Public Relation

กรุงศรี ชูสินเชื่อเพื่อสนับสนุน SME เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ‘ดอกเบี้ยพิเศษ 3.5% 2 ปีแรก วงเงินสูงสุด100%’
9 ส.ค. 2567

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการนำพาภาคการเงินสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยได้ออกผลิตภัณฑ์ “Krungsri SME Transition Loan” สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในรูปแบบของวงเงินสินเชื่อระยะยาวสูงสุด 10 ปี ดอกเบี้ยพิเศษ 3.5% ในช่วง 2 ปีแรก ให้วงเงินสูงสุด 100% ของมูลค่าโครงการ ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับSME ที่ต้องการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งการบำบัดและกำจัดขยะมูลฝอยจากการดำเนินงาน

 

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระที่สำคัญและเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น กรุงศรีตระหนักถึงความจำเป็นโดยเร่งด่วนและมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมาตลอด โดยมีพันธกิจสำคัญที่ต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน มุ่งสู่การเป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ กรุงศรี และMUFG ได้เดินหน้าตามพันธกิจดังกล่าวด้วยเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 และจากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 โดยในช่วงระหว่างปี 2564-2566 กรุงศรีได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 71,000 ล้านบาท ด้วยการผสานความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายที่แข็งแกร่งระดับโลกของMUFG กับความเชี่ยวชาญของกรุงศรี ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ ที่นำเสนอนั้นถูกต้องตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล ทำได้จริงและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการและเงื่อนไขของประเทศ”

 

“บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน กรุงศรีพร้อมเคียงข้างลูกค้าทั้งในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน ประกอบกับการให้ความรู้ แนะนำแนวทางในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องการผลักดันภาคการเงินให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

 

“ด้วยความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการSME ในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน กรุงศรีจึงได้เปิดตัว Krungsri SME Transition Loanออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้ SME สามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสู่เส้นทางของความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยเสนอวงเงินสินเชื่อที่สูงและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ช่วยลดมลพิษและนำโซลูชันพลังงานสะอาดมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถที่จะรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายยามาโตะ กล่าว

                              

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ Krungsri SME Transition Loan ออกแบบมาเพื่อผู้ประกอบการ SME ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการที่ต้องการปรับปรุงหรือลงทุนในกิจการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หรือต้องการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการปล่อยของเสียหรือก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการบำบัดและกำจัดขยะมูลฝอยจากการดำเนินการ อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์ EV Charger การซื้อ สร้าง หรือ ปรับปรุงโรงงาน เพื่อประหยัดพลังงาน การลงทุนบ่อบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการลงทุนด้านนวัตกรรมการบริหารการจัดการขยะหมุนเวียนเพื่อบำบัดและกำจัดขยะมูลฝอยจากการดำเนินงาน”

 

“ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจของกรุงศรีในการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กรุงศรีได้วางเป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อในกลุ่มส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainable Finance) สำหรับผู้ประกอบการ SME รวมกว่า 4,500 ล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งนอกเหนือการสนับสนุนทางการเงินแล้ว กรุงศรียังให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำผ่านการจัดงานสัมมนาและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ Krungsri Business Talk, Krungsri Business Forum, Krungsri ESG Symposium, Krungsri ESG Academy  และ Krungsri ESG Awards นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านเครือข่าย Krungsri ESG Ecosystem อาทิเช่น สิทธิพิเศษจากพันธมิตรในการใช้บริการด้านแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการคำนวนและรายงานปริมาณการปล่อยปริมาณคาร์บอน เพื่อร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อน SME ไทยสู่การเป็นธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย" นางสาวดวงกมล กล่าวปิดท้าย

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com