NCP เดินหน้ามอบโอกาสให้กับผู้ต้องขังหญิง ในโครงการ “คืนคนดีสู่สังคมกับกรมราชทัณฑ์” ฝึกอาชีพ Telesales สร้างอาชีพหลังได้รับอิสรภาพ พร้อมเปิดบ้านรับสมัครผู้พ้นโทษเข้าทำงาน สร้างความเสมอภาคทางสังคม และเล็งขยายศูนย์ Telesales ภายในเรือนจำเพิ่มอีก 5 แห่งทั่วประเทศ เตรียมสร้างแรงงานผู้ต้องขังเข้าสู่ระบบการจ้างงาน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโตยั่งยืน
นายศรัณย์ เวชสุภาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไนซ์ คอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCP ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และให้บริการทำการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) ผ่านช่องทางการขายสินค้าทางโทรศัพท์ (Telesales) ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ความสวยความงาม และสินค้าเวชสำอางแบบครบวงจร ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (House Brand) และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คู่ค้าพันธมิตรผ่านช่องทางการขายของบริษัทมามากกว่า 10 ปี ด้วยพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์ (Telesales) “เปิดเผยถึงนโยบายในการจัดทำโครงการเพื่อสังคมของบริษัท ว่า NCP มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) และโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน”
โดยบริษัท ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในโครงการ “คืนคนดีสู่สังคมกับกรมราชทัณฑ์” โดยการฝึกอาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงานให้แก่ผู้ต้องขัง ประเภทการขายทางโทรศัพท์ (Telesales) ให้กับผู้ต้องขังหญิงที่มีความประพฤติดีทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางสมุทรปราการ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิงชลบุรี โดยบริษัทมีค่าตอบแทนในการทำงานของผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ต้องขังยังสามารถเป็นผู้ดูแลจุนเจือค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวได้แม้จะถูกคุมขังอยู่ก็ตาม รวมทั้งยังสะสมเป็นทุนเอาไว้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ถูกต้องหลังพ้นโทษอีกด้วย เพื่อจะไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำอีกเป็นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ Telesales ขึ้นภายในเรือนจำหรือทัณฑสถานทั้ง 3 แห่ง พร้อมติดตั้งงานระบบสื่อสาร ระบบโทรศัพท์ที่ป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ด้วยตนเอง อุปกรณ์สื่อสาร ซอฟต์แวร์สินค้าและบริการ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ พร้อมวางระบบมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจร และห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในสถานที่ปฏิบัติงาน ตลอดจนการปรับปรุงทัศนียภาพ และสร้างบรรยากาศการทำงานให้เสมือนออฟฟิศ
สำหรับผู้ต้องขังหญิงที่เข้าร่วมโครงการ “คืนคนดีสู่สังคมกับกรมราชทัณฑ์” จะได้เข้ารับการอบรมและฝึกทักษะการขายสำหรับ Telesales เทคนิคการปิดการขายที่มัดใจลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ข้อมูลสินค้าและบริการในกลุ่มผลิตภัณฑ์ House Brand และผลิตภัณฑ์คู่ค้าพันธมิตร ฝึกทักษะการสื่อสารจากสคริปต์ที่บริษัทกำหนด เทคนิคการพูดและการใช้น้ำเสียงในการสื่อสาร รวมถึงการใช้เทคโนโลยี และเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตามมาตรฐานสากล โดยในแต่ละวันผู้ต้องขังจะติดต่อลูกค้าเพื่อนำเสนอขายสินค้าหรือบริการผ่านทางโทรศัพท์ โดยมีเจ้าหน้าที่บริษัท เจ้าหน้าที่เรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงแต่ละแห่ง คอยดูแลการปฏิบัติงานของผู้ต้องขังอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ต้องขังทำหน้าที่เป็น Telesales ให้บริการลูกค้า จำนวน 170 คน
นายศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ผู้ต้องขังหญิงทั้งหมดล้วนมีศักยภาพในการทำงาน มีพัฒนาการ และความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานไม่ด้อยไปกว่าพนักงานที่อยู่ภายนอก โดยบริษัทเตรียมขยายโครงการไปยังเรือนจำหรือทัณฑสถานอื่นๆ เพื่อขยายโอกาสให้กับผู้ต้องขังได้ฝึกวิชาชีพ ส่งเสริมการมีงานทำ และมีพนักงานขายทางโทรศัพท์ (Telesales) เพิ่มขึ้นปีละ 100-150 ที่นั่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการและสำรวจพื้นที่เรือนจำแห่งใหม่อีก 5 แห่งทั่วประเทศ โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าผู้ต้องขังจะสามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้รับมาใช้ประกอบอาชีพภายหลังจากที่พ้นโทษ นับเป็นการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงานความต้องการของผู้ประกอบการ และป้องกันการขาดแคลนแรงงานในอนาคต นอกจากนี้ NCP ยังเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษเข้าทำงานกับบริษัทในตำแหน่ง Telesales เนื่องจากมีทักษะ ประสบการณ์ตรง และศักยภาพในการทำงาน เพื่อให้ผู้พ้นโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก
“โครงการ “คืนคนดีสู่สังคมกับกรมราชทัณฑ์” โดยการฝึกอาชีพและส่งเสริมทักษะการทำงานให้แก่ผู้ต้องขัง ประเภทการขายทางโทรศัพท์ (Telesales) ให้กับผู้ต้องขังหญิง ไม่เพียงเป็นโครงการ ที่ NCP มุ่งเสริมทักษะการ สร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับผู้กระทำผิด แต่ยังเป็น “พื้นที่สร้างโอกาส” ให้นับหนึ่ง เริ่มต้นชีวิตใหม่หลังได้รับอิสระภาพ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน” นายศรัณย์กล่าว