นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยครึ่งปีแรกขยายตัว 1.9%YoY โดยการบริโภคในประเทศยังเป็นแรงหนุนหลัก รวมถึงปัจจัยจากภาคการท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่ต้นปีแตะที่ระดับ 20.6 ล้าน ถึงแม้ว่าการลงทุนในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐชะลอลง แต่ยังคงมีสัญญาณดีขึ้นจากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวขึ้น 3.4%YoY (ที่มา: รายงานประจำเดือนของ ธปท. ข้อมูล ณ วันที่ 30ส.ค. 2567) ส่งผลให้กองทุนสร้างผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงได้ประกาศจ่ายปันผลและจ่ายลดทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมจำนวนกว่า1,828 ล้านบาท พร้อมกัน 5 กองทุนในวันที่ 13ก.ย. 2567 และจ่ายไปแล้ว 1 กองทุนจากผลการดำเนินงาน ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 2567เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยแบ่งเป็นกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนประกาศจ่ายเงินปันผลในวันที่ 13 ก.ย.2567 นี้ พร้อมกัน ทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) ซึ่งลงทุนในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้า ในสัดส่วนร้อยละ 62% ของรายได้ค่าไฟฟ้าจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด กับ กฟผ. และภายในกลุ่มน้ำตาลครบุรี โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยใช้กากอ้อยซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงหลัก สัญญาเข้าลงทุนของกองทุนมีระยะเวลาถึงปี 2582 หรืออีกประมาณ 15 ปี จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีมุมมองการลงทุนระยะยาว มองหากระแสรายได้จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยกองทุนประกาศจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิและกำไรสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567 ในอัตรา 0.2350 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 16 นับแต่จัดตั้งกองทุน
ลำดับถัดมาคือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ที่ลงทุนในสิทธิในรายได้ 45% ของรายได้ค่าผ่านทางสุทธิ ที่จัดเก็บได้จากโครงการทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งบริหารโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สัญญาเข้าลงทุนของกองทุนมีระยะเวลาคงเหลือประมาณ 24 ปี (สิ้นสุดปี 2591) กองทุนนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีมุมมองการลงทุนระยะยาว มองหาทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานที่มีโอกาสสร้างรายได้ตามการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการทางพิเศษทั้งใน 2 เส้นทางนี้ และอัตราเงินเฟ้อ โดยกองทุนกำหนดจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567 ในอัตรา 0.1102 บาทต่อหน่วย เป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 23 นับแต่จัดตั้งกองทุนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) ซึ่งลงทุนในสิทธิในรายได้ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 โดยกองทุนกำหนดจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 34จากกำไรสุทธิและกำไรสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567 ในอัตรา 0.1056บาทต่อหน่วย และจ่ายลดทุนครั้งที่ 14 ในอัตรา0.1300 บาทต่อหน่วย รวมจ่ายปันผลและลดทุน จำนวน 0.2356 บาทต่อหน่วย
สำหรับกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 13 ก.ย. นี้ ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซี.พี. ทาวเวอร์ โกรท (CPTGF) ซึ่งมีรายได้จากการลงทุนในสิทธิการเช่าในที่ดิน, อาคาร และส่วนควบของอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าในอาคารย่านธุรกิจใจกลางเมือง 3 แห่ง ได้แก่ CP Tower 1 (สีลม) CP Tower 2 (รัชดาภิเษก) และ CP Tower 3 (พญาไท) ซึ่งกองทุนจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิและกำไรสะสมในอัตรา 0.1555 บาทต่อหน่วย และจ่ายลดทุน ในอัตรา 0.0175 บาทต่อหน่วย รวมเงินปันผลและลดทุน จำนวน 0.1730 บาทต่อหน่วย โดยการจ่ายเงินปันผลและเงินลดทุนครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 41 และ ครั้งที่ 17 ตามลำดับ และกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตลาดไท (TTLPF) ซึ่งลงทุนในสิทธิการเช่าของสิ่งปลูกสร้างบางส่วนในโครงการตลาดไท โดยกองทุนกำหนดจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานและกำไรสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567 ในอัตรา 0.5400 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 55 นับแต่จัดตั้งกองทุน
ก่อนหน้านี้ได้มีการจ่ายปันผลจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท (LPF) ที่มีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าโลตัส จำนวน 23 สาขา ซึ่งกองทุนได้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 2567 ในอัตรา 0.2155 บาทต่อหน่วย เป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 49 นับแต่จัดตั้งกองทุน โดยจ่ายให้ผู้ถือหน่วยแล้วเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา