ธุรกิจประกันภัยไทยก้าวข้ามกาลเวลาสู่ปีพุทธศักราช 2565 เป็นนักษัตรปีขาล ถ้าลบเรื่องราว “ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ” ออกไป ธุรกิจประกันภัยรูดม่านปิดพุทธศักราช 2564 ได้อย่างงดงามจริงๆ
ร่ำลือกันว่าบริษัทประกันชีวิตบางบริษัทจ่ายโบนัสถึง 10 เท่า
ขณะที่ฝั่งวินาศภัยแม้จ่ายโควิดไปเยอะ บ่นโอดครวญว่า “ขาดทุน” แต่ยังมีโบนัสให้พนักงานชื่นใจ จ่ายกันตั่งแต่ 1 เดือนยัน 6 เดือน
ส่วนผลประกอบการที่วัดด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม ขณะนี้ตัวเลขยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่สำนักงานคปภ.เคยประเมินมาก่อนหน้าว่า เบี้ยประกันปี 64 จะเติบโต 1.29-3.49% หรือ 8.7 แสนล้านบาท ส่วนปี 2565 คาดเบี้ยประกันภัยทั้งระบบอยู่ที่ 9.13 แสนล้าน ขยายตัว 3.17-5.69%
เตรียมขึ้นแท่นธุรกิจล้านล้านบาท
ตัวเลขสวยสดงดงามอย่างนี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมสำนักงานคปภ. ยัง “แกว่งดาบขู่ฟันคอ” บริษัทประกันภัยแบบรายวัน ล่าสุดขู่อีกรอบว่า ปีหน้าจะเน้นจะตรวจสอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะประกันวินาศภัย เพื่อป้องกันเกมดั้มฟ์ราคาหาเบี้ยประกันมาโป๊ะเงินกองทุน
ปัดโธ่ ! ผลิตภัณฑ์ประกันภัย ไม่ใช่ข้าวผัดกระเพราไข่ดาว
ข้อเท็จจริงกว่าแต่ละบริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาขายได้ เจ้าหน้าที่สำนักงานคปภ. กรองแล้วกรองอีก เพียงเท่านี้ยังไม่พอ ยังมีอำนาจยกเลิกห้ามขายในภายหลังได้อีก
จึงโปรดกรุณาอย่าเอางานรูทีนมาแกว่งดาบ เดี่ยวมันจะพลาดปาดปากตัวเอง!
ความเข้มแข็งความมั่นคงของบริษัท เป็นภารกิจหลักของสำนักงานคปภ.ที่จะคุมเข้มอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว เป็น”งานกำกับ”ให้อยู่ในร่องในรอย มิใช่ ”งานตรวจจับ” แล้วสั่งปิด
ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำให้เหมาะกับกาล ที่กาลเวลาได้เปลี่ยนความคิดของผู้คน ซึ่งปัจจุบันได้ก้าวข้ามความกังวลว่าบริษัทประกันภัยจะถูกปิดเพราะไม่มีเงินจ่าย กลายเป็นความกังวลว่าปิดแล้วสำนักงานคปภ.จะหาเงินที่ไหนมาชดเชยให้
อย่าลืม...ผู้คนรับรู้กันไปทั้งบางแล้วว่ากองทุนประกันวินาศภัยกระเป๋ากลวง เหลือเงินแค่ 5 พันล้าน เฉพาะกรณีเอกเชียประกันภัยและเดอะวัน ดีดลูกคิดกันดูแล้ว...ไม่พอจ่าย
ส่วนกรณีที่ว่าถ้าไม่พอจ่ายสามารถกู้เงินจากกองทุนประกันชีวิต ซึ่งมีอยู่มากโขมาใช้ได้ ถามเจ้าของเงินกงสีหรือยังว่า “ยินดีให้กู้หรือไม่” จริงอยู่ด้วยอำนาจในกลไกการจัดการกองทุนประกันกันชีวิต สำนักงานคปภ.สามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะกฏหมายเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว แต่การยกอ้างในเรื่องนี้ยังฟังดูเลื่อนลอย ชาวบ้านยังกังขากู้ได้จริงหรือ แล้วถ้ากู้ไม่ได้จะหาเงินที่ไหนอีก
นั่นก็หมายความว่า สำนักงาน คปภ.ต้องเร่งสร้างความเข้าใจอย่างเป็นทางการ เป็นหลักเป็นฐานและอย่างต่อเนื่อง มิใช่เกิดเหตุเพทภัยอะไรขึ้นมา แล้วค่อยออกจากหลังโรงมาร่ายรำดาบ ร้องสั่งการ เร่งรัดให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายตามสิทธิประโยชน์ที่ผู้เอาประกันภัยพึงได้ จากนั้นก็เก็บดาบไปอยู่หลังโรงต่อไป
ในวาระอันเป็นศุภมิ่งมงคลขึ้นปีใหม่ ปีเสือดุ นับเป็นกาลเวลาที่เหมาะแก่กาลในอันที่จะสำนักงานคปภ.ควรจะตั้งธงให้เป็น”ปีแห่งการสร้างองค์ความรู้ด้านประกันภัยแก่ประชาชน”
เพราะเพียงแค่จะย่างเข้าต้นปี 65 ประชาชนเริ่มที่จะเกิดความเข้าใจผิดในกระแส ซื้อประกันให้ชัวร์ต้องดู“อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ Capital Adequacy Ratio (CAR)” ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงมันต้องดูอะไรมากกว่านั้น เอาแค่กติกาชี้วัดบริษัทประกันภัยดีเด่น สุดยอดรางวัลเกียรติยศของสำนักงานคปภ. CAR Ratio ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเกณฑ์ตัดสินและมีคะแนนไม่เยอะมาก
ปีที่ผ่านมาเล่นบท”เสือดุ”มาเยอะแล้ว ปีใหม่นี้ลองพลิกบทบาทมาเป็น”ครูเสือ”ดูบ้างน่าจะดีกว่าน่ะโยม!
By Mr. DISCLOSURE