KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ออกรายงานสรุปลักษณะและผลกระทบของเทคโนโลยี Algo Trading ที่มีบทบาทมากขึ้นในตลาดหุ้นไทย โดยวิเคราะห์ว่าการเข้ามาของ Algo Trading ถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น
เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดผ่านการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องและความหลากหลายของผู้เล่นในตลาด ลดต้นทุนในการลงทุนของนักลงทุนโดยทั่วไป และลดความผันผวนในระยะสั้นในภาวะปกติของตลาด นอกจากนั้น Algo Trading และ High-Frequency Trading (HFT) ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนรายย่อยทั่วไปส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนโดยอ้างอิงกับปัจจัยพื้นฐานหรือถือครองหุ้นระยะยาว แต่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ออกตราสารบางประเภท และกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับผู้เล่นกลุ่ม Algo/HFT ที่เน้นการทำกำไรในกรอบเวลาสั้นๆ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องปรับตัวและใช้โอกาสจากเครื่องมือนี้ในการแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน
Algo Trading คืออะไร
Algorithmic Trading หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า Algo Trading คือ กลยุทธ์การซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยในการส่งคำสั่งซื้อขาย ภายใต้‘algorithm’ ที่ถูกกำหนดโดยนักลงทุนเพื่อให้โปรแกรมส่งคำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 1) Execution Algo คือการซอยคำสั่งซื้อขายปริมาณมากออกเป็นคำสั่งย่อยหลาย ๆ คำสั่ง เพื่อลดผลกระทบต่อราคา (Market Impact) และลดต้นทุนในการซื้อขาย และ 2) Model Algo คือ การส่งคำสั่งซื้อขายตามกลยุทธ์ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีหลากหลายกลยุทธ์ด้วยกันเช่น การทำหน้าที่เป็น Market Maker เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตลาด และเก็บกำไรจากส่วนต่างของราคาเสนอซื้อและขาย รวมถึงการทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ทางทฤษฎี เป็นต้น
ขณะที่ High-Frequency Trading (HFT) นั้นเป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้เรียกรูปแบบการเทรดที่มีความถี่ในการซื้อขายสูงกว่าปกติ และเน้นความเร็วในการประมวลผล และส่งคำสั่งซื้อขาย Algo Trading ส่วนมากมักมาพร้อมกับความสามารถในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่รวดเร็วกว่าเดิมมาก (นับเป็นเสี้ยวของวินาที) จึงทำให้ HFT ถูกนำมาใช้พูดถึงลักษณะการซื้อขายของ Algo Trading มากขึ้นในวงกว้าง
Algo Trading ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 25% ของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม Algo Trading ในไทยมีพัฒนาการที่ช้าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ที่สัดส่วนของ Algo Trading ในปัจจุบันสูงถึง 60-75% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด และเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ก่อนปี 2010
ผลกระทบของ Algo Trading ต่อตลาดทุน
งานศึกษาหลายชิ้นได้สรุปผลกระทบของ Algo Trading ต่อตลาดทุนใน 3 ด้าน ได้แก่
1) ด้านสภาพคล่อง พบว่า Algo Trading ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด และลดส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อและเสนอขาย (bid-ask spread) จึงช่วยลดต้นทุนการซื้อขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ขณะที่ผลต่อต้นทุนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันยังไม่เป็นที่แน่ชัด ทั้งนี้ ในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวนเป็นช่วงขาลงหรือมีความไม่แน่นอนสูง Algo Trading อาจทำให้สภาพคล่องในตลาดตึงตัวขึ้นได้
2) ด้านประสิทธิภาพของตลาด พบว่า Algo Trading ช่วยให้ราคาหลักทรัพย์สะท้อนปัจจัยพื้นฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าพื้นฐานของหลักทรัพย์ได้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้ราคาตลาดไม่แตกต่างกับมูลค่าพื้นฐานจนเกินไป
3) ด้านความผันผวน พบว่า Algo Trading ช่วยลดความผันผวนในระยะสั้นได้ภายใต้ภาวะตลาดปกติ แต่อาจมีส่วนทำให้ราคาหุ้นลดลงรุนแรงขึ้นได้ ในช่วงวิกฤตที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง
Algo Trading และ HFT (Algo/HFT) ไม่ได้ทำให้นักลงทุนรายย่อยหมดโอกาส
การเข้ามาของ Algo/HFT อาจจะกระทบกับนักลงทุนบางประเภท เช่น ผู้ออกตราสารอนุพันธ์ ที่ต้องมีการเสริมสภาพคล่องที่อาจปรับราคาเสนอซื้อเสนอขายไม่ทันนักลงทุนที่ใช้เครื่องที่มีความเร็วในการประมวลผลและการส่งคำสั่งสูง ทำให้บางฝ่ายเกิดความกังวลว่า นักลงทุนรายย่อยจะถูกเอาเปรียบจากความเร็วในการประมวลผลและส่งคำสั่งซื้อขายของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยถึงแม้จะยังไม่มีงานศึกษาเชิงลึกถึงผลกระทบของ Algo/HFT ต่อนักลงทุนในไทย แต่มีข้อสังเกต 4 ข้อที่ชี้ให้เห็นว่า Algo/HFT ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยทั่วไปส่วนใหญ่โดยตรง
1) นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ไม่ได้แข่งกับ Algo/HFT โดยการเข้ามาของ Algo/HFT อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบเดียวกับผู้เล่นกลุ่ม Algo/HFT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซื้อขายหลักทรัพย์ในกรอบเวลาเพียงไม่กี่วินาที นักลงทุนรายย่อยทั่วไปส่วนใหญ่ในตลาดที่ลงทุนโดยอ้างอิงกับปัจจัยพื้นฐาน หรือถือครองหุ้นระยะยาวไม่ได้มุ่งหวังทำกำไรด้วยความเร็วในกรอบเวลาสั้น ๆ จึงแทบจะไม่ได้รับผลกระทบทางลบ
2) ในตลาดหุ้นไทย HFT มีสัดส่วนน้อยและกระจุกตัวในหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายที่ลดลงของรายย่อยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยที่ลดลงในระยะหลัง โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย ส่วนหนึ่งสะท้อนผลตอบแทนของตลาดโดยรวมที่มีแนวโน้มลดลง และไม่ได้สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วน Algo Trading อย่างชัดเจน
3) นักลงทุนกลุ่ม Algo/HFT อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันกับนักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีหลักเกณฑ์และกระบวนการอย่างชัดเจนและรัดกุมในการลงทะเบียนและขออนุมัติใช้ระบบ Algo Trading อีกทั้งยังมีการติดตามควบคุม และเฝ้าระวังที่เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการส่งคำสั่งซื้อขายในรูปแบบพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเพิ่มขึ้นของข้อมูลสร้างโอกาสให้นักลงทุนรายย่อย ที่จะได้ประโยชน์จากเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายและรวดเร็วขึ้น จับสัญญาณตลาดได้ชัดเจนขึ้น และส่งคำสั่งซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น
โจทย์ใหญ่ คือ ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย
ต่างกันกับที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า Algo Trading ทำให้การลงทุนของนักลงทุนรายย่อยลดลง รายงานพบว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยรวมที่ลดลง โดยเฉพาะมูลค่าซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย สะท้อนปัญหาด้านปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ไม่ว่าจะเป็น 1) ผลตอบแทนของการลงทุนต่างประเทศที่น่าสนใจกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ซึ่งผลตอบแทนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 2) ทางเลือกของนักลงทุนที่สามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้นทั้งจากการลดความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ลงและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น 3) ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงจากความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายประการ และ 4) เหตุการณ์ ‘ปั่นหุ้น’ ที่ซ้ำเติมนักลงทุนรายย่อยและสร้างความเสียหายต่อตลาดและนักลงทุนในวงกว้าง สั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบธรรมาภิบาลของบริษัทและตลาดทุนไทย ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและทันท่วงที เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน และเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน