บทความ

Krungthai Compass ชี้ส่งออกเดือน ก.ค. ติดลบ 6.2% คาดส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตได้ในระดับต่ำ
28 ส.ค. 2566

ส่งออกเดือน ก.ค. หดตัว 6.2%YoY ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ตามการส่งออกทั้งหมวดอุตสาหกรรม และหมวดเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อุปสงค์ลดลงและผู้ผลิตลดการสต๊อกสินค้า สำหรับการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องที่ -11.1% และดุลการค้าในเดือน ก.ค. ขาดดุล 1,977.8 ล้านดอลลาร์ฯ 

Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากอุปสงค์ตลาดหลักยังซบเซา และอาจกดดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังให้เติบโตได้ต่ำ โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่องจากกลุ่มสิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก พลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น โดยภาคการผลิตของประเทศตลาดหลักหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับลดลงทำให้ผู้ผลิตลดการสต๊อกวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปลง

 

มูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคม 2566 หดตัว 6.2%

มูลค่าส่งออกเดือน ก.ค. อยู่ที่ 22,143.2 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 6.2%YoY เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ -0.75% โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดส่งผลให้อุปสงค์ลดลง และผู้ผลิตลดการสต๊อกสินค้าสำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัว 53.7% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ติดลบ 5.3%YoY ทั้งนี้การส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 5.5% 

ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัว 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -3.4%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว -4.6%YoY จากการหดตัวของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (-28.2%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-24.2%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-6.2%) และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (-24.0%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (+24.6%) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+40.5%) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+82.9%) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+29.4%) และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+10.8%) เป็นต้น 

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -9.6%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว -8.6%YoY จากสินค้าหมวดเกษตรและหมวดอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง -7.7%YoY และ -11.8%YoY ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา (-37.8%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-12.9%) น้ำตาลทราย (-30.3%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-7.7%) และไก่แปรรูป (-11.4%) เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (+5.3%) ข้าว (+18.8%) สิ่งปรุงรสอาหาร (+17.8%) ผักกระป๋องและแปรรูป (+17.2%) และนมและผลิตภัณฑ์นม (+27.9%) เป็นต้น

 

ด้านการส่งออกรายตลาดส่วนใหญ่หดตัว 

สหรัฐฯ : กลับมาขยายตัวที่ 0.9%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 3.0%)  

จีน : กลับมาหดตัวที่ -3.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง ผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 3.7%)  

ญี่ปุ่น : กลับมาหดตัวที่ -1.7%YoY สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 1.3%)  

EU27 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -6.6%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และยางพารา เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 3.0%)  

ASEAN5 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -18.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 9.1%) 

มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. อยู่ที่ 24,121.0 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 11.1%YoY หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 10.3%YoY ตามการหดตัวของสินค้าเชื้อเพลิง (-25.0%YoY) จากผลของฐานราคาพลังงานที่สูงในปีก่อน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-24.4%YoY) ตามการส่งออกที่หดตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (+6.9%YoY) และสินค้าทุน (+5.8%YoY) กลับมาขยายตัว สำหรับยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวต่อเนื่อง (+93.2%YoY) ด้านดุลการค้าเดือน ก.ค. กลับมาขาดดุล 1,977.8 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับดุลการค้า 7 เดือนแรกขาดดุลสะสม 8,285.3 ล้านดอลลาร์ฯ

 

Implication:

การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากอุปสงค์ของประเทศตลาดหลักยังซบเซา โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ติดลบต่อเนื่อง (มูลค่าส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 5.0%YoY) จากกลุ่มสิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก พลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สะท้อนถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวและยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยภาคการผลิตของประเทศตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรปหดตัวต่อเนื่องในเดือน ส.ค. จากเครื่องชี้ Flash Manufacturing PMI อยู่ในโซนหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับลดลงทำให้ผู้ผลิตลดการสต๊อกวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปลง ขณะที่จีนกลับมาหดตัวในเดือน ก.ค. สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน (Industrial production) ที่ชะลอลง Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณอ่อนแอลงต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้เติบโตได้ในระดับต่ำ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com