ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยังคงดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกราย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้ ผ่าน“มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” นาน 1 ปี โดยตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนเข้ามาตรการแล้วทั้งสิ้น 8,236 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 9,644 ล้านบาท พร้อมติดตามสถานการณ์ลูกค้าทุกรายและช่วยเหลือทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด และเปิดโอกาสให้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ เพื่อให้ลูกค้ายังคงรักษาบ้านไว้ได้ต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ ผ่าน Application : GHB ALL BFRIEND และสาขาทั่วประเทศ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่าธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังคงเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ในการบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) และลูกค้าสถานะ NPL ให้ได้รับความช่วยเหลือนาน 1 ปี ผ่าน “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี2567” โดยหลังจากเปิดให้ลูกค้า ธอส. ที่อยู่ในกลุ่ม SM จำนวน 176,007 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 130,765 ล้านบาท ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่2 มกราคม 2567 ถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 มีลูกค้าลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 8,236 บัญชี คิดเป็นวงเงินต้นคงเหลือ 9,644 ล้านบาท
โดยขณะนี้ได้เข้าร่วมมาตรการแล้ว 6,789 บัญชี คิดเป็น 82.43% และคิดเป็นเงินต้นคงเหลือจำนวน 8,113.87 ล้านบาท คิดเป็น 84.13% ของลูกค้าที่ลงทะเบียนเข้ามา โดยธอส. ยังคงเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND โดยลูกค้าจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันการได้รับผลกระทบด้านรายได้เพื่อให้ธนาคารพิจารณา ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สาขาทั่วประเทศทั้งนี้ ลูกค้าที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ ธอส. จะมี SMS แจ้งเตือน เพื่อให้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวต่อไป
“ธอส. มีลูกค้าทั้งหมด 1.8 ล้านบัญชี คิดเป็นจำนวนสินเชื่อคงค้าง 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งได้มีการติดตามสถานการณ์การผ่อนชำระเงินงวดของลูกค้าและช่วยเหลือทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด ด้วยการแจ้งเตือนลูกค้าให้ชำระเงินงวดสม่ำเสมอ รวมถึงให้คำแนะนำและเสนอแนวทางช่วยเหลือกรณีลูกค้าประสบปัญหาไม่สามารถชำระเงินงวดได้ตามปกติ พร้อมลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาทางการเงินกับลูกค้าทุกราย หากลูกค้ารายใดมีความกังวลถึงสถานการณ์การผ่อนชำระเงินงวดของตนเอง ธอส.จะจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกสถานะทั้งก่อนและหลังดำเนินคดี โดยมีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารหนี้ติดต่อลูกค้าเพื่อให้คำแนะนำมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่ G H Bank Call Center หรือ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อเจรจาลดเงินงวดผ่อนชำระให้สอดคล้องกับรายได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ายังคงรักษาบ้านของตนเองไว้ได้ต่อไป” นายกมลภพ กล่าว
สำหรับ “มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ปี 2567” ประกอบด้วย
1. มาตรการภาคครัวเรือน “HD1” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1-3จำนวน 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย0% ต่อปี, เดือนที่ 4-6 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90 % +100 บาทและเดือนที่ 7-12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 3.90 % +100 บาท กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)
2. มาตรการภาคครัวเรือน “HD2” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 3 คำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90% +100 บาท, เดือนที่ 4 - 6 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 3.90 % +100 บาท และเดือนที่ 7 - 12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2% +100 บาท (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. เท่ากับ 6.90% ต่อปี) กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)
3. มาตรการภาคครัวเรือน “HD3” สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ผ่อนชำระเงินงวดเดือนที่ 1 - 4 จำนวน 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี, เดือนที่ 5-8 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 1.90 % +100 บาท และเดือนที่ 9 - 12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% +100 บาท กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี) ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ