บทความ

`โลภ` กรณีศึกษา หุ้น MORE 
15 พ.ย 2565

บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น MORE หุ้นเล็กๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอไอ แต่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ขึ้นมาอยู่บนฟีดในหลายพื้นที่ของสื่อ


ประเด็นที่ทำให้หุ้น MORE กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา จากการส่งคำสั่งซื้อหุ้น MORE ด้วยราคา ATO (AT THE OPEN)หรือ คำสั่งซื้อหลักทรัพย์ตามราคาเปิดตลาด ที่ระดับราคา 2.90 บาท จำนวน 1,500 ล้านหุ้น หรือประมาณ 22 % ของทุนจดทะเบียน หลังจากนั้นไม่นานราคา ราคาหุ้นก็ดิ่งลงสู่ราคาฟลอร์ที่ 1.95 บาท


จนนักลงทุนเกิดแพนิค แห่เทขายจนทำให้เกิดฟลอร์ที่ 2 ในวันถัดมา ราคาหล่นมาอยู่ที่ 1.37 บาท 


มีการเฉลยในภายหลังว่า คำสั่งซื้อ ATO ดังกล่าว เป็นฝีมือของนักลงทุนรายใหญ่ชื่อ "ปิงปอง" หรือนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ที่เปิดบัญชีไว้กับบริษัทหลักทรัพย์กว่า 10 แห่ง ในการเข้าทำรายการ รวมกว่า 4.5 พันล้านบาท 


โดยกฎของตลาดหุ้น กำหนดการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้น ต้องมีการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์  T+2 คือ ซื้อขายวันนี้ ต้องชำระค่าหุ้นใน 2 วันข้างหน้า 


ทำให้กว่า 10 โบรกเกอร์ เริ่มไม่มั่นใจว่า ยอดเงินที่ซื้อหุ้น More นั้นมากถึง 4.5 พันล้านบาท "ปิงปอง" จะหาเงินมาชำระค่าหุ้นได้หรือไม่ 


มีรายงานว่า โบรกเกอร์ฝั่งซื้อหุ้น MORE ประกอบด้วย บล.กรุงศรี จำนวน 927 ล้านบาท, บล.เกียรตินาคินภัทร 765 ล้านบาท, บล.ทรีนีตี้ 475 ล้านบาท, บล.คิงส์ฟอร์ด 430 ล้านบาท, บล.เอ็กซ์สปริง 343 ล้านบาท, บล.ดาโอ (ประเทศไทย) 315 ล้านบาท, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) 169 ล้านบาท, บล.เอเชีย เวลท์ 163 ล้านบาท, และบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำนวน 86 ล้านบาท


ซึ่งหาก "ปิงปอง" หาเงินมาชำระค่าหุ้นไม่ทัน ภายในวันที่ 14 พ.ย. หมายความว่ากว่า 10 โบรกเกอร์ ที่คีย์ออเดอร์ซื้อ ต้องแบกรับภาระ จ่ายเงินค่าหุ้นให้กับคนที่ขายหุ้นแทนไปก่อน 


จนกลายเป็นประเด็น "ปล้นโบรกเกอร์" 


โดยมีการคาดเดาว่า น่าจะมีการทำเป็นขบวนการ ด้วยทฤฏษีสมคบคิด เพราะเมื่อมีคนซื้อ ก็ต้องมีคนขาย ซึ่งหลายคนพุ่งเป้าไปที่ "เฮียม้อ" หรือ นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ" ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 เพราะมีหุ้นมากถึง 1,547 ล้านหุ้น ใกล้เคียงกับจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขาย   


แต่ได้รับคำยืนยันจาก"เฮียม้อ" ว่า "ไม่ได้ขาย" และยังถือหุ้นในจำนวนเท่าเดิม และในฐานะที่เป็นผู้บริหารบริษัท หากขายหุ้นแม้แต่หุ้นเดียว ก็ต้องรายงานก.ล.ต.ให้รับทราบ และบอกด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเดือดร้อนไปด้วย เพราะมูลค่าหุ้นหายไปกว่า 2 พันล้าน จากที่เคยมี 4 พันกว่าล้านบาท ตอนนี้เหลิอเพียง 2 พันล้านบาทเท่านั้น


เรื่องหุ้น More หากมองในมุมมแวดวงคนในตลาดหุ้น 


"ปิงปอง" ถูกมองว่า ใช้เล่ห์เหลี่ยม​ อาศัยช่องโหว่ หลักเกณฑ์การซื้อขายหุ้น หลอก"ปล้นโบรกเกอร์" 


ซึ่งกระทำความผิดจริงหรือไม่ เป็นหน้าที่ก.ล.ต.ที่จะต้องสืบสาวราวเรื่องเพื่อชี้มูลต่อไป 


แต่หากมองแบบคนนอกตลาดหุ้น 


สิ่งที่"ปิงปอง" กระทำ ในแง่ของหลักเกณฑ์การซื้อขาย น่าจะ "ไม่ผิด" 


เพราะ "ปิงปอง" ซื้อหุ้น More ตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากโบรกเกอร์  


เกมในตลาดหุ้นจะว่าไปแล้ว เป็นเรื่องของ ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก 


มีโบรกเกอร์ เป็นตัวกลาง "กินเปอร์เซ็นต์ค่าคอมมิชชั่น "จากนักลงทุน ทุกครั้งที่สั่งซื้อ และสั่งขายหุ้น  


โบรกเกอร์ทำธุรกิจ เพราะต้องการค่าคอมมิชชั่นจากลูกค้า 


การพิจารณารับลูกค้า และการพิจารณาให้วงเงินซื้อขายหุ้นกับลูกค้า ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ ซึ่งย่อมรู้จักลูกค้าของตัวเองเป็นอย่างดี


ยิ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ โบรกเกอร์ยิ่งต้องรู้จักดี  


ในเมื่อไปให้สิทธิเขาเอง ไปขยายวงเงินให้เขาเอง ก็เพื่อหวังจากค่าคอมมิชชั่น 


เมื่อเกิดความเสียหาย ตามหลักเกณฑ์โบรกเกอร์ ต้องนำหลักทรัพย์ ที่"ปิงปอง" มาวางค้ำประกัน รวมถึงหุ้น More ที่ซื้อมา 1,500 ล้านหุ้น บังคับขายเพื่อชดใช้หนี้ที่จ่ายแทนไปก่อน แล้วค่อยไป "ไล่เบี้ย" ส่วนที่ขาดจาก"ปิงปอง"ภายหลัง


ไม่ใช่ออกมาโวยวายว่า "ถูกปล้น" 


แล้วออกมาเรียกร้องตลาดหลักทรัพย์ และก.ล.ต. ให้ช่วย"ระงับการจ่ายเงิน" และให้การซื้อขายครั้งนี้เป็น "โมฆะ"    


ซึ่งไม่น่าจะใช่วิธีที่ถูกต้อง  


ดีที่ตลาดหลักทรัพย์ ไม่บ้าจี้ตาม 


"โลภ" ใช่หรือไม่..? 


จึงเป็นคำถามตัวโตๆ  ที่โบรกเกอร์ ต้องกลับไปทบทวน


ในเมื่อให้เครดิตวงเงินกับเขาเอง ก็ต้องยอมรับยอมรับความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น  


การมาฟ้องก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ เท่ากับกำลัง "ประจาน" ตัวเอง ถึงความสะเพร่าในการให้เครดิตวงเงินกับลูกค้า


ซึ่งจริงๆ แล้ว โบรกเกอร์เองต่างหาก ที่จะต้องถูก ก.ล.ต.  และตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบ ให้เครดิตวงเงินลูกค้าได้อย่างไร และคีย์คำสั่งลูกค้าอย่างไร จนเกิดปัญหาขึ้นมา


ถามว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นหรือไม่ บอกได้เลยว่า "มี" และมีเยอะด้วย ที่ลูกค้าซื้อหุ้นแล้ว ไม่มีเงินชำระค่าหุ้น และที่ผ่านมาโบรกเกอร์ ก็จ่ายแทนไปก่อน แล้วค่อยบังคับขายหุ้นที่ซื้อ และไล่เบี้ยส่วนที่ขาด เพียงแค่วงเงินเล็กๆ น้อยๆ ไม่ค่อยเป็นข่าว


แต่ครั้งนี้ วงเงินค่อนข้างเยอะก็เท่านั้นเอง  


เรื่องของเรื่อง จึงเป็นปัญหา ระหว่าง  


"โบรกเกอร์ กับ ลูกหนี้"  


"โบรกเกอร์ กับ เจ้าหนี้" 


แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า ทุกคนกำลังคุ้มครองโบรกเกอร์ ซึ่งถือว่า ไม่ถูกต้อง 


เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปลาเล็กรวมตัวกันกินปลาใหญ่ 


เมื่อลูกค้าที่โบรกเกอร์ให้วงเงิน ไม่สามารถชำระค่าหุ้นได้ โบรกเกอร์ ก็ต้องร่วมจ่ายไปก่อน 


ตลาดหลักทรัพย์ต้องคุ้มครอง นักลงทุน ไม่ใช่คุ้มครองโบรกเกอร์


เพราะถ้าโบรกเกอร์ ไม่ "โลภ" 


ปัญหาก็คงไม่เกิด..!

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com