ฉับพลันที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมประกันภัย ระแคะระคายข่าวความเคลื่อนไหวของสำนักงานคปภ.ที่จะออกประกาศสั่งปิดกิจการบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด(มหาชน) ในช่วงสายของวันที่ 13 ธันวาคม ปรากฏเสียงวิพากษ์พอเป็นสังเขปในอารมย์ที่ไม่ยินดียินร้าย
แค่ระดับ...ปิดอีกแล้วหรือและไม่มีทางเลือกอื่นอีกหรือไร?
แต่กระนั้นยังมีแรงกระตุ้นให้ติดตามถึงเรื่องราวที่กำลังเกิด เมื่อสำนักงานคปภ.ร่อนสารทางออนไลน์เชิญชวนให้สื่อมวลชนร่วมฟังแถลงข่าวเรื่อง ช่วยเหลือเยียวยาผู้เอาประกันภัย บริษัทเดอะ วัน ประกันภัย จำกัด(มหาชน) ด้วยความเชื่อมั่นว่า เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องปิดกิจการบริษัทประกันภัยสถานเดียว ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้เอาประกันภัย คงต้องมีมิติใหม่อะไรออกมาบ้าง
แบบว่า...ตื่นเต้นยากรู้!
แต่ผลที่ออกมาในยามเย็นของวันวานหลังมีคำสั่งปิดกิจการเดอะวัน มาตราการช่วยเหลือเยียวยามีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันกับการปิดบริษัทในยุคที่ยังดำรงร่างเป็นกรมการประกันภัย
แหม....ถ้าไม่มีกราฟฟิคอินโฟล์มาประกอบ คงหาความแตกต่างไม่เจอ
ลืมไป! ยังมีข้อแตกต่างอีกประเด็นหนึ่ง นั้นก็คือผลงานของสำนักงานคปภ.ที่ได้แถลงว่าก่อนที่จะมีคำสั่งปิดกิจการทางสำนักงานคปภ.สามารถเร่งบริษัทให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 29,000 ราย รวมถึงกรณีร้องเรียน ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 สามารถเคลียร์ได้ 3,856 เรื่อง รวมเป็นเงิน 2,435 ล้านบาท
ชื่นใจดีจัง!....เก่งและขยัน พิทักษ์ประโยชน์ปวงประชาได้อย่างดียิ่ง
แต่ถ้าจะให้ชื่นใจกว่านี้น่าจะแถลงออกมาว่า จำนวนลูกค้าที่ถือสัญญาประกันภัยกับบริษัทมีเหลืออยู่เท่าไหร่ และหมายรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนนายหน้า คู่ค้า เจ้าหนี้ ลูกจ้างบริษัท ยันวินมอเตอร์ไซน์รับจ้าง แม่ค้าหาบเร่หน้าบริษัทเดอะวัน
กี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านคน....ที่ได้รับผลจากการปิดกิจการบริษัทไปด้วย!
หรือจะให้หวังว่ากองทุนประกันวินาศภัยมาเป็นตัวช่วย ด้วยการควักเอาเงินกองทุนที่มีอยู่มาชดใช้ให้กับผู้เอาประกันภัย และบริหารจัดการยึดทรัพย์สินของบริษัทเดอะวันที่มีอยู่มาชดใช้เพิ่มเติม รวมไปถึงสำรองเผื่อแผ่ไปถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เจ้าหนี้ คู่ค้า ตัวแทนนายหน้า
อย่าลืมความจริงที่ว่า ทุกวันนี้กองทุนประกันวินาศภัยถ้าเปรียบเสมือนเป็นบริษัทประกันภัย ก็มีฐานะทางการเงินเข้าข่ายที่จะต้องถูกปิดเหมือนบริษัทประกัน เช่นเดียวทรัพย์สินของบริษัทเดอะวันที่มีอยู่ เป็นทรัพย์สินที่ทรงค่าในฐานะอสังหาริมทรัพย์แค่ 66 ล้านบาทมีเรือนทุนพันธบัตรที่แปรเป็นเงินสดได้แค่149 ล้านบาท
แต่ประทานโทษ! มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึง 2.9 พันล.หรือ 2.7 เท่าของทรัพย์สิน
ไม่รู้สำนักงานคปภ.ตรวจ”รายงานทางการเงินระหว่างกาล”กันอย่างไร จึงปล่อยให้หนี้สินพอกพูนบานทะร่ออย่างนี้ สงสัยคงต้องให้ห้างแว่นตาไปเปิดสาขาฝั่งตรงข้ามศาลอาญา
นี้คือประเด็นสำคัญทึ่สำนักงานคปภ.ต้องตอบสังคม
ต้องตอบให้ชัดเจนว่า กองทุนประกันวินาศภัยยังมีความพร้อมในการรองรับผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบรวมไปถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่นเดียวกัน จากการที่เคยสั่งให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายสินไหมภายในกี่วัน สำนักงานคปภ.ต้องสร้างมาตราฐานเดียวกันประกาศให้ชัดออกไปเลยว่า จะชดเชยคืนให้ผู้เอาประกันภัยกี่วันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกี่วัน
ส่วนประเด็นที่ต้องถามเพิ่มอีกว่า การสั่งปิดกิจการแล้วคืนเงินให้ลูกค้า หรือการให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนสัญญากรมธรรม์กับบริษัทอี่นที่เข้ามารองรับได้บนเงื่อนไขความคุ้มครองที่เปลี่ยนได้ โดยไม่มีการเจอจ่ายจบ อรรถประโยชน์ที่ประชาชนได้รับมันจะต่างกันตรงไหนกับ กับเงื่อนไขที่เดอะวันร้องขอมาก่อนหน้าก่อนถูกปิดกิจการ
แต่ถ้ามองย้อนกาลเวลาไป 10 ปี ปิดไป13 บริษัท สังคมคงจะได้คำตอบเป็นอย่างดี
เพื่อประชาชนหรือทิ้งประชาชน
By Mr.DISCLOSURE