บทความ

ฉากทัศน์ประกันภัย นักคณิตศาสตร์ต้องออกโรง!
17 ม.ค. 2565

บทความก่อนหน้าได้ว่าถึงเรื่อง”ปีเสือดุ” ผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน เสือดุดั่งที่ว่าจริงๆ แต่พลิกล็อคเป็นฝั่ง “บริษัทประกันภัย” แสดงความดุเสียเอง ทั้งที่ๆบทความนั้นพยายามสื่อถึงดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคปภ.ให้เพลาๆ”ความดุเพื่อประชาชน”ลงบ้าง       

 

ปรากฏการณ์ฝั่งบริษัทประกันภัยเล่นบทเสือดุดังกล่าวมา  นับเป็นอุบัติใหม่วงการประกันภัยอีกครั้งที่ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของวงการประกันภัย เมื่อบริษัทอาคเนย์และไทยประกันภัย ฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางว่าท่านเลขาธิการและสำนักงานคปภ. ออกคำสั่งทางปกครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ปรากฏการณ์นี้ชวนให้สังคมผู้คนคิดกลับลำ 360 องศาเช่นกัน คงเดือดร้อนแสนสาหัสจริงๆ เอกชนถึงกล้าฟ้องหน่วยงานรัฐ  ซึ่งก็เหมือนกับชาวบ้านฟ้องตำรวจนั้นแล ไม่เหลืออดไม่กล้าทำ

 

แน่นอนเมื่อกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองกลาง เราๆท่านๆก็ไม่ต้องมานั่งตีความมองเหลี่ยมของกฏหมาย  แต่ที่แน่ๆท่านเลขาธิการฉายแสงทันควันว่า แม้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล  แต่บริษัทประกันภัยยังต้องจ่ายเจอจ่ายจบเหมือนเดิม

 

อะแฮ่ม! ไม่รู้หมายถึงตัวท่านเลขาธิการเองหรือไม่ เพราะล่าสุดขณะที่นั่งปั่นต้นฉบับนี้อยู่ สื่อมวลชนทุกสำนักประโคมข่าว...เลขาธิการคปภ.ติดโควิด

 

อย่างไรก็มีรายงานว่าล่าสุดออกมาว่า ท่านเลขาธิการคปภ.ไม่ขอใช้สิทธิเบิกเคลมเจอจ่ายจบ จาก 2 บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่

 

อีกทั้งจากการคลุกวงในแวดวงประกันภัยได้รับรู้มาว่าผลของการตัดสินนั้น ทางฝั่งบริษัทประกันภัยมิได้มองเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเป็นเรื่องใหญ่   เพราะเรื่องใหญ่คือ ความถูกต้องของกฏหมาย และเป็นคำพิพากษาที่จะถือเป็นบรรทัดฐานใช้ต่อไป โดยเฉพาะข้อความที่ระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์แทบทุกฉบับ มีเงื่อนไขระบุว่าบริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกสัญญาได้  อันเป็นเงื่อนไขที่ใช้กันทั้งโลก

 

ส่วนเหตุผลที่ไม่ได้มองเม็ดเงินต้องจ่ายเป็นเรื่องใหญ่  เพราะช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัท โดยเฉพาะบรรดายักษ์ใหญ่ได้สถานการณ์จำลองหรือที่เรียกว่า”ฉากทัศน์”ว่า ถ้าเจอสถานการณ์ที่แย่ที่สุด จะมีเงินจ่ายหรือไม่!

 

บทสรุปที่รับรู้มา “มีเงินจ่ายเพียงพอ”

 

อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ยังสามารถบริหารความเสี่ยงจากการขาดทุนในการรับประกันอีกด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าพอร์ทการรับประกันภัยนั้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ประกันสุขภาพ แต่กระจายไปยังการประกันภัยประเภทอื่นๆ  เช่นการประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ภายในวงการประกันภัยรถยนต์ว่า  วิกฤตโควิดทำให้คนใช้รถยนต์น้อยลง เมื่อคนใช้รถยนต์น้อยลง ย่อมที่จะทำให้ยอดสินไหมรถยนต์ลดลงตามไปด้วย

 

รับเยอะ ลดเยอะ มีส่วนต่างที่เอาไปชดเชยกับสิ่งที่จ่ายไปเยอะ  และแน่นอนย่อมเจ็บตัวน้อยลงอะไรทำนองนี้

 

นั่นหมายความว่า กลุ่มคนที่รู้ดีที่สุดว่าอุบัติภัยไวรัสโควิดจะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจประกันภัยมากน้อยแค่ไหน ก็คือ กลุ่มนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั่นเอง และไม่น่าเชื่อไม่เคยมีถ้อยแถลงอันใดหรือเอกสารบทความอื่นใดจากสมาคมนักคณิตศสาตร์ประกันภัยออกมาให้ข้อมูลกับสังคม ยกเว้นความคิดเห็นผิวเผินของอดีตนายกสมาคมฯ

 

ฝั่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ”ฉากทัศน์”ออกโรงเตือนอยู่ตลอดเวลาว่าผู้ป่วยฏโควิดน่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ โดยจำลองเป็น 3 ฉากทัศน์คือ จากฉากทัศน์ในสถานการณ์แย่ที่สุด ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ และฉากทัศน์ที่ดีที่สุด

 

เช่นเดียวกันทางฝั่งสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ควรทำแบบสถานการณ์จำลองขึ้นมาบ้างว่า แต่ละฉากทัศน์นั้น บริษัทประกันภัยอยู่ในภาวะอะไรบ้าง

 

โดย “ผลลัพธ์ที่ได้รับ” อย่างน้อยๆ สังคมจะได้ประเมินอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องอิงกฏหมาย มองอย่างเป็นธรรมว่า การขอยกเลิกประกันเจอจ่ายจบของบริษัทประกันภัยนั้น “ชอบธรรม”หรือไม่

 

และเมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว คุณธรรมในตัวตนของแต่ละคนจะบอกเองว่า ยกเลิกเจอจ่ายจบแล้วเปลี่ยนเป็นความคุ้มครองอย่างอื่นตามที่บริษัทประกันภัยเสนอมาดีหรือไม่

 

แบบเดียวที่ท่านเลขาธิการคปภ.ขอไม่เบิกค่าสินไหมนั้นแล!   

 

Mr. DISCLOSURE  

 

               

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com