"การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด คือ การยอมเลิกกิจการเพื่อให้ทุกคนได้เงินคืน"
วรรคทองในแถลงการณ์บอกเลิกกิจการประกันภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยจำกัด(มหาชน)ดูสวยหรูและน่าจะยุติได้อย่างไร้ปัญหา
แต่ความจริงกลับเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ชาวบ้านเดือดร้อนกันทั้งบาง!
เมื่อสำนักงานคณะกรรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ออกมาเสียงแข็ง ยังเลิกไม่ได้ บริษัทต้องดำเนินการไปตามกระบวนการของกฏหมายเสียก่อน
โดยวรรคทองของหนังสือชี้แจงยังไม่ให้เลิกกิจการ....เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย
แล้วจะได้สิทธิเลิกกิจการเมื่อไหร่ ขั้นตอนที่ต้องทำไปตามกระบวนการที่คปภ.ว่าไว้ต้องใช้เวลากี่วัน ยังไม่มีเสียงสวรรค์ เพราะเชื่อว่าเทวดาคงมึนๆกับการค้นหาคำตอบเหมือนกัน
เฉพาะกติกาที่ว่า” ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการแจ้งรายชื่อบริษัทที่จะรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยให้สำนักงาน คปภ.พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน”
แค่การเจรจายอมรับโอนประกันภัยประเภทอื่น แต่ไม่ขอรับประกันโควิด คงต้องเถียงกันอีกยาวนาน เถียงเสร็จยังต้องเสนอคปภ.อีกว่า ข้อตกลงร่วมนี้คปภ.โอเคมั๊ย!
ยิ่งมองไปถึงระยะเวลาอีกกติกาหนึ่งที่ต้องทำ”ช่องทางและวิธีการบอกกล่าวฯ ให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย จะต้องเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การบอกกล่าวเจ้าหนี้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”
กว่าจะส่งหนังสือแจ้งผู้เอาประกันภัย กว่าจะผู้เอาประกันภัยจะแจ้งหนังสือกลับมาบริษัท เพื่อเป็นหลักฐานนำส่งกลับไปยังคปภ.ว่า....ไม่ได้กระทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิม ตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 350
และที่สำคัญไม่ใช่ส่งทางไลน์ได้เลย ต้องไปรษณีย์ลงทะเบียนเท่านั้น และยังไม่รับรวมถึงปริมาณที่ต้องส่งกว่า 10 ล้านฉบับ
นั้นก็หมายความว่า บทสรุปของเรื่องนี้คงไปตามคำพระที้ว่า...กาลเวลาเคลื่อนคล้อยเวลาเหลือน้อยลงทุกที
ณ วันที่ 1 ม.ค. 65 บริษัทอาคเนย์มีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท เพื่อใช้ในการชำระคืนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ได้
เซียนประกันภัยประเมินว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สินไหมของบริษัทอาคเนย์จะเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท เข้าสู่ระดับหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
เมื่อถึงเวลานั้นคงไม่ต้องรอว่าบริษัทประกันไหนมารับช่วงต่อ หรือลูกค้าส่งหนังสือยืนยันมาครบครันว่าไม่โดนขืนใจ เพราะบริษัทอาคเนย์เข้าเงื่อนไขที่ต้องถูกปิดกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตามรอยเอเชียประกันภัยและเดอะวัน และเช่นกันผู้เอาประกันภัยก็ไปทวงหนี้ค้างกันที่สำนักงานกองทุนประกันวินาศภัย
อย่างไรก็ตามจะเป็นไปตามคำพังเพยที่ว่า”กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”หรือไม่อย่างไร แต่นาทีนี้ความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยลุกลามขยายวงไปใหญ่ ล่าสุดเป็นที่รับรู้กันในแวดวงอู่ซ่อมรถยนต์ว่า ถ้ารถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับบริษัทอาคเนย์ ประสงค์ที่จะเข้าซ่อมก็ต้องสำรองเงินสดจ่ายค่าซ่อมมาก่อน และทางอู่จะออกเอกสารให้เจ้าของรถยนต์นำไปเบิกจ่ายกับบริษัทอาค์เนย์ด้วยตนเอง
ต้องอธิบายกันให้ชัดเจนตรงนี้ การปฎิเสธไม่รับซ่อมรถยนต์ที่ทำประกันภัยไว้กับอาคเนย์นั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่อู่ซ่อมรถยนต์สามารถกระทำได้ และทางสำนักงานคปภ.ไม่มีสิทธิที่จะมาแทรกแซงก้าวก่าย ซึ่งต่อให้อู่ซ่อมรถยนต์นั้นๆเป็นคู่สัญญาหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็นอู่ในเครือของบริษัทอาคเนย์ก็ตามที
แต่ถ้าเป็นกรณีที่รถยนต์คันอื่นๆถูกรถยนต์ที่ทำประกันกับบริษัทอาคเนย์มาเฉี่ยวชน ถ้ารถยนต์คันที่ถูกชนนั้นทำประกันประเภท 1 หรือประเภท 2+ 3+รถชนรถเอาไว้ ทางสำนักงานคปภ.สามารถเข้าไปแทรกแซงพิทักษ์ผลประโยชน์ให้ได้ทันที เพราะตามหลักของการประกันภัยรถยนต์ บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบรถยนต์ที่รับประกันไว้ จะมาตีขลุมทำหน้าซื่อบอกลูกค้าให้นำรถยนต์ไปให้บริษัทอาคเนย์ซ่อมหรือต้องจ่ายค่าซ่อมเองแล้วไปเบิกกับบริษัทอาคเนย์ด้วยตนเองไม่ได้
กรณีปฎิเสธการซ่อมรถยนต์ดังกล่าว ถ้าเป็นในอดีตไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะในอดีตได้มีการสร้างกลไกที่เรียกว่า”อู่กลางการประกันภัย”ขึ้นมารองรับ บริษัทถูกปิดหรือบริษัทปฎิเสธไม่รับซ่อม ผู้เอาประกันภัยสามารถนำรถยนต์ที่เสียหายและเข้าเข้าเงื่อนไขความคุ้มคตรองจากบริษัทประกันภัย สามารถนำรถยนต์เข้าซ่อมที่อู่กลางได้ทันที และเมื่อซ่อมรถยนต์เสร็จอู่กลางจะสวมสิทธินำค่าใช้จ่ายมาเบิกกับกรมการประกันภัยโดยตรง
แต่ปัจจุบันนี้กลไกที่รองรับความเดือดร้อนในเรื่องของการซ่อมรถยนต์ได้หายไปอย่างไรไร้ร่องรอย ดังนั้นเพื่อให้ความหมายของคำว่า” เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย”มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทางสำนักงานคปภ.น่าจะนำกลไกดังกล่าวมาบังคับใช้อีกครั้ง
ยอมถอยหลังเข้าคลองยังมีโอกาสพบทางออก แต่ถ้าชอบพายวนอยู่ในอ่าง ก็ได้แต่มึนๆกันไปเหมือนกับทุกวันนี้นั้นแล!
Mr. DISCLOSURE