บทความ

ธปท. เปิดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย 
23 ส.ค. 2565

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Media Briefing เรื่อง“ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” ขึ้นโดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานดังกล่าว มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ “แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า แนวนโยบาย Financial Landscape เพื่อสื่อสารมุมมองและทิศทางนโยบายของ ธปท. ในการพัฒนาภาคการเงินไทย ภายใต้กระแสโลกใหม่อย่างดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้เปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคการเงิน เพื่อนำมาประกอบการกำหนดทิศทางของภาคการเงิน

 

นับจากวันที่เราเผยแพร่แนวนโยบาย Financial Landscape  ธปท. ได้ทยอยออกมุมมองต่อแนวนโยบายแต่ละด้านในรายละเอียด เพื่อเพิ่มความชัดเจนในสิ่งที่ ธปท. อยากเห็นและไม่อยากเห็น รวมถึงความเชื่อมโยงต่อแนวทางการพัฒนาภาคการเงินในระยะข้างหน้า เริ่มจากแนวนโยบายด้านดิจิทัลที่เน้นสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น การอนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงแนวนโยบายด้านการกำกับดูแลให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ เช่น การกำกับธุรกิจให้เช่าซื้อและ leasing รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค และดูแลการก่อหนี้ของครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน1

 

ในวันนี้ ธปท. จะนำเสนอแนวนโยบายอีกด้านที่สำคัญ คือ บทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะไทยมีความเสี่ยงสูง เห็นได้จากแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในภาคเกษตรที่จะถูกกระทบจาก climate change ซึ่งไทยติดอันดับ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับผลกระทบด้านนี้ ตามดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index ในปี 2021 อีกทั้งการผลิตกว่า 13% ของ GDP ในภาคอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในโลกเก่า และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป

 

สำหรับไทย เรายังมีบางจุดที่ปรับตัวในเรื่องนี้ช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จากความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติของไทยยังอยู่อันดับ 39 จาก 48 ประเทศ และแม้ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว โดยบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิกดัชนี DJSI หรือ Dow Jones Sustainability Index ถึง 24 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ SMEs ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่ใน supply chain ของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะจะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันให้ปรับตัวก่อน

 

ในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ภาคการเงินจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะมีหน้าที่จัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคเศรษฐกิจ และสามารถจูงใจให้เกิดการปรับตัว อีกทั้งภาคการเงินเองยังมีส่วนได้ส่วนเสียจากการมี exposure กับลูกหนี้ธุรกิจและครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งในการทำหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด จะต้องสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการดำเนินการต้องไม่เร็วเกินไป จนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ช้าเกินไป จนผลกระทบลุกลามและแก้ไขได้ยาก ดังนั้น จังหวะเวลาหรือ timing และความเร็วหรือ speed ของการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศและแต่ละภาคส่วน

 

ธปท. จึงได้จัดทำแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสื่อสารทิศทางการดำเนินงานที่ ธปท. จะผลักดันในอนาคต เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงกรอบเวลาและขั้นตอนการขับเคลื่อน เพื่อช่วยให้ภาคส่วนอื่น ๆ สามารถวางแผนและดำเนินการให้สอดคล้องกัน

 

อย่างไรก็ดี ภาคการเงินจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การจะขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระดับประเทศภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ส่วนภาคธุรกิจต้องประเมินผลกระทบและปรับตัวให้ทันการณ์ โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อที่จะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ขณะที่ประชาชนต้องตระหนักถึงผลกระทบ และทยอยปรับการใช้ชีวิต ทั้งหมดนี้จะช่วยให้การก้าวไปสู่เป้าหมายของประเทศทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างราบรื่น

 

สำหรับในเสวนาโดยมีนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยสำนักกลยุทธ์สถาบันการเงิน  และนางสาวศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการ สำนักกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ได้ร่วมกันฉายภาพทิศทางการพัฒนาและการดำเนินการร่วมกันระหว่าง ธปท.และสถาบันการเงิน ดังนี้ 

 

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นทิศทางการพัฒนาภาคการเงินในภาพรวม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ ธปท. จึงได้จัดทำ “ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” ที่เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภาคการเงินให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนทยอยปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ 

 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการปรับตัว จะต้องคำนึงถึงบริบทและความพร้อมของแต่ละภาคเศรษฐกิจด้วย เพราะไทยยังพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง และใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ขณะที่กลไกในระบบการเงินที่จะสร้างแรงจูงใจให้แต่ละภาคส่วนปรับตัว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

 

สิ่งที่ธปท. อยากเห็น คือ สถาบันการเงินสามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้โอกาสและความเสี่ยง ได้เหมาะสม การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถมีแหล่งเงินทุนและด้านต่างๆที่สนับสนุนการปรับตัวได้อย่างราบรื่น

 

สิ่งที่ธปท.ไม่อยากเห็น คือ การดำเนินงานของสถาบันการเงินไม่จูงใจหรือเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการตัดขาดธุรกิจที่อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน

 

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคการเงิน ธปท. จึงออกแบบแผนดำเนินงานที่คำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็วของการดำเนินการที่ชัดเจนและให้มีสมดุลระหว่างการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องไม่เร่งรัดจนทำให้ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้เกิดการละเลยหรือเพิกเฉยที่จะปรับตัว จนส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว ซึ่งแผนดำเนินงานข้างต้นจึงต้องมีการวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน ดังนี้ 

 

(1)    ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) โดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่สามารถรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างตรงจุด

 

(2)    จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง อาทิ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ปี 2566 เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้

 
(3)    ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงตัดสินใจลงทุนหรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

 

(4)    สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้นำร่องโดยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟู เพื่อสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เหมาะสมแก่ SMEs ในการส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันภายใต้กระแสบริบทโลกใหม่

 

(5)    ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

 

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง ธปท. มองว่า 1 ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีความเข้าใจและสามารถระบุกิจกรรมสีเขียวได้อย่างมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเพียงพอ 2 ภาครัฐ สามารถดำเนินนโยบายได้ตรงจุด และเชื่อมโยงทุกภาคส่วนได้ดีขึ้น โดยมี Taxonomy และระบบฐานข้อมูลที่ช่วยสนับสนุน 3 สถาบันการเงิน ได้รับความเชื่อมั่น มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การปรับตัวของภาคธุรกิจด้วยราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนและความเสี่ยง

 

4 ธูรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นด้วยธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่สการผลิต สามารถปรับตัวได้ตามมาตรฐาน 5 ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการปรับตัวด้วยต้นทุนที่ไม่เป็นภาระจนเกินไป สามารถอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจสีเขียว  และ 6 ผู้บริโภคหรือผู้ลงทุน มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุน เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้ภาคส่วนทางเศรษฐกิจสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง ต้องอาศัยการผลักดันและดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ จากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน โดย ธปท. พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com