Key Highlights
ธนา ตุลยกิจวัตร
วีระยา ทองเสือ
Krungthai COMPASS
บทสรุปภาคการท่องเที่ยวปี 2566:ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด แต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าเป้าหมาย
ภาคการท่องเที่ยวไทยปี 2566 ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 28.2 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทยกว่า 249 ล้านคน[1] สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยรวม 2.17 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย กลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 เติบโตขึ้นกว่า 154%YoY ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเติบโตราว 22%YoY อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่ 39.9 ล้านคน โดยคิดเป็นอัตราการฟื้นตัวราว 71% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยแม้จะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว แต่มีข้อสังเกตว่าการใช้จ่ายต่อคนยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 27% ส่งผลให้รายได้โดยรวมจากการท่องเที่ยวในปี 2566 ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ ททท. วางไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ราว 8.7%
มาเลเซียเที่ยวไทยมากที่สุด ขณะที่ นักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวช้า
ในปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนเป็นหลัก โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 4.6 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน ยังฟื้นตัวได้เพียง 32% โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียมีอัตราการฟื้นตัวราว 108% ซึ่งกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มอาเซียนก็มีระดับการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี เช่น เวียดนาม (96%) สิงคโปร์ (89%) ในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนแม้จะมีจำนวนสูงสุดเป็นอับดับ 2 ที่ 3.5 ล้านคน แต่ยังฟื้นตัวได้เพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เคยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 11.1 ล้านคน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวได้ต่ำลง รวมถึงวิกฤตจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะที่รัฐบาลจีนได้มีการกระตุ้นให้คนจีนท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
อัตราเข้าพักและราคาห้องพักปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายต่อคนยังน้อยกว่าปี 2562
ในปี 2566 อัตราการเข้าพักของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 69.3% กลับมาใกล้เคียงปี 2562 แล้ว ขณะที่ราคาห้องพักที่ขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,488บาทต่อห้อง คิดเป็นการฟื้นตัวราว 86% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายต่อคนโดยรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่ราว 2.5% ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จำนวนจะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่การใช้จ่ายต่อคนยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 กว่า 27% โดยปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่46,713 บาท ยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่เล็กน้อย เนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มหลักในปี 2566 ยังเป็นกลุ่มอาเซียนที่มีการใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนในปี 2566 อยู่ที่ 3,448 บาท ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 4,724 บาท ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า จากราคาห้องพักที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลง อาจมาจากค่าใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าซื้อสินค้า เป็นต้น
ทิศทางการท่องเที่ยวไทย ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะเป็นอย่างไร?
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2567 ภาคการท่องเที่ยวไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 34 ล้านคน หรือฟื้นตัวราว 85% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) โดยนักท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มอาเซียน อินเดีย รัสเซีย รวมถึงกลุ่มยุโรป จะฟื้นตัวได้ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักจะยังฟื้นตัวได้ราว 63% เมื่อเทียบปี 2562 จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่คาดว่ายังเติบโตได้ค่อนข้างช้า และยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อและการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยคาดว่าจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่คนไทยสามารถปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ได้แล้ว ทำให้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวทั้งปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวราว 84% เมื่อเทียบกับปี 2562
ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงระดับปกติ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 38.5 ล้านคน ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมจะขยายตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 3.2 ล้านคนต่อเดือน รวมถึงนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2568 จะฟื้นตัวได้ราว 87% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ไม่รวมจีน) จะกลับมาเท่าระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องราว 2-3%YoY จากสถานการณ์โดยรวมที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 2.92 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวได้ราว 98% เมื่อเทียบกับปี 2562
เปิด 4 ปัจจัยหนุนนักท่องเที่ยวหวังกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19
Krungthai COMPASS ประเมิน 4 ปัจจัยหนุนหลัก ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ได้แก่
ประการที่ 1: ความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาได้ค่อนข้างเร็วจนปัจจุบันเริ่มใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว โดยข้อมูลล่าสุดขององค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ชี้ให้เห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2566 ฟื้นตัวได้ราว 90% เมื่อเทียบกับปี 2562[2] และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการของนักท่องเที่ยวหลายประเทศทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ที่ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2567-2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกลุ่มประเทศ Asia Pacific หรือ APAC จะขยายตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 728 และ 788 ล้านคน ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ราว 6-15%
ขณะเดียวกันข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ยังชี้ว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ จากการจัดอันดับภาพรวมประเทศที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 โดย U.S. News & World Report พบว่า ไทยติดอันดับที่ 29 จาก 87 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย นอกจากนี้ ยังระบุถึงไทยว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากที่สุดในโลก เนื่องจากไทยมีจุดเด่นด้านวัฒนธรรม และชายหาดที่สวยงาม
ประการที่ 2: การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจีนยังเป็นความหวังสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการวีซ่า-ฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นการถาวร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่มีข่าวเผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ยอดค้นหาคำว่า “ประเทศไทย” บนแพลตฟอร์มของซีทริป กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการเดินทางท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีน เพิ่มขึ้นกว่า 90% ขณะที่ยอดค้นหาเที่ยวบินเส้นทางเซี่ยงไฮ้-กรุงเทพฯ และปักกิ่ง-กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นกว่า 40%[3]
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน Top Destination ของนักท่องเที่ยวจีนอีกด้วย โดยจากผลการสำรวจ ณ ก.ย. 2566 ของ Dragon Trail International บริษัท Agency ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีน พบว่า หากไม่นับรวม ฮ่องกง มาเก๊า ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Greater China นักท่องเที่ยวจีนยังคงสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่าแม้คนจีนจะมีแนวโน้มเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น แต่การฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ค่อนข้างมาก เนื่องจากยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ชะลอตัว และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ขณะที่ชาวจีนบางส่วนยังมีความกังวลจากข่าวเชิงลบ โดยเฉพาะประเด็นความไม่ปลอดภัย ทำให้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปจาก 3.5 ล้านคน ในปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 7.0 ล้านคน และ 9.6 ล้านคน ในปี 2567-2568 หรือฟื้นตัวราว 63-87% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562
ประการที่ 3: อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงพอที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเติบโตขึ้นในปี 2567-2568 โดยสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศและในประเทศของไทยจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 สอดรับกับข้อมูลของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่ประเมินว่า จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 120-130 ล้านคน ซึ่งกลับไปอยู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว อีกทั้งในเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา AOT ได้มีการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารมากขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินโดยรวมในปี 2567-2568 จะฟื้นตัวได้ราว 90-101% เมื่อเทียบกับปี 2562
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากนโยบายเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน (ภายใน 1 ปี) ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะเร่งจัดสรรเวลาการบิน (Slot) เพิ่มขึ้น 15% ต่อสัปดาห์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานในระยะกลาง (1-3 ปี) เช่น การสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก (East Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 15 ล้านคนต่อปี
ส่วนแผนงานในระยะยาว (5-7 ปี) อย่างการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ เช่น การก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ล้านนา) และท่าอากาศยานพังงา หรือภูเก็ตแห่งที่ 2 (อันดามัน) คาดว่าจะส่งเสริมให้ไทยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ได้เพิ่มขึ้นอีกถึง 50 ล้านคนต่อปี
ประการที่ 4: มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง จะช่วยหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีการออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa Free) สำหรับชาวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาไทยมากขึ้น รวมทั้งมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถพำนักในไทยได้สูงสุดจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน อีกทั้งยังมีมาตรการขยายเวลาให้บริการของสถานประกอบการได้ถึงตี 4 ในเขตพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยนานขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐอาจพิจารณานโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งที่น่าสนใจ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยเพิ่มเติม โดยเรามองว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ จากภาครัฐ จะมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2567-2568[4]
แล้วจังหวัดไหนจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะข้างหน้า?
Krungthai COMPASS ประเมินว่าจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2567-2568 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทัวร์จีน ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมาจังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าจังหวัดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยสาเหตุหลักเกิดจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเองเกือบทั้งหมด ขณะที่กลุ่มกรุ๊ปทัวร์จีนที่เคยเป็นตลาดหลักยังกลับมาค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ในปี 2567-2568 คาดว่า บริษัทนำเที่ยวในจีนจะกลับมาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายวีซ่า-ฟรี ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 รวมถึงเส้นทางการบินระหว่างไทย-จีน ที่จะทยอยเปิดใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566-25678[5] ส่งผลให้จังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ที่เคยได้รับความนิยมจากกลุ่มกรุ๊ปทัวร์จีน จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
Implication
3 ข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายของภาคการท่องเที่ยวไทย
หากมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยที่ท้าทายอีกหลายประการ อาทิ จำนวนและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซี่งเป็นโจทย์สำคัญและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem โดย Krungthai COMPASS มองว่า 3 แนวคิดหลัก ที่ช่วยให้ไทยก้าวข้ามความท้าทาย และช่วยขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวไทย ได้แก่