Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ร่วมกับ KBank Private Banking (เคแบงก์ไพรเวทแบงก์กิ้ง) และพันธมิตรทางธุรกิจอีก 5 รายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยผลสำรวจล่าสุด ในหัวข้อ The long game: Understanding APAC HNWI's goals เพื่อเข้าใจถึงความต้องการและเป้าหมายที่แท้จริงในระยะยาวของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากสภาพอัตราดอกเบี้ยสูง การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่งผลให้ผู้มีสินทรัพย์สูงต้องหันกลับมาพิจารณาเป้าหมายที่แท้จริงของการบริหารจัดการความมั่งคั่ง โดยให้ความสำคัญกับการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่
นายวินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner, Asia Regional Head and Global Head of Strategic Alliances, Lombard Odier กล่าวว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกได้ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถึงแม้ว่าผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคนี้จะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับเป้าหมายของตน แต่ก็มีช่องว่างที่เห็นได้ชัดระหว่างเป้าหมายและการกระทำ นอกจากนี้ เรายังได้เห็นความแตกต่างทางทัศนคติของกลุ่มคนในช่วงอายุต่างๆ และการให้ความสำคัญต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน รวมทั้งบทบาทที่มากขึ้นของสินทรัพย์นอกตลาดในการบริหารความเสี่ยงภายใต้การจัดสรรการลงทุน
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและการกระทำของผู้มีสินทรัพย์สูง พวกเขาต่างมีความชัดเจนในเป้าหมายของตนเอง แต่ก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้มีสินทรัพย์สูงกลุ่มนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างสินทรัพย์ของตนเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งต้องมีการทบทวนพอร์ตในประเด็นด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนและสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อสร้างความมั่งคั่งและกระจายความเสี่ยงแต่ผู้มีสินทรัพย์สูงจำนวนมากก็ยังไม่ได้เริ่มต้นดำเนินการ และเมื่อเป็นเรื่องของครอบครัว การปกป้องคนที่เรารักและความมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลที่ดีเป็นเป้าหมายที่สำคัญ แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ต้องทำในการบริหารจัดการความมั่งคั่งของครอบครัว ผู้มีสินทรัพย์สูงจึงต้องการที่ปรึกษาที่มีเครื่องมือที่เหมาะสมในการที่จะวางโครงสร้างที่ดีเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกันของครอบครัว ดังนั้น วิธีการที่คำนึงถึงเป้าหมายเป็นหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้มีสินทรัพย์สูงสามารถบริหารจัดการและรักษาความมั่งคั่งและส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นต่อไป
รายงานฉบับบนี้ ลอมบาร์ด โอเดียร์ ได้ผสานความร่วมมือกับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิก โดยถามความคิดเห็นผู้มีสินทรัพย์สูงมากกว่า 460 รายทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและออสเตรเลีย เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายด้านความมั่งคั่งและลำดับการให้ความสำคัญของผู้มีสินทรัพย์สูงในการที่จะรักษาความมั่งคั่งไว้ให้แก่ทายาทรุ่นต่อไป ข้อมูลจากการศึกษาผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเป้าหมายกับพฤติกรรมของผู้มีสินทรัพย์สูงในด้านต่างๆ ดังนี้
1. การบรรลุเป้าหมายส่วนตัว
- เป้าหมายส่วนตัวมีความสำคัญต่อผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าการรักษาระดับไลฟ์สไตล์ที่เป็นอยู่ของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ และยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับไลฟ์สไตล์อีกด้วย
- ครอบครัวเป็นสิ่งที่ผู้มีสินทรัพย์สูงให้ความสำคัญ แม้อยู่ท่ามกลางตลาดที่ผันผวนและไม่แน่นอน ครึ่งหนึ่งต้องการปกป้องครอบครัวและสร้างความมั่นใจว่าสมาชิกในครอบครัวจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
- คนรุ่นใหม่ (อายุต่ำกว่า 45 ปี) เริ่มละทิ้งความคิดที่ว่า ‘งานคือชีวิต/ชีวิตคืองาน’ ส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป โดยจะต้องให้ความสำคัญต่อการชี้ให้เห็นค่านิยมส่วนตัวและนำมาเชื่อมโยงมากกว่าข้อพิจารณาด้านการเงิน
- ยังคงต้องพัฒนาในการจัดโครงสร้างสินทรัพย์ มีเพียง 1 ใน 5 ที่ได้จัดโครงสร้างสินทรัพย์ของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถบรรลุเป้าหมายได้
- ถึงแม้ว่าพอร์ตการลงทุนจะมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ยังคงมีความระมัดระวังที่จะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คนรุ่นใหม่ ร้อยละ 14.7 ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นในระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีอายุสูงกว่า
- นอกเหนือจากประเด็นด้านความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงสินทรัพย์ของตนกับประเด็นด้านค่านิยม กว่าครึ่งของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (โดยไม่แบ่งตามกลุ่มอายุ) ต้องการความสมดุลระหว่างค่านิยมกับผลกำไรในพอร์ตการลงทุน
ประเทศไทย เป้าหมายส่วนตัวอยู่ในลำดับแรกเมื่อตัดสินใจเลือกปัจจัยที่สําคัญที่สุดในการสร้างความมั่งคั่ง • ร้อยละ 83.7 ของผู้มีสินทรัพย์สูงชาวไทยเชื่อว่าการรักษาระดับไลฟ์สไตล์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งจำเป็นหรือคาดหวัง • ร้อยละ 72.9 ของผู้มีสินทรัพย์สูงชาวไทยเห็นว่าการยกระดับไลฟ์สไตล์เป็นสิ่งจำเป็นหรือคาดหวัง • ร้อยละ 55.7 คิดว่าการดูแลครอบครัวเป็นสิ่งจําเป็น ในแง่ของการกระจายพอร์ตการลงทุน ร้อยละ 64.3 ของผู้มีสินทรัพย์สูงชาวไทยกล่าวว่าได้เพิ่มการกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลานี้ • ร้อยละ 62.3 กล่าวว่าสามารถรักษาสมดุลระหว่างค่านิยมและความสามารถในการทํากําไรในพอร์ตการลงทุน (% สูงสุดอันดับ 3 ในภูมิภาค) |
2. การลงทุนอย่างยั่งยืน
- ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเห็นว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นโอกาสที่สำคัญ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการพิจารณาปัจจัยด้านความยั่งยืนจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าได้ ในขณะที่กว่าครึ่งเห็นว่าจำเป็นหรือควรจะลงทุนเพื่อความสร้างยั่งยืน แต่มีเพียง 1 ใน 5 ที่ได้เพิ่มหรือวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนอย่างยั่งยืน
- คนรุ่นใหม่มีความพร้อมในการลงทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากกว่านักลงทุนที่มีอายุมากกว่า
ประเทศไทย • ร้อยละ 42.9 ของผู้มีสินทรัพย์สูงชาวไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความ "ฉันกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" • อย่างไรก็ตาม มีเพียงร้อยละ 25.7 ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าพวกเขา "ได้เพิ่มหรือวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง” และมีเพียงร้อยละ 25.7 ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการคํานึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนสามารถนําไปสู่ผลตอบแทนที่ดีกว่า |
3. สินทรัพย์นอกตลาด
- ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปฟิกมีความสนใจในหุ้นนอกตลาด ร้อยละ 60 ต้องการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเห็นว่ามีการเก็งกำไรมากไปในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
- ผลการศึกษาพบว่ายังมีช่องว่างที่จะทำให้นักลงทุนตระหนักถึงศักยภาพของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ผนวกสินทรัพย์นอกตลาดเข้ามารวมในพอร์ตการลงทุน
- 1 ใน 4 มีความเข้าใจว่าสินทรัพย์นอกตลาดสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ นั่นแสดงให้เห็นถึงการขาดความมั่นใจและความจำเป็นของการศึกษาเกี่ยวกับสินทรัพย์นอกตลาด
ประเทศไทย • มีเพียงร้อยละ 18.6 ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าพวกเขาได้ผนวกสินทรัพย์นอกตลาดไว้ในพอร์ตการลงทุนแล้ว • มีเพียงร้อยละ 7.1 ที่ตอบว่าต้องการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ต่ำสุดในภูมิภาค) • มีเพียงร้อยละ 30 ที่มีความเข้าใจว่าสินทรัพย์นอกตลาดสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ |
4. การเชื่อมโยงเป้าหมายของครอบครัว
- เมื่อพูดถึงเป้าหมายและค่านิยมเกี่ยวกับสินทรัพย์ของครอบครัว ผู้มีสินทรัพย์สูงส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความเข้าใจในความสำคัญของการสื่อสารเป้าหมายของตนเองเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ระยะยาวร่วมกันและดำเนินการร่วมกันในฐานะครอบครัว
- อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ส่วนตัว ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยินดีที่จะพูดถึงเป้าหมายของตนเองกับพ่อแม่ มากกว่ากว่าพี่น้องหรือลูกๆ ของตนเอง
- การวางแผนส่งต่อความมั่งคั่งมักจะนำไปสู่การหารือเพื่อจัดโครงสร้างทรัพย์สินของครอบครัว โดยครึ่งหนึ่งสามารถรักษาความเป็นกลางเกี่ยวกับการส่งต่อทรัพย์สินและรอให้การส่งต่อทรัพย์สินดำเนินต่อไปเอง
- มีแนวโน้มที่บรรดาพี่น้องจะคิดว่าได้มีการตั้งเป้าหมายเรื่องการส่งต่อทรัพย์สินไว้แล้วกว่าครึ่งเห็นว่าไม่มีการพูดคุยกันเลยหรือมีการพูดคุยกันน้อยมากในระหว่างพี่น้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัว รวมถึงเรื่องการส่งต่อทรัพย์สินและมรดกด้วย
- ครึ่งหนึ่งของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดว่ามีการบริหารทรัพย์สินร่วมกันในครอบครัวหรือโดยบุคคลคนเดียว ผู้ที่ไม่เห็นว่ามี “ทรัพย์สินร่วมกัน” อาจไม่ทราบถึงแผนการส่งต่อความมั่งคั่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเนื่องจากขาดการสื่อสารที่ดีและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิ์ในทรัพย์สิน
- ประมาณร้อยละ 60 ไม่แน่ใจหรือไม่มีกระบวนการที่เหมาะสมเกี่ยวกับเครื่องมือการลงทุนเพื่อติดตามความมั่งคั่งของตนเองเมื่อเทียบกับเป้าหมาย ประเด็นนี้จะก่อให้เกิดจุดบอดซึ่งครอบครัวจะต้องพิจารณาตัดสินใจว่าใครจะมีส่วนเกี่ยวข้องและเมื่อใดที่จะต้องตัดสินใจ
- คนส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการ ร้อยละ 41 เพียงแต่หารือกันในครอบครัวแบบไม่เป็นทางการหรือเป็นครั้งคราว โดยไม่ได้มีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และ1 ใน 4 ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรทั้งสิ้น
ประเทศไทย • ร้อยละ 87.3 ระบุว่าการสื่อสารเป้าหมายของตนเองเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ระยะยาวร่วมกันและดำเนินการร่วมกันในฐานะครอบครัวเป็นสิ่งสําคัญ • ร้อยละ 82.6 คิดว่าการสื่อสารระหว่างคนต่างรุ่นและพี่น้องเป็นสิ่งสําคัญก่อนการตัดสินใจ แต่มีถึงร้อยละ 35.2 ระบุว่า ไม่ได้มีการสื่อสารเป้าหมายกับพี่น้อง • ผู้มีสินทรัพย์สูงชาวไทยมองว่าการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การหารือกันในเรื่องดังกล่าว (ร้อยละ 61.4) ในขณะที่การส่งต่อทรัพย์สินเป็นเหตุผลที่มีผู้ตอบแบบสอบถามตอบมากที่สุดเป็นอันดับสาม(ร้อยละ 24.3) • ขณะเดียวกัน ร้อยละ 14.5 ยังไม่มีกระบวนการและเครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสมในการติดตามการพัฒนาสู่ความมั่งคั่งของตนเองเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ |
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวปิดท้ายว่า ผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าผู้มีสินทรัพย์สูงให้ความสำคัญกับเป้าหมายและค่านิยมส่วนตัวมากกว่าผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว และผู้มีสินทรัพย์สูงยังทราบถึงความสำคัญของการวางแผนเพื่อให้เป้าหมายและค่านิยมส่วนตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจัดโครงสร้างทรัพย์สินของครอบครัว รวมถึงความตระหนักรู้ด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนความสำคัญของการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางเลือกอย่างสินทรัพย์นอกตลาด แต่ก็ยังไม่มั่นใจที่จะเริ่มลงมือทำ KBank Private Banking ในฐานะผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงในประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นใจ เพื่อให้ลูกค้าลงมือทำ โดยนำโซลูชันและเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ เพื่อช่วยให้การส่งมอบบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำพาลูกค้าไปถึงเป้าหมาย |
ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานการศึกษาเกี่ยวกับผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2566 ได้ที่ https://asia.lombardodier.com/home/private-clients/uhnw/2023-high-net-worth-study.html
# # #
หมายเหตุ * ผู้มีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
** สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและออสเตรเลีย