“บมจ.สยามเทคนิคคอนกรีต หรือ STECH” เปิดศักราชปีมังกรทอง ฤกษ์ดีเดินเครื่องโรงงานผลิตลวดเหล็กที่จ.ชลบุรี ในนาม “สยามสตีลไวร์” เรียบร้อยแล้ว พร้อมเข้าสู่การสร้าง New S-Curve ในธุรกิจใหม่ ควบคู่การบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่โรงงานรับเทรนด์ ESG “ลวดรักษ์โลก” สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ดี ซีอีโอ ส่งสัญญาณผลประกอบการปี 2566 กำไรเติบโตแข็งแกร่ง มองปี 2567 ธุรกิจคอนกรีตอัดแรงดีมานด์พุ่ง รับเมกะโปรเจ็กต์เดินหน้า รัฐอัดฉีดงบประมาณ ดันโครงการใหม่ออกมาต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตุน Backlog อยู่ที่ 1,000 ลบ. คาดทยอยรับรู้ปีนี้ และอยู่ระหว่างลุยประมูลงานใหม่มูลค่ากว่า 1,400 ลบ.
นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า เริ่มต้นศักราชปีมังกรทอง โรงงานผลิตลวดเหล็ก ที่จังหวัดชลบุรี ได้ฤกษ์ดีเดินเครื่องการผลิตเชิงพานิชย์แล้ว โดยมีขนาดกำลังการผลิตที่ 2,000 ตันต่อเดือน ตั้งอยู่บนพื้นที่เดียวกันกับโรงงานคอนกรีตแห่งที่ 10 คาดว่าสร้างรายได้ที่ประมาณ 50-60 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี
โดยเครื่องจักรที่ติดตั้งโรงงานผลิตลวดเหล็ก เป็นเครื่องจักรที่มีความทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ซึ่งโดยปกติโรงงานผลิตลวดเหล็กโดยทั่วไปจะใช้น้ำกรดที่มีความเข้มข้นสูงในการทำความสะอาดลวด แต่โรงงานผลิตลวดเหล็กของ STECH จะไม่ใช้ระบบน้ำกรด แต่จะใช้วิธีการดัดลวดแล้วใช้กระดาษทรายทำความสะอาด ซึ่งเป็น โรงงานลวดเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ธีม “ลวดรักษ์โลก”
“โรงงานลวดที่กดปุ่มเดินเครื่องเรียบร้อยแล้ว ใช้รองรับสินค้าใหม่ในการพัฒนาโครงการของบริษัท ราว 30% และที่เหลือดำเนินการขายให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่ง มองว่า ธุรกิจใหม่จะสนับสนุน STECH เข้าสู่การสร้าง New S-Curve และการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าลวดนับเป็นประมาณ 20-30% ของต้นทุนการผลิต และจะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สร้างฐานกำไรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายวัฒน์ชัย กล่าว
สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ที่ผ่านมา สัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 3/2566 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งจะทำให้งานโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศออกมามากขึ้น ส่งผลดีกับ STECH ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่จำเป็นสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง สนับสนุนผลงานทั้งปีเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
โดยในปี 2566 บริษัทเชื่อว่า กำไรเติบโตขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีการควบคุมต้นทุนที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายโรงงานคอนกรีตแห่งที่ 10 มีกำลังการผลิตที่ประมาณ 30,000-40,000 คิวต่อปี สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 20-30% ของกำลังการผลิตรวม โดยมีการรับรู้รายได้จากการขยายงานในส่วนดังกล่าวเต็มปีในปี 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567 นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการติดตามงานที่ได้ยื่นประมูลไปแล้ว มูลค่ารวมประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโอกาสได้รับงานไม่ต่ำกว่า 50% ของการยื่นประมูล