บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) MOU สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เดินหน้าโครงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจฐานนวัตกรรม เข้าถึงแหล่งทุน
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ เชื่อมโยงผู้ประกอบการSMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุน ภายใต้แนวคิด SMEs Gateway จึงได้วาง 3 บทบาทสำคัญคือ 1. การค้ำประกันสินเชื่อ SMEs 2. การให้คำปรึกษาทางการเงิน และ 3. การเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ ที่กำลังประสบปัญหาการชำระหนี้ ได้กลับมาแข็งแรง ความร่วมมือกับNIA ครั้งนี้ บสย. พร้อมมีส่วนร่วมสนับสนุน ผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Start-Ups และผู้ประกอบการในเครือข่ายของสมาพันธ์ SME ไทย ให้มีความรู้ทางด้านการเงิน การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีพื้นฐานทางการเงินที่ถูกต้องและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นโดยผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.
โครงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (innovation-driven enterprise: IDE) ด้วยการสร้างองค์ความรู้ด้านการเงิน การวางแผนธุรกิจ และการเข้าระบบบัญชีที่ถูกต้องรวมถึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่าง ๆ เติมเต็มระบบนิเวศของธุรกิจฐานนวัตกรรมของประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ที่มีนวัตกรรม ให้มีความแข็งแรงและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือNIA กล่าวว่า “NIA มีภารกิจและบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม รวมถึงยกระดับทักษะและความสามารถทางนวัตกรรมให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น(Start-Ups) ผ่านกลไกการให้ทุนและกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมการพัฒนาองค์ความรู้ (Groom) การให้ทุนสนับสนุน (Grant) และการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ (Growth) ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ และสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยขอบเขตความร่วมมือจะครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เปิดเวทีแสดงศักยภาพ การจัดอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำที่เกี่ยวกับการผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น”