Public Relation

เดอะวิสดอมกสิกรไทย สแกนโอกาสลงทุน 3 ดาวรุ่งแห่งเอเชีย อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม 
25 ก.ย. 2567

เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดสัมมนา “THE WISDOM Wealth Decoded: จับตาการกลับมาของเศรษฐกิจเอเชีย ท่ามกลางมรสุมโลก” สแกนเศรษฐกิจ 3 ดาวรุ่งเอเชีย อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งทั้ง GDP โครงสร้างประชากร และรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้น แนะการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของ FED เป็นโอกาสลงทุนตราสารหนี้โดยเฉพาะตราสารหนี้ฝั่งเอเชีย 

 

นายพิชัย ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส บมจ. หลักทรัพย์กสิกรไทย เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศเอเชียที่เป็นดาวรุ่ง น่าจับตามองสำหรับการลงทุนในช่วงนี้คือ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ GDP โครงสร้างประชากร และรายได้ต่อหัวของประชากรที่สูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ 

 

อินเดีย โตต่อเนื่องจากเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐฯ และนโยบายลงทุนลดหย่อนภาษี  

อินเดีย มีโครงสร้างประชากรที่แข็งแกร่ง ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก และอัตราการเติบโต 0.8% ต่อปี ส่งผลให้มีวัยแรงงานสูงและชนชั้นกลางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศสูงถึง 60% ของ GDP รัฐบาลอินเดียเดินหน้าแผนสนับสนุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ารวมกว่า 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ GDP เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 8% การออกแบบนโยบาย  Systematic  Investment Plans หรือ SIPs ที่สนับสนุนให้คนอินเดียเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณ และนำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนหุ้นเป็นประจำ รวมทั้งสามารถลดหย่อนภาษีได้ด้วย ส่งผลให้มีเงินทุนเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนกว่า 9 หมื่นล้านบาททุกเดือน อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ตลาดอินเดียอาจเกิดความผันผวนจากแรงขายทำกำไร แต่ในระยะยาว ยังซื้อลงทุนได้ แนะนำกองทุน K-INDIA-A 

 

อินโดนีเซีย ลงทุนสร้างเมืองหลวงใหม่ และออกนโยบายห้ามส่งออกแร่ดิบหนุนอุตสาหกรรมรถ EV

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีโครงสร้างประชากรแข็งแกร่งเช่นกัน โดยมีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ คือรัฐบาลอินโดนีเซียมีการดำเนินนโยบายสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การย้ายเมืองหลวงใหม่ ซึ่งจะมีการลงทุนมูลค่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 20 ปีข้างหน้า และนโยบาย "Downstream Policy" ที่ห้ามส่งออกแร่ดิบ โดยเฉพาะแร่นิกเกิลซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตแบตเตอรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทที่ต้องการใช้แร่นิกเกิลจำเป็นต้องตั้งโรงงานภายในประเทศ ซึ่งช่วยสร้างงานและเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ อินโดนีเซียยังเป็นตลาดที่เข้าลงทุนได้ แต่ต้องจับตาอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะมีผลต่อการขึ้นลงของราคาหุ้น รวมถึงค่าเงินรูเปียมีทิศทางอ่อนค่า อาจทำให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ 

 

เวียดนาม ต้นทุนแรงงานต่ำ ฐานการผลิตใหม่ของโลก  

เวียดนาม เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยโครงสร้างประชากรที่มีวัยแรงงานจำนวนมาก ชนชั้นกลางมีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามยังมีต้นทุนแรงงานต่ำ ประกอบกับการที่รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้เจรจาความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Apple, Samsung และ Nike ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ของโลก มีส่วนช่วยให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งตลาดหุ้นเวียดนามยังมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นโลกในระดับต่ำ ทำให้การลงทุนในพอร์ตของนักลงทุนมีความสมดุลมากขึ้น สามารถลงทุนระยะยาวได้

 

FED ลดอัตราดอกเบี้ย โอกาสลงทุนตราสารหนี้ 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มาที่ระดับ 4.75-5.00% เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งส่งผลดีต่อตราสารหนี้โดยตรง โดยเฉพาะตราสารหนี้ฝั่งประเทศเอเชีย เนื่องจากราคายังไม่แพง ต่างกับตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีการปรับราคาขึ้นรับข่าวการลดดอกเบี้ยไปล่วงหน้าแล้ว นอกจากนี้ยังมีกองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐานที่จะได้ประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน

 

ทั้งนี้ มี 3 กองทุนแนะนำ ที่น่าสนใจลงทุนในช่วงเวลานี้ ได้แก่

  • K-APB-A(A) เน้นลงทุนตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านกองทุน LO Funds – Asia Value Bond Fund, (USD), NA (กองทุนหลัก)
  • K-GINFRA-C(A) ลงทุนในหุ้น และ REITs ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เช่น คลังน้ำมัน เครือข่ายโทรคมนาคม ไฟฟ้า เป็นต้น
  • K-VIETNAM ลงทุนในหุ้นเวียดนามคุณภาพดี มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง
Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com