เรื่องราวของประกันภัยโควิด 19 เจอ จ่าย จบ จะจบลงตรงไหน?
กลายเป็นทอล์ก ออฟเดอะทาว์น ที่คนในแวดวงธุรกิจ ยันสภากาแฟ อบต.วิจารณ์กันอึ่งมี่
ประเด็น...จ่าย หรือไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน....เป็นเรื่องเล็กไปซะแล้ว
เพราะวันนี้มีเรื่องใหม่ใหญ่กว่ามาให้ลุ้นกันตัวโก่ง....ธุรกิจประกันภัยเจ็งหรือไม่!
ล่าสุด คุณอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดเวทีแถลงข่าวส่งสัญญาณ ว่า ส่อเค้าเจ๊งทั้งระบบ ในขณะที่ฝั่งผู้คุมกฏ สำนักงานคปภ. ท่านเลขาธิการสำนักงาน ดร. สุทธิผล ทวีชัยการ ยังยึดมั่นในหลักการ "ใช้มาตราการทางกฏหมายโดยเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ประชาชน” อันเป็นวรรคทองที่สาธารณชนได้รับทราบอยู่เสมอๆ ในทุกเหตุการณ์ที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น
แน่นอน!ถ้าหยั่งเสียงประชามติในยุคสังคมดราม่าอย่างนี้ คะแนนไหลท่วมท้นไปยังสำนักงานคปภ. เตรียมขึ้นแท่นเป็นพระเอกขวัญใจประชาชนตลอดกาล ส่วนฝั่งธุรกิจประกันวินาศภัยย่อมรับบทผู้ร้ายตลอดไปเช่นกัน
แต่ถ้าถามว่า ธุรกิจประกันภัยเจ๊งจริง! ประชาชนเดือดร้อนไหม!
เป็นปุจฉาที่ต้องเจริญสติคิดกันให้ถี่ถ้วน
อย่าลืมความจริงที่ว่า ทุกวันนี้มีประชาชนซื้อประกันภัยเพื่อความคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆไว้ถึง 70 ล้านกรมธรรม์ รวมมูลค่าความคุ้มครอง 317,204,907,837,000 บาท
7 ล้านกรมธรรม์ กับ 70 ล้านกรมธรรม์ ความเสียหายอะไรมากกว่า!
จึงต้องกังขาในประสิทธิภาพการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ.ว่า ทำไม เลือกที่จะพิทักษ์ผู้เอาประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ 7 ล้านกรมธรรม์ ด้วยการดึงเอาผู้เอาประกันภัยอีก 70 ล้านกรมธรรมม์ มาเสี่ยงให้เดือดร้อนด้วย เพราะถ้าผลเป็นไปตามคาดการณ์ ว่า ถ้าไม่ยกเลิกความคุ้มครองประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ 7 ล้านกรมธรรม์ ค่าสินไหมทดแทนจะบานทะลักถึง 60-70% ของเงินกองทุน(ค่ามาตราฐานอยู่ที่ 10%) ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยไม่สามารถไปต่อได้
อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาที่ว่านี้ ทางสำนักงานคปภ.ออกมายืนยันแล้วว่า “ยังไม่พบปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบ” แปลเป็นภาษาชาวบ้านได้ ว่า "ไม่ส่อเค้าเจ๊ง” เพราะระดับเงินกองทุนที่ถือเสมือนว่า เป็นเงินหน้าตักที่ได้สิทธิลงมาเล่นในวงไพ่ ยังมีเงินก้อนโตอยู่กว่า1.9 แสนล้านบาท
สอดรับกับถ้อยแถลงของ นายกสมาคมประกันวินาศภัย ซึ่งระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าในจำนวน 16 บริษัทที่รับประกันภัยโควิด มีเพียบง 4-5 บริษัทเท่านั้น ที่มีปัญหาทางการเงิน ในขณะที่อีก 6-7 บริษัท ยังมีฐานะการเงินยังดีอยู่
แต่กระนั้นยังทิ้งท้ายไว้ให้ขบคิดในท่วงทำนองที่ว่า ถ้าโควิดระบาดระลอกใหม่อีกในช่วงต้นปีหน้าหลังจากเปิดประเทศเต็มรูป อาจทำให้ค่าสินไหมทดแทนทะลุไปถึง 60-70% ดังที่กล่าวข้างต้น
ภาวะที่ประกันวินาศภัยกำลังเซๆ ก็คงขั้นหงายหลังล้มตึงไปเลย
ไม่น่าเชื่อครับท่าน! ธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทำธุรกิจขายความเสี่ยงแต่กลับมาเป็นตัวเสี่ยงเสียเอง และที่สำคัญเราๆ ท่านๆ ต้องร่วมเสี่ยงกับธุรกิจประกันไปด้วย ลุ้นกันถึงปีหน้าโน้น ว่า เราจะเดือดร้อนจากธุรกิจประกันเจ๊งหรือไม่
และที่สำคัญยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตระหนักกันให้มาก แม้ว่าโชคชะตาทำให้โควิดไม่ระบาดและบริษัทประกันภัยรอดสันดอนไปได้ แต่จากการล้มหายตายจาก หรืออ่อนเปลี่ยเพลียแรงไร้เงินทุนขับเคลื่อนของบริษัทประกันภัยส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก แน่นอนผลพันธ์ที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม”
ปรากฏการณ์ธุรกิจสื่อสาร การควบรวมของ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่มือถือ ยังวิจารณ์ยันวิตกกังวล ว่า จะส่งผลต่อราคาค่าใช้บริการโทรศัทพ์หรือไม่ แล้วนับประสาอะไรกับตลาดสีเลือดของธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ จะไม่เกิดการผูกขาดในเรื่องราคา
ข้อเท็จจริงของตลาดประกันภัยรถยนต์วันนี้ บริษัทประกันภัยรายเล็กสามารถทำราคาได้ถูกกว่า จนทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องทำราคาลดลงมาให้ใกล้เคียง ส่งผลให้ทุกวันนี้อัตราค่าเบี้ยประกันภัยสูงต่ำที่สำนักงานคปภ. กำหนดมาตราฐานราคาไว้ ส่วนใหญ่จะขายกันในราคาพิกัดต่ำ
ต่อเมื่อบริษัทขนาดกลางและเล็กต้องล้มหายตายจาก หรือเป็นอัมพาตทางการเงินไม่มีแรง แน่นอนบริษัทยักษ์ใหญ่ย่อมใช้อำนาจเหนือตลาดดึงราคาไปอยู่ในพิกัดสุดเพดานของอัตราเบี้ยประกันภัย
สรุปง่ายๆ บริษัทประกันภัยจะเจ๊ง หรือไม่เจ๊ง เราๆ ท่านๆ เตรียมควักเงินเพิ่มจ่ายค่าเบี้ยที่แพงขึ้นได้เลย
เฮ้อ....เจอ จ่าย จบ มาจบที่เราจนได้
By Mr.DISCLOSURE
----------------------------
ติดตามข่าวสาร ความรู้ทางการเงิน-การลงทุนได้ที่
Facebook : Clubhoon
Website : www.Clubhoon.com
Twitter : www.twitter.com/Clubhoon1