Public Relation

ทิพยประกันภัย ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล คืนสมดุลให้สิ่งแวดล้อม
2 พ.ค. 2567

 

 

 

 

 

ทิพยประกันภัย ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล คืนสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 39

 

ผลการสำรวจล่าสุดจากหน่วยงานบริการด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ โคเปอร์นิคัส รายงานว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิโลกก็มีแนวโน้มที่จะทำลายสถิติใหม่ในทุกๆ เดือนนับจากนี้เป็นต้นไป โดยสาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากการบริโภค และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินตัวของมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทย และทั่วโลกในหลายมิติ ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมาย 

 

เมื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กลายเป็นวาระเร่งด่วนของคนไทยทั้งชาติที่ต้องดำเนินการทันที บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)  มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีเครือข่าย จึงได้จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 39 ขึ้น ภายใต้ธีม “ตามรอยเจ้าฟ้านักอนุรักษ์” เพื่อทำกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และเพื่อคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศชายทะเล อีกทั้งเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ  เนื่องในเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่พระองค์ได้ทรงวางรากฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในจังหวัดชลบุรีไว้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

 

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ประเทศไทยของเราถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์งดงามที่สุดในโลก การพัฒนาประเทศของเราจึงมีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับทรัพยากรเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อ   มที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ จึงไม่ได้มีประโยชน์เพียงด้านนันทนาการเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนการบำรุงรักษาเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคมของชาติด้วย เพราะหากเราขาดความเข้มแข็งทางสิ่งแวดล้อมแล้ว เราจะไม่สามารถพัฒนาประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนได้เลย การจัดกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการจุดประกายให้ผู้ที่เข้าร่วมได้พัฒนาจิตวิญญาณแห่งการอนุรักษ์ทะเล และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยและโลกใบนี้ จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

 

โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 39ได้พาคณะครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจลงพื้นที่ทำกิจกรรม ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จังหวัดชลบุรี สถานที่จัดตั้งขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หรือ NATURAL HISTORY MUSEUM อันเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเล โดยมีผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ร่วมให้ความรู้

 

หลังจากนั้น คณะฯ ได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมปลูกป่าโกงกางด้วยวิธีการใหม่ที่เรียกว่า “ท่อใยหิน” แบบยกพื้น ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการปลูกโกงกางในพื้นที่ที่มีคลื่นลมแรง ระดับน้ำทะเลสูง มีก้อนหินและโขดหินเป็นส่วนใหญ่ และมีธาตุอาหารน้อย เพราะจะทำให้โกงกางหยั่งรากได้ มีโอกาสในการรอด และเติบโตมากขึ้น การปลูกป่าโกงกางนี้มีความสำคัญเพราะจะช่วยเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืช และสัตว์ทะเล สร้างความสมดุลในระบบนิเวศ ช่วยบรรเทาปัญหากัดเซาะชายฝั่ง และยังเป็นแหล่งอาศัย แหล่งหากิน และแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเลนานาชนิดอีกด้วย

 

ในการนี้ คณะยังได้ร่วมกันปล่อยเต่าตนุกลับสู่ธรรมชาติ โดยเต่าทะเลเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศทางทะเล แต่ในปัจจุบันประชากรเต่าทะเลกำลังลดน้อยลงอย่างน่าวิตกจากการถูกคุกคามจากมนุษย์และปัญหาสิ่งแวดล้อม การปล่อยเต่าตนุกลับสู่ธรรมชาติจึงเป็นการช่วยเพิ่มประชากรของเต่าทะเลและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศไว้ อีกทั้งคณะฯ ยังได้ทำกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายหาดน้ำใส เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษทางทะเลจากขยะ และสร้างภูมิทัศน์ให้สะอาดสวยงามอีกด้วยและอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือกิจกรรมล่องเรือเยี่ยมชมธรรมชาติเกาะแสมสาร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 เกาะในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และครูอาจารย์ยังได้ทำกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง เพื่อศึกษาระบบนิเวศทางทะเลอย่างใกล้ชิด ซึ่งปะการังเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลและมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด

 

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องการทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลในการผสานการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องกระทำควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยแนวพระราชดำริอันทรงคุณค่านี้ ทิพยประกันภัย จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบสานมรดกล้ำค่าของแผ่นดินไทยต่อไป”

 

นอกจากนี้ ในโครงการยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมทั้งการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 

 

ทั้งนี้ ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรมการกุศล ได้แก่ การมอบหนังสือจากโครงการ “อ่านพลิกชีวิต” ของอมรินทร์กรุ๊ป พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับน้องๆ นักเรียนในจังหวัดชลบุรีอีกด้วย 

 

สำหรับโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ในครั้งต่อไป จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ขอเชิญชวนครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 25-26พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com