แบงก์เพอร์มาตา ในเครือธนาคารกรุงเทพ ชวนนักธุรกิจไทยรุกตลาดอินโดนีเซีย เชื่อเป็นโอกาสทองของธุรกิจที่ต้องการเติบโตสู่ระดับภูมิภาค พร้อมผนึกความร่วมมือธนาคารกรุงเทพในฐานะแบงก์แม่ เสริมแกร่ง ช่วยกันจับคู่ธุรกิจ ต่อยอดการลงทุนเพื่อลูกค้า เร่งพัฒนาบริการทางการเงินข้ามพรมแดน หวังช่วยอำนวยความสะดวกการค้าไม่สะดุด เล็งเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรระหว่างกัน เสริมจุดแข็งให้ทั้งสองแบงก์ ชี้เทรนด์ ESG มาแรงในอินโดนีเซีย หวังดึงจุดแข็งด้านการเงินสีเขียว ตอบโจทย์ความยั่งยืนสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2060
นางเมลิซา รุสลี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพอร์มาตา อินโดนีเซีย ในเครือธนาคารกรุงเทพ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นกลับมาเติบโตอีกครั้ง ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจในอาเซียนและประเทศไทยที่จะเริ่มเปิดตลาดเข้าสู่การค้าการลงทุนระหว่างประเทศไปยังประเทศอินโดนีเซีย โดยธนาคารเพอร์มาตา มีศักยภาพและความพร้อมสนับสนุนธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนบริการทางการเงินส่วนบุคคลให้กับนักลงทุนและพนักงานในบริษัทเหล่านั้นด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทุกธุรกรรมการเงินเป็นเรื่องง่าย พร้อมสาขาอีก 216 แห่งทั่วอินโดนีเซีย
ขณะเดียวกัน ธนาคารจะอาศัยจุดแข็งภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ (Cross-selling synergy) เพื่อสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจให้เกิดความร่วมมือกับพันธมิตรที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของลูกค้า และผลักดันให้กระบวนการค้าระหว่างประเทศภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลของสมาชิกอาเซียน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทั้งสองธนาคารอย่างเต็มที่ เสมือนเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่อยู่เคียงข้างและคอยสนับสนุนการเติบโตให้แก่ลูกค้า
“เรากำลังสื่อสารและทำความเข้าใจกับลูกค้าเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการมีกลยุทธ์การทำธุรกิจในระดับภูมิภาค หรือ Regionalization โดยเฉพาะการเริ่มต้นเปิดตลาดเข้าสู่ประเทศอินโดนีเซียที่มีศักยภาพการเติบโตในประเทศสูงมาก ในเวลาเดียวกัน ตอนนี้ธุรกิจในอินโดนีเซียเองก็ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อดึงดูดการลงทุนจากอาเซียนโดยเฉพาะไทยเช่นกัน เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจท้องถิ่นที่เริ่มปรับกลยุทธ์ไปสู่การเป็นธุรกิจในระดับภูมิภาคได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นประโยชน์ในระยะยาวได้มากกว่าธุรกิจที่ตัดสินใจช้า”
นางเมลิซา ยังกล่าวอีกว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารเพอร์มาตา และธนาคารกรุงเทพนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงมิติด้านการค้าและการลงทุนเท่านั้น หากแต่มีความร่วมมือกันทำงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR code cross-border payment และ บริการเทรดไฟแนนซ์ นอกจากนี้ ธนาคารเพอร์มาตายังทำงานร่วมกับลูกค้าของธนาคารกรุงเทพอีกด้วย โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับกลุ่มเดอะมอลล์ เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกบัตรเดรดิตของธนาคารเพอร์มาตาสำหรับการใช้จ่ายผ่านร้านค้าในเครือเดอะมอลล์ที่ประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในคู่ค้ารายสำคัญที่มีมูลค่าการลงทุนและการค้ากับอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรง (FDI) จากไทยไปอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2003 เป็น 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 และมูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้นจาก 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 1.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่ถือเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 2 ของอินโดนีเซีย เป็นรองเพียงจีน โดยมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 1.114 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึง 21% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในปี 2023
นางเมลิซา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันธุรกิจในอินโดนีเซียกำลังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ด้วยระบบนิเวศที่หลากหลายทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และประชากรที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยปกป้องอนาคตของคนรุ่นต่อไปปัจจัยดังกล่าว นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธนาคารเพอร์มาตาที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับบริการด้านการเงินสีเขียว (Green Financing) และการจัดหาเงินทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าองค์กรเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ การกำหนดและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) และการปรับปรุงรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้าน ESG ที่เข้มงวดมากขึ้น
“แม้ว่าอินโดนีเซียจะเริ่มต้นเดินทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว แต่เราก็ต้องเผชิญความท้าทายไม่น้อย ในฐานะประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงเป็นอันดับ4 ของโลก และภูมิภาคอาเซียนเองก็ต้องพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 80% สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะต้องช่วยกันเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างความสมดุลระหว่างพลังงานไฟฟ้าที่ราคาไม่แพงและเพียงพอสำหรับการใช้ในครัวเรือน อันเป็นปัจจัยที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นหนึ่งในเส้นทางที่จะสนับสนุนให้อินโดนีเซียเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2060”
นางเมลิซา กล่าวย้ำว่า อินโดนีเซียมีวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ที่จะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2045 ด้วยปัจจัยสนับสนุนมากมาย ทั้งโครงสร้างประชากรที่เอื้อต่อการเติบโต ชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว มีธุรกิจสตาร์ทอัปที่กำลังเติบโต และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนศักยภาพการเติบโตอีกมากมายในฝั่งธุรกิจดิจิทัล พลังงานหมุนเวียน สาธารณสุข ห่วงโซ่อุปทาน และการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่าง ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเป็นอีกหนึ่งการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลมาสู่อินโดนีเซีย
“เศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแข็งแรงและยืดหยุ่นมากตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ สิ่งนี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนว่าอินโดนีเซียสามารถเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ พร้อมรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและต่างประเทศ พัฒนาการของเศรษฐกิจเอเชียจะขยายกว้างขึ้นตั้งแต่จีนและญี่ปุ่นไปถึงสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ต่อไปด้วยศักยภาพการผลิตที่มีต้นทุนคุ้มค่า ค่าแรงที่เหมาะสมและตลาดที่เติบโตต่อเนื่องซึ่งปัจจัยต่างๆดังกล่าว ทำให้อินโดนีเซียมีความพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) อีกด้วย” นางเมลิซา กล่าว