หุ้นปั่น VS แชร์ลูกโซ่
เหยื่อ VS นักล่า
โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“Talk of the town” หรือเรื่องราวที่ “คนพูดถึงกันทั้งเมือง” ในช่วงนี้ก็คือเรื่องคดี Forex3D ที่เป็น “แชร์ลูกโซ่” วงใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับดาราภาพยนตร์ชื่อดังจำนวนมาก และในช่วงนี้ “เจ้ามือ” ซึ่งอาจจะรวมถึงดาราถูกจับหรือกำลังถูกเรียกตัวเพื่อส่งฟ้องศาล ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับเป็นเงินหลายพันล้านบาท และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นเหยื่อนับเป็นหมื่นคน กรณี Forex3D นั้นเกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 2-3 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะถูกจับเมื่อ 2-3 เดือนนี้—หลังจากที่แชร์ล่มและมีคนที่เข้าไปเล่นและ “ขาดทุน” ร้องเรียนกับตำรวจว่า “ถูกโกง”
เรื่องของแชร์ลูกโซ่นั้นมีมาตั้งแต่ปี 1920 หรือประมาณ 100 ปีแล้ว คนแรกที่ทำและดังมากจนชื่อของเขากลายเป็นชื่อของแชร์ลูกโซ่แบบนี้ก็คือคนอเมริกันชื่อนาย Charles Ponzi โดยที่เขาตั้งบริษัทชื่อ “Securities Exchange Company” หรือ “บริษัทตลาดหลักทรัพย์” ขึ้นมาเพื่อที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายคูปองการส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นคงเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในเทรนด์ของการเก็งกำไรสูงมากจนคนรู้สึกว่ามันเป็น “ธุรกิจแห่งอนาคต” ที่คนทันสมัยและหัวก้าวหน้าอยากลงทุนด้วย โดยที่ Ponzi สัญญาว่าถ้าใครลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 50% ในเวลา 45 วันหรือ 100% ในเวลา 90 วัน ผลก็คือ มีคนเชื่อและเข้าร่วมลงทุนจำนวนมาก
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พอนซี่ไม่ได้ลงทุนในคูปองอะไรนั่นหรอก เขาเพียงแต่รับเงินลงทุนของคนลงทุนคนแรก และจ่ายผลตอบแทนด้วยเงินลงทุนของนักลงทุนคนที่สอง และก็จ่ายเงินให้คนที่สองด้วยเงินของคนที่สามและก็ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ยิ่งมีคนมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็สามารถจ่ายเงินผลตอบแทนให้กับคนที่ลงทุนได้ตามสัญญา แต่เมื่อใดก็ตามที่คนใหม่เข้ามาลงทุนน้อยลงหรือเริ่มหยุดลง ซึ่งจะทำให้คนเก่าไม่ได้รับเงินผลตอบแทน “แชร์” ก็ล้ม คนเสียหายมากที่สุดก็คือคนที่เข้าทีหลัง คนที่เข้ามาก่อนและออกไปแล้วอาจจะได้กำไร แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะขาดทุนเพราะออกไม่ทัน คนที่กำไรมากที่สุดก็คือ “เจ้ามือ” ที่มักจะเชิดเงินหนีหรือถูกตำรวจจับไปแล้ว
แชร์ลูกโซ่ไม่ได้หมดไปหลังจากพอนซี่แต่กลับเติบโตขึ้นและกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่คนมีเงินหรือรวยขึ้นและชอบเก็งกำไรในสิ่งที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีมากแบบง่าย ๆ โดยเฉพาะในยามที่ประเทศหรือสังคมกำลังอยู่ในภาวะที่มีการเก็งกำไรสูงในอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมบางอย่าง ตัวอย่างที่ประเทศไทยก็มีกรณีแรกคือ “แชร์แม่ชม้อย” ที่เกิดขึ้นในยามที่โลกเกิดวิกฤติน้ำมันครั้งแรกในปี 1973 หรือ 2516 ซึ่งทำให้น้ำมันมีราคาแพงมาก และการค้าขายน้ำมันน่าจะทำกำไรได้มหาศาลหรืออย่างน้อยคนก็เชื่ออย่างนั้น ซึ่งทำให้ “แม่ชม้อย” จัดตั้งบริษัทชื่อ “ปิโตรเลียม แอนด์ มารีนเซอร์วิส จำกัด” และเริ่มชักชวนให้คนมาลงทุนโดยสัญญาให้ผลตอบแทนเดือนละ 6.5% หรือ 78% ต่อปี ในปี 2520 และต่อเนื่องไปถึงปี 2528
แชร์แม่ชม้อยอยู่ได้นานและดึงดูดคนจำนวนมากถึงกว่า 13,000 คน และเงินที่เสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะในสมัยนั้นคนทั่วไปและอาจจะรวมถึงเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้จักแชร์ลูกโซ่ว่าคืออะไรและทำงานอย่างไรรวมถึงกฎหมายก็อาจจะยังไม่รองรับ อย่างไรก็ตาม ชม้อยก็ถูกจับและติดคุกฐานฉ้อโกงประชาชนร่วมกับพวกอีก 7 คน เป็นเวลาคนละกว่า 100,000 ปี เพราะมีผู้เสียหายมาก แต่ตามกฎหมายก็ถูกจำคุกสูงสุดได้แค่ 20 ปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการลดโทษ 2 ครั้งในช่วงเวลานั้นทำให้ชม้อยอยู่ในเรือนจำเพียงประมาณ 8 ปีเท่านั้น
แชร์ลูกโซ่ในระยะหลัง ๆ มีการพัฒนาขึ้นมาก อานิสงส์จากนวัตกรรมการเงินและการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัดก็คือ การเกิดขึ้นของตลาดหุ้นและตลาดของเงินคริปโตและเหรียญดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีช่องทางในการลงทุนที่กว้างขวางและรวดเร็วมาก แค่ “ปลายนิ้ว” และด้วยเงินน้อยนิดซึ่งทำให้คนทั่ว ๆ ไปสามารถเข้ามาเล่นได้อย่างสะดวก
ในด้านของนวัตกรรมทางการตลาดเองนั้น นอกจากการประชาสัมพันธ์ที่ง่ายและเข้าถึงคนจำนวนมากแบบแทบไม่มีต้นทุนแล้ว ยังมีระบบการตลาดแบบเครือข่ายหลายชั้นหรือที่เรียกว่า MLM คือการที่ใช้ “แม่ทีม” ที่อาจจะเป็นลูกค้าที่มาลงทุนอยู่ก่อนแล้ว ไปหาลูกค้าใหม่ที่จะเป็น “ลูกทีม” ซึ่งเมื่อมาลงทุนก็จะทำให้แม่ทีมได้เปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนด้วย วิธีนี้ได้เปลี่ยนให้คนซื้อผลิตภัณฑ์จำนวนมากกลายเป็น “คนขาย” ที่อาจจะ “ได้กำไร” จากคนที่มาซื้อที่เป็นลูกทีม และนี่ก็อาจจะเป็นปัญหาให้กับคนจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นคนที่เข้าไปเล่นกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เพราะว่าเมื่อวงแชร์แตก “แม่ทีม” ก็อาจจะกลายเป็น “จำเลย” เพราะถือว่าไปหลอกลวงคนให้มาเล่นหรือมาลงทุน แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เข้าไปลงทุนและอาจจะเสียหายและน่าจะเป็น “โจทย์” ประเด็นนี้คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องตัดสิน
นวัตกรรมทางการเงินที่ผมคิดว่ามีปัญหายิ่งกว่าเรื่องของการตลาดก็คือ การใช้ตลาดหุ้นในการเป็น “แชร์ลูกโซ่” ดึงดูดให้คนเข้ามาลงทุนหรือมาเล่นหุ้นที่ “ถูกปั่น” หรือถูก “Corner” ให้มีราคาสูงผิดธรรมชาติมาก ซึ่งคนที่ทำนั้นไม่ต้องเปิดเผยตัวตนหรือถึงคนจะรู้ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย บางทีก็อาจจะไม่ผิดศีลธรรมหรือจรรยาบรรณอะไรด้วย ว่าที่จริงคนที่ทำอาจจะกลายเป็น “ไอดอล” นักลงทุน ที่มีอิทธิพลในการทำราคาหุ้นได้
สิ่งที่ผมคิดว่าหุ้นปั่นหรือหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์หลาย ๆ ตัวนั้นก็คือ “แชร์ลูกโซ่” ก็เพราะว่า ข้อแรก หุ้นนั้นก็คือบริษัทที่จะดึงดูดให้คนมาลงทุน เช่นเดียวกับบริษัทของพอนซี่หรือของชม้อย และก็มักจะเป็นบริษัทที่ฟังดูแล้วกำลังทำอะไรที่ร้อนแรงเป็น “ธุรกิจแห่งอนาคต”
ข้อสอง อาจจะดูเหมือนว่าบริษัทจดทะเบียนมีพื้นฐานจริง เพราะมีรายได้และกำไร บางบริษัทก็มากเป็นร้อยล้านหรือพันล้านบาท มีธุรกิจจริงและอยู่มานาน แต่ประเด็นของผมก็คือ พื้นฐานของบริษัทนั้นอาจจะเป็นเพียง 1 ใน 10 หรือน้อยกว่าเทียบกับราคาตลาดของหุ้น ซึ่งเท่ากับว่าถึงที่สุดเมื่อฟองสบู่แตก มูลค่าหุ้นลดลงไป 90% ก็แทบไม่ต่างกับแชร์ลูกโซ่ที่อาจจะลดลง 95 หรือ 99%
ข้อสาม หุ้นปั่นหรือที่ถูกคอร์เนอร์รุนแรงนั้น แม้ว่าจะไม่ได้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนแน่นอนแต่ก็สร้างสภาวะที่ดูเหมือนว่าคนเข้าไปเล่นโดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ที่มีการ “ลากหุ้น” ขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้คนที่ “เข้าไปก่อน” ได้ผลตอบแทนสูงมากและ “ติดใจ” และก็ดึงดูดให้คนเข้ามาเล่นหุ้นตัวนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น “ลูกโซ่” จนถึงคนท้าย ๆ ที่หุ้นปั่น “แตก” เพราะ “เจ้ามือ” เทขายและทำกำไรมหาศาลโดยที่ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย โดยที่เม็ดเงินที่ได้อาจจะมากกว่าแชร์ลูกโซ่อย่างเทียบกันไม่ได้
แน่นอนว่าการใช้ตลาดหุ้นและหุ้นบางตัวมาทำเป็นแชร์ลูกโซ่นั้น มีความซับซ้อนและต้องอาศัยเงินทุนและอาจจะต้องเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดและทำให้คนทำขาดทุนได้ แต่นั่นผมคิดว่าเป็นส่วนน้อยและคุ้มค่ามากที่จะทำ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าทำหลาย ๆ ตัวโอกาสพลาดซักตัวหรือสองตัวก็ไม่มีผลอะไรกับผลตอบแทนโดยรวม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำแชร์ลูกโซ่ในตลาดหุ้นนั้น ถ้าทำเป็นและรู้เรื่องกฎหมาย แทบจะไม่มีความเสี่ยงในการถูกจับเลย ยิ่งไปกว่านั้น คนที่เข้ามาเล่นก็ไม่เคยแจ้งความเอาผิดกับคนทำ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะไม่ตระหนัก ว่าที่จริงพวกเขาหลายคนก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็น “นักล่า” ที่จะเข้าไปหาผลตอบแทนหรือเป็น “เหยื่อ” ที่จะถูกกินหรือขาดทุนในการเล่นแต่ละตัวหรือในวงแชร์แต่ละวง
ที่มา :
https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/09/19/2707
#ดรนิเวศน์ #ลงทุนเน้นคุณค่า #valueinvestor #SETInvestnow #SettradeBlog