดหย่อนภาษี อาจไม่เพียงพอสำหรับการดูแลคนข้างหลัง หากเราต้องจากไปกะทันหัน หรือสำหรับคนที่เตรียมความพร้อมในวัยเกษียณ ได้วางแผนเกษียณไว้เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังวันเกษียณแล้วหรือยัง สิ่งสำคัญคือการอ่านรายละเอียดแต่ละกรมธรรม์ให้เข้าใจ เพื่อที่คุณจะได้เลือกประกันที่พอดีกับความต้องการที่แท้จริงของคุณ