บทความ

โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนคืออะไร? [1] ทำไมนักลงทุนควรสนใจและลงทุน
29 พ.ค. 2565

โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน หมายถึง โครงการด้านพลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม น้ำ และการกำจัดของเสียที่ยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม 

 

โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนทางสังคมเป็นโครงการที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงสาธารณูปโภค เพื่อลดความยากจน และเพื่อลดความไวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างของโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนทางสังคม เช่น การกระจายพลังงานหมุนเวียนไปยังพื้นที่ชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพื่อเพิ่มรายได้ของครัวเรือนและปรับปรุงความเป็นอยู่โดยการลดเวลาที่ใช้ไปกับงานบ้าน

 

โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจช่วยสร้างงาน ซึ่งส่งเสริมการเติบโตของ GDP ไม่สร้างภาระแก่รัฐบาลด้วยหนี้ที่ค้างชำระหรือเป็นภาระแก่ลูกค้าด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป และมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของซัพพลายเออร์และนักพัฒนาในท้องถิ่น

 

โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนระหว่างการก่อสร้างและการดำเนินงาน และ ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำลงโดยอาศัยข้อกำหนดด้านต่างๆ เช่น ข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพพลังงานสูง โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมีความยืดหยุ่นเมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังช่วยจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เช่น ปัญหาน้ำประปาและคุณภาพอากาศ 

 

โอกาสในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน: ทำไมนักลงทุนควรสนใจโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน?

 

โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนจะมีลักษณะของกระแสเงินสดที่ดึงดูดนักลงทุนระยะยาว ตัวอย่างเช่น สินทรัพย์พลังงานหมุนเวียนสามารถให้รายได้ที่สัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนหลายโครงการอาจดึงดูดนักลงทุนสถาบันและมีส่วนสำคัญในพอร์ตการลงทุนของสถาบันมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน [2]

 

ปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการใช้พลังงานไฟฟ้าของเศรษฐกิจโลกกำลังขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเติบโตของปริมาณข้อมูลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุนพลังงานหมุนเวียนทำให้ต้องลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายอัจฉริยะ และการจัดเก็บพลังงานมากขึ้น ระบบไร้สายยังถูกเปลี่ยนโฉมหน้าด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าและการแปลงเป็นดิจิทัล นอกจากนี้เพื่อรองรับการขับขี่อัตโนมัติ จำเป็นต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร [3]

 

แนวโน้มของความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต หลายประเทศได้กำหนดนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานจึงมีความสำคัญต่อการสร้างโลกที่ยั่งยืนและสามารถสร้างผลกำไรระยะยาวให้กับนักลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐาน [4]

 

Climate Bonds Initiative (CBI) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยซึ่งจัดทำร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะในสังกัดกระทรวงการคลัง รายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์ทางเลือกในการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน การขนส่งคาร์บอนต่ำ และการจัดการน้ำในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน 17 โครงการ ตลอดจนโครงการที่กำลังวางแผนเกือบ 40 โครงการในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่กำลังเติบโตในประเทศไทย รายงานคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอย่างน้อย 31.9 พันล้านดอลลาร์หรือ 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยส่งเสริมนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี (BCG: Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว) และ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 [5]

 

นักลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจพิจารณาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยมลพิษผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการน้ำและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดหาพลังงานราคาไม่แพงให้กับลูกค้า [4]

 

การลดการปล่อยมลพิษผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การลงทุนในพลังงานสีเขียว (เช่น ฟาร์มกังหันลม แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์) มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานยังต้องจัดการกับโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โครงสร้างพื้นฐานด้านระบบส่งไฟฟ้าของอิตาลีต้องการสถานีไฟฟ้า 1,000 สถานีเพื่อให้การส่งไฟฟ้า มีความเสถียร ปัจจุบันอิตาลีต้องการสถานีไฟฟ้าประมาณ 1 ล้านสถานี เมื่อเร็วๆนี้ Terna ซึ่งให้บริการยูทิลิตี้ของอิตาลีได้เปิดเผยแผนการลงทุนห้าปีที่ต้องใช้งบประมาณ 8.9 พันล้านยูโร ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับแผนการลงทุนห้าปีสำหรับปี 2558 ถึง 2562 

 

การจัดการน้ำและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

 

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางที่สุดในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานที่อาจส่งผลต่อความยั่งยืนแต่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น การจัดการน้ำและของเสียก็มีบทบาทในอนาคตที่ยั่งยืนเช่นกัน หลายปีที่ผ่านมาบริษัทน้ำหลายบริษัทได้ลงทุนด้านความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญทั้งเพื่อเป้าหมายของบริษัทเองและเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งบางนโยบายมีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ในปี 2543 สหภาพยุโรปได้อนุมัติกรอบคำสั่งเกี่ยวกับน้ำเพื่อจัดการกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ เช่น การจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการ ตามระเบียบข้อบังคับของรัฐสภายุโรปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาคุณภาพน้ำจืดเพื่อรักษาชีวิตปลาบริษัทน้ำจำเป็นต้องประเมินประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัทเกี่ยวกับน้ำหลายบริษัทได้ริเริ่มพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนของกระบวนการบำบัดน้ำ 

 

ตัวอย่างเช่น Severn Trent ซึ่งดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคด้านน้ำในสหราชอาณาจักรกำลังทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดการรั่วไหลของสารกำจัดศัตรูพืชลงสู่แม่น้ำ ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้การบำบัดน้ำมีราคาถูกลงมาก นอกจากนี้ Severn Trent ยังให้คำมั่นที่จะปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่ 5,000 เฮกตาร์ภายในปี 2570 ซึ่งคิดเป็นหนึ่งเปอร์เซ็นของเป้าหมายทั้งหมดของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะมีการกำหนดกฎระเบียบต่างๆ ให้มีการรีไซเคิลขยะในปริมาณมากขั้น กรณีนี้เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรแล้ว 

 

การจัดหาพลังงานราคาไม่แพงให้กับลูกค้า

การจัดหาพลังงานจะถือว่าประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อช่วยลดจำนวนคนที่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงานอย่างเพียงพอ การให้บริการด้านพลังงานจำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้ไปมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้นทำให้การจัดการพลังงานอยู่ภายใต้ความกดดัน อย่างไรก็ตามพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การใช้ปริมาณความร้อนน้อยกว่าระดับความสบายของร่างกายมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ นอกจากนี้ความกังวลเรื่องความสามารถในการจ่ายบิลค่าพลังงานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

 

สำหรับผู้บริโภคพลังงานในสหรัฐอเมริกาจะมีสถานการณ์ต่างจากหลายๆ ประเทศเนื่องจากชาวอเมริกันได้รับประโยชน์จากการพัฒนาก๊าซจากชั้นหิน(shale gas) ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วซึ่งช่วยให้ราคาพลังงานลดลง อย่างไรก็ตามมีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านความยืดหยุ่นของเครือข่ายที่มีการลงทุนต่ำเป็นเวลานานตั้งแต่ช่วงปี 1980 ถึงต้นปี 2010 ในขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและต้องการการลงทุนเพิ่มเติมจำนวนมาก เราเชื่อว่าการปรับขึ้นราคาพลังงานในสหรัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจะสร้างแรงกดดันให้กับผู้บริโภคซึ่งคุกคามความยั่งยืนของผลตอบแทนสำหรับสาธารณูปโภคของสหรัฐฯ

 

สรุป

 

โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนหมายถึงโครงการด้านพลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม น้ำ และการจัดการของเสียที่ยั่งยืนต่อสังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างโลกที่ยั่งยืนและสามารถสร้างผลกำไรระยะยาวให้กับนักลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐาน ประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอย่างน้อย 31.9 พันล้านดอลลาร์หรือ 1 ล้านล้านบาท ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานยังต้องจัดการกับโครงข่ายระบบส่งที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้หลายปีที่ผ่านมาหลายบริษัทมีการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในด้านความยั่งยืนทั้งเพื่อประโยชน์ของบริษัทเองและเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนจะถือว่าประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อสามารถลดจำนวนคนที่ไม่สามารถเข้าถึงพลังงาน น้ำ หรือทั้งสองอย่างอย่างเพียงพอ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและสร้างโอกาสให้นักลงทุนในการลงทุนด้านความยั่นยืน


 

เอกสารอ้างอิง

[1]           A. Bielenberg, M. Kerlin, J. Oppenheim, and M. Roberts, "Financing change: How to mobilize private-sector financing for sustainable infrastructure," McKinsey Center for Business and Environment, pp. 24-25, 2016.

 

[2]           D. Röttgers, A. Tandon, and C. Kaminker, OECD progress update on approaches to mobilising institutional investment for sustainable infrastructure, 2018.

 

[3]           W. Richli. Next generation infrastructure Credit Suisse (Lux) Infrastructure Equity Fund. p.p. 1-8, 2022.

 

[4]           "The Pivotal Role of Infrastructure in a Sustainable Future " Lazard Asset Management. https://www.lazardassetmanagement.com/docs/product/-s29-/119893/thepivotalroleofinfrastructureina_lazardperspectives_en.pdf (accessed 15 May 2022).

 

[5]           M. Caminha, "Thailand: Green Infrastructure Investment Opportunities for Green Bonds, Loans & Sukuk Climate Bonds Continues Its Series on Sustainable Investment Opportunities across the Globe," 2022. [Online]. https://www.climatebonds.net/2022/01/thailand-green-infrastructure-investment-opportunities-green-bonds-loans-sukuk-climate-bonds (accessed 15 May 2022).

 

หมายเหตุ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ถือเป็นคำเสนอหรือการเชิญชวนให้บุคคลใดทำการซื้อ และ/หรือ ขายผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนประเภทต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในในเอกสารฉบับนี้  และไม่ถือเป็นการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนของบริษัทต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนี้แต่อย่างใด

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com