ความรู้ทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ทักษะด้านอื่น ๆ ซึ่งหากได้รับการปูพื้นฐานความรู้ที่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาลต่อตัวเด็กเองและสังคมอย่างยั่งยืน ทำให้ พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน องค์กรการกุศลของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล และ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จนนำมาสู่การริเริ่มโครงการ “ชะ-ชิ้ง” (Cha-Ching) ส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชนไทยนับ ตั้งแต่ปี 2554
คุณอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาองค์กร พรูเด็นเชียลประเทศไทย เล่าว่า “ ชะ-ชิ้ง (Cha-Ching) เป็นการ์ตูนให้ความรู้ทางการเงินผ่านตัวละครหลักทั้ง 6 ตัว โดยมีจุดเริ่มต้นจากพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญเรื่องความรู้ทางการเงิน หรือ Financial Literacy โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กช่วงวัย 6 – 12 ปี ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้ จึงได้สร้างการ์ตูน “ ชะ-ชิ้ง” ขึ้นมา โดยจับมือกับ Cartoon Network เพื่อเผยแพร่ในหลากหลายประเทศ และในประเทศไทยเรายังได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้เข้าถึงและถูกนำไปใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนแก่เด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเด็กที่ได้รับความรู้แล้วมากกว่า 100,000 คน ในโรงเรียนกว่า 9,000 แห่ง จนนำไปสู่การต่อยอดทั้งในรูปแบบเกมออนไลน์ และกิจกรรมเวิร์คชอปต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ “CHA-CHING MONEY ADVENTURE :ผจญภัยกับโลกการเงินกับชะชิ้ง” ซึ่งเนื้อหาของ Cha-Ching มี 4 แกนหลัก คือ 1. การหารายได้ (Earn) 2. การเก็บออม (Save) 3. การใช้จ่าย(Spend) และ 4. การบริจาค (Donate) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการวางรากฐานที่ดีให้กับเด็ก เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพและธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกัน”
ดร.อาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “Cha-Ching เป็นมากกว่าแค่การ์ตูนแต่เป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้ทางการเงินแก่เด็กทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ทางสพฐ. ได้ร่วมมือกับทาง พรูเด็นเชียลประเทศไทยในการผลักดันหลักสูตร Cha-Ching ให้น้อง ๆ ในพื้นที่ห่างไกลได้มีความรู้ทางการเงินที่เหมาะสม ผ่านการอบรมและพัฒนาความรู้ครูโดยสมัครใจในศูนย์อบรมพัฒนาครูกว่า 185 แห่งจากทั่วประเทศ ตลอดจนการวิเคราะห์ความเข้ากันได้ของเนื้อหาใน “ชะ-ชิ้ง” กับหลักสูตรขั้นพื้นฐานในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและลดภาระการสอนของครู”
ทางด้าน มล.ปริยาดา ดิศกุล กรรมการอำนวยการมูลนิธิจูเนียร์ อะชีพเม้น ประเทศไทยหรือ JA Thailand กล่าวว่า “พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน พรูเด็นเชียล ประเทศไทย และ JA ต่างมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นที่สอดคล้องกัน ในการสร้างศักยภาพให้แก่เยาวชนไทยผ่านเครื่องมือและทักษะสำคัญทางการเงินที่จำเป็นต่ออนาคต ซึ่งทางมูลนิธิฯ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและประสานงานส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติจริงในโรงเรียน เช่น การจัดพิมพ์หนังสือหรือสื่อการเรียนการสอน และเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันผลักดันหลักสูตรให้เข้าถึงเด็กไทยจำนวนมากทั่วประเทศ”
สำหรับกิจกรรม “CHA-CHING MONEY ADVENTURE :ผจญภัยกับโลกการเงินกับชะชิ้ง” ได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งผู้ปกครอง เด็กนักเรียน และคุณครูที่มาร่วมกิจกรรม โดยแต่ละฝ่ายต่างได้รับความรู้และประสบการณ์ดี ๆ มากมาย อาทิ
คุณแม่ธัญญรัตน์ ปราบปร์ และน้องธัญวรัคน์ ปราบปร์ เล่าว่า “เริ่มรู้จักกิจกรรมนี้จากการประชาสัมพันธ์ในฐานะพนักงานของ พรูเด็นเชียล ประเทศไทย ซึ่งส่วนตัวมองว่าความรู้ทางการเงินในการ์ตูน เป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย และสามารถนำไปใช้ได้จริงเหมาะกับเด็กยุคใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดประสบการณ์และใช้เวลาว่างของน้องให้เกิดประโยชน์ โดยหวังว่าน้องจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้เพื่อนๆในโรงเรียนและเด็กคนอื่น ๆ ต่อไป"
นายณัฐพล มะลิทอง คุณครูจากจากโรงเรียนพญาไท บอกว่า “จุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักโครงการ “ชะ-ชิ้ง” เกิดจากการสร้างเครือข่ายของโรงเรียนมัธยมสู่โรงเรียนประถมโดยโรงเรียนพญาไทเป็นโรงเรียนประถมที่ได้รับข้อมูลจากโรงเรียนมัธยมใกล้เคียง นำมาสู่การขยายผลส่งมอบความรู้ทางการเงินแก่นักเรียนผ่านการ์ตูน เกมออนไลน์ และการแนะนำให้ผู้ปกครองรู้จัก ซึ่งถือเป็นโครงการดี ๆ ที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้และการต่อยอดในกลุ่มสาระเศรษฐศาสตร์ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสนุกกับการเรียน ไม่น่าเบื่อ และเข้าใจง่าย”
ปิดท้ายด้วย ด.ญ.สายธาร ชุ่มชื่น นักเรียนจากโรงเรียนพญาไท ที่มาร่วมแบ่งปันว่า“ก่อนหน้านี้ครูที่โรงเรียนเคยเปิดการ์ตูน “ชะ-ชิ้ง” เพื่อสอนเรื่องการเงินให้ดู หลังจากนั้นจึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสนใจและการชักชวนจากครู ซึ่งภายในงานได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย เช่น ตู้กาชาปองแลกของรางวัล และเกม Cha-Ching ออนไลน์ ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริหารเงินและการออม โดยจะนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การทำบันทึกรายรับรายจ่าย”